วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

"ภาพ"เชียงตุง













วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๕ ผมกับนางแบบมือสมัครเล่นออกจากกรุงเทพมหานครฯ ด้วยรถทัวร์ของบริษัทสมบัติทัวร์เที่ยวเวลา ๑๙.๐๐ น. เพื่อไปยังชายแดนประเทศไทยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

................................................................ 


 
 วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๕ ผมลงรถที่สถานีขนส่งแม่สาย ตอนเวลาประมาณ ๐๕.๔๕ น. ท้องฟ้ายังมืดอยู่และอากาศก็ค่อนข้างหนาวเย็น เราใช้เวลาจัดเตรียมสัมภาระและล้างหน้าแปรงฟันกันในสถานีขนส่งอยู่ประมาณ ๓๐ นาที เมื่อพร้อมแล้วเราก็เรียกวินมอเตอร์ไซค์คนละคัน ให้ไปส่งที่ที่ว่าการอำเภอแม่สายเพื่อขอหนังสือผ่านแดนชั่วคราว ที่นั่นเราแค่ยื่นบัตรประชาชนกับเงินอีก ๓๐ บาท ใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ นาที เราก็พร้อมสำหรับการขอผ่านแดนออกจากประเทศไทย 


เรามาถึงจุดผ่านแดนโดยรถโดยสารประจำทางในราคาคนละ ๑๕ บาท แวะซื้อของใช้เล็กๆน้อยๆและนั่งกินไก่ทอดหาดใหญ่ที่ซื้อจากรถเข็นข้างทางเป็นอาหารเช้า เสร็จแล้วก็เดินไปยังจุดผ่านแดนทางฝั่งไทย แค่ยื่นหนังสือผ่านแดนชั่วคราวเพื่อขอประทับตรา แล้วเราก็เก็บมันไว้ให้ดีรอยื่นตอนขากลับ เพียงเท่านี้ก็เสร็จขั้นตอนการขอผ่านแดนจากฝั่งไทย ผมเดินข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแล้วเปลี่ยนช่องทางเดินไปชิดขวา เข้าสู่ด่านท่าขี้เหล็กประเทศพม่า ถึงที่นั่นพอบอกว่าเราจะไปเชียงตุง เจ้าหน้าที่ก็ชี้ให้ไปยังห้องทัวลิสต์อินฟอร์เมชั่น  ห้องทัวร์ลิสต์อินฟอร์เมชั่นเป็นห้องแคบๆ มีเจ้าหน้าที่หญิงอยู่หนึ่งคนกับไกด์ผู้หญิงที่กำลังหม่ำข้าวอีกหนึ่งคน เจ้าหน้าที่พูดไทยไม่ค่อยได้แต่เราได้พี่ไกด์ท่าทางใจดีช่วยแปล ตกลงกันว่าเราต้องจ้างไกด์ไปเชียงตุง-เมืองลา วันละ  ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายของรัฐบาลทหารพม่าที่ควบคุมอยู่ และเสียเงินค่าผ่านแดนคนละ ๕๐๐ บาทกับรูปถ่ายสามใบ  แต่ถ้าจ่ายด้วยเงินดอลลาร์จะเหลือแค่ราคา ๑๐ ดอลลาร์ กับอีก ๗๐ บาท  ระหว่างที่เจ้าหน้าที่โทรเรียกไกด์พวกผมจึงถือโอกาสถามข้อมูลการเดินทางจากไกด์ที่อยู่กับเราตรงนั้น ที่จริงเราอยากจะจ้างพี่สาวชาวไทใหญ่คนนี้เป็นไกด์อยู่เหมือนกัน แต่พี่เขามีลูกทัวร์รออยู่แล้วและกำลังเตรียมตัวจะออกไปพบลูกทัวร์ให้ทันเวลา ระหว่างนั้นก็มีคนไทยสองคนจะเดินทางไปเชียงตุงเช่นกันเดินเข้ามา เราเลยได้พูดคุยกันคร่าวๆเกี่ยวกับการเดินทาง เขาเลือกที่จะจ้างแทคซี่จากที่นี่ไปเชียงตุงเลย ซึ่งต้องจ่ายถึง ๓,๐๐๐ บาท แต่ผมอยากจะปรึกษาไกด์ก่อนเพราะนั่นดูจะโหดร้ายกับเราเกินไป ไกด์ของเรามาถึงหลังจากนั้นไม่นาน เธอเป็นไกด์สาวอายุ ๒๓ ปี ชื่อจั๋นนวน หรือจันทร์นวล ในสำเนียงบ้านเรา

เราไปนั่งคุยกับไกด์ที่ร้านอาหารธรรมดาๆไม่ไกลจากจุดผ่านแดน ไกด์ของเราแนะนำว่าให้เราขึ้นรถทัวร์ไปก็ได้ คนต่างชาติคนละ ๔๐๐ บาท ส่วนคนที่นี่คนละ ๒๐๐ บาท ซึ่งเราต้องจ่ายค่ารถให้ไกด์ด้วย นอกเหนือไปจากค่าจ้างวันละหนึ่งพันบาทและค่าที่พักในแต่ละวัน ไกด์ของเราเป็นชาวไทใหญ่ พูดไทยสำเนียงชัดเจนแต่รูปประโยคกับคำบางคำอาจจะทำให้การสื่อสารคลาดเคลื่อนไปได้นิดหน่อย เธอบอกให้เราเรียกชื่อเล่นว่า “เมย์” เมื่อตกลงกันพอเข้าใจผมจึงจ่ายเงินให้เธอ ๔,๐๐๐ บาท ตามแผนการเดินทางแผนแรกที่วางไว้คร่าวๆว่าจะอยู่เที่ยวที่นี่ ๔ วัน รวมวันนี้ด้วย
น้องเมย์เดินไปเรียกรถสามล้อรับจ้างให้เรา เมื่อรถมาถึงผมก็ตะหงิดๆใจอยู่ว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ เพราะไม่ได้ตกลงราคากันก่อน ปรากฏว่าพอมาถึงท่ารถทัวร์ซึ่งอยู่ห่างจากจุดผ่านแดนมาประมาณ ๒-๓กิโลเมตร ผมต้องจ่ายถึง ๒๐๐ บาท 
รถทัวร์ที่นี่มีการจัดการค่อนข้างดี เมื่อจ่ายเงินให้น้องเมย์แล้วน้องก็ไปจัดการเรื่องตั๋วและที่นั่งให้เรา ไม่นานเราก็ได้ขึ้นรถตอน ๑๐.๓๐ น. ตรงตามตารางเดินรถพอดี คนรถจัดการติดแท็คไว้กับสัมภาระของเราด้วย ก่อนจะยัดเข้าไปในช่องเก็บสัมภาระใต้ท้องรถพร้อมกับข้าวของของชาวบ้าน รถทัวร์ก็สภาพดีใช้ได้ เดิมคงจะเป็นรถประจำทางที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น เพราะที่ข้างรถมีตัวคะตะคานะกับภาษาอังกฤษเขียนไว้ว่า อิวามิทัวร์

ตั้งแต่ข้ามแดนมาที่นี่ผมยังไม่ค่อยรู้สึกถึงอะไรที่แตกต่างไปจากบ้านเรานัก นอกจากรถที่วิ่งช่องทางขวากับฝุ่นที่ฟุ้งสักหน่อย และก็ป้ายตามร้านค้าข้างทางที่เขียนเป็นภาษาที่เราไม่เข้าใจ ก่อนออกจากท่าขี้เหล็กเราย้ายที่นั่งจากเบาะช่วงท้ายๆรถมาช่วงกลางๆรถ และผ่านด่านตรวจแห่งหนึ่งแต่เราไม่ต้องทำอะไร เพราะน้องเมย์แจ้งคนรถไว้แล้วว่ามี “ทัวริสต์” มาด้วยสองคน ตลอดทางจึงไม่มีใครมาวุ่นวายอะไรกับเราเลย
เมื่อผ่านด่านตรวจที่ท่าขี้เหล็กมาแล้ว ผมก็เริ่มสัมผัสได้ถึงความแตกต่างไปจากสภาพบ้านเมืองที่คุ้นเคย เช่น บ้านเรือนที่ฝาทำด้วยไม้ไผ่สาน และหลังคามุงด้วยหญ้าคา ซึ่งยังพอมีให้เห็นสลับกับบ้านเรือนใหม่ๆที่ปลูกอย่างบ้านปูนในเมืองไทย วัดก็ดูแปลกตาอยู่บ้างอย่างอาคารหลักของวัดซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นโบสถ์หรือวิหารนั้นจะมุงกระเบื้องลอนสีแดง ดูเป็นของใหม่ที่สร้างขึ้นง่ายๆ เหมือนบ้านคอนกรีตของคนทั่วไป แต่ที่กลางสันหลังคานิยมติดยอดแหลมๆลักษณะคล้ายฉัตรหรือยอดปราสาทแบบพม่า ซึ่งบุด้วยโลหะสีเงินฉลุเป็นลาย สภาพภูมิประเทศข้างทางเป็นที่ราบเชิงเขาใช้ทำนา หมู่บ้านอยู่เกาะกลุ่มกันเป็นช่วงๆตามเส้นทางที่เราผ่าน ผมนั่งดูวิวข้างทางต่อไปไม่นานนักก็งีบหลับไปจนตื่นมาแถวท่าลี่ ที่รู้ได้ก็เพราะน้องเมย์ที่นั่งอยู่เบาะหน้าหันมาบอกผมว่า เมืองนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวสร้างความเสียหายยับเยิน บ้านเรือนที่เห็นก็เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ ผมหลับๆตื่นๆต่อไประหว่างที่บนรถเปิดเพลงเกือบร่วมสมัยเป็นภาษาไทยใหญ่สลับกับเพลงภาษาพม่า ผมเริ่มสังเกตได้ว่าภาษาไทใหญ่นั้นมีหลายคำเหมือนภาษาไทย ผมมาตื่นจริงๆเอาอีกทีก็ตอนที่น้องเมย์ชี้ให้ดูถนนดินลูกรังเป็นทางแยกไปเมืองยอง ผมเคยเปรยๆไว้ว่าอยากไปแต่เสียดายที่สำหรับคนนอกรัฐบาลเขายังไม่อนุญาต หลังจากนั้นก็เข้าสู่เมืองพยากและจอดแวะที่นี่เพื่อพักรถ 



เมืองพยากมีแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่านชื่ออะไรผมก็ลืมถาม เมื่อข้ามแม่น้ำมาก็จะเห็นบ้านเรือนที่ปลูกเรียงไปตามสองข้างทาง มองผ่านบ้านเรือนออกไป ด้านซ้ายมือจะเป็นที่ราบสำหรับทำนา ขวามือก็เป็นเนินเขา สภาพเช่นนี้ทำให้ผมนึกถึงอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองมีที่ราบแคบๆระหว่างหุบเขาและมีลำน้ำไหลผ่าน ผมสังเกตเห็นว่าชาวบ้านจะเว้นที่ราบริมน้ำเช่นนี้ไว้สำหรับเพาะปลูก ส่วนหมู่บ้านนั้นจะตั้งอยู่ตามเนินเขา เข้าใจว่าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอุทกภัยด้วยอย่างหนึ่ง จุดแวะพักรถเมืองพยากจะมีบ่อน้ำเป็นวงปูนสูงขึ้นมาประมาณเมตรกว่าๆตั้งอยู่กลางลาน น้ำในบ่อจะถูกใช้เติมหม้อน้ำรถยนต์ หรือราดเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ น้องเมย์บอกว่าคนที่นี่ก็ใช้รถมอเตอร์ไซค์วิ่งไปกลับระหว่างเชียงตุงถึงท่าขี้เหล็กด้วย รอบๆของจุดพักรถมีร้านค้าขายอาหารและเครื่องดื่ม ด้านหลังมีห้องน้ำ ผมสังเกตเห็นท่อพีวีซีส่งน้ำลงมาจากบนเขาแบบไม่ต้องมีก๊อกปิด น้ำไหลออกจากท่อแรงดีใช้ได้ทีเดียว ผมลงมาถามน้องเมย์ได้ความว่าที่นี่ไม่มีน้ำประปา น้ำที่เห็นจะทดแล้วต่อท่อส่งลงมาจากบนดอย พวกเรากินก๋วยเตี๋ยวที่เส้นคล้ายๆเส้นผัดไท ราคา ๒๕บาทต่อชาม เรียกว่าคงได้กำไรมากเพราะมีแค่เส้นกับผักและก็เศษไก่นิดหน่อย

รถออกจากเมืองพยากไปตามถนนที่ตัดลัดเลาะไปตามไหล่เขา ขนาบไปกับลำน้ำสายหนึ่งที่ไหลลงไปทางเมืองพยาก ทำให้เราได้พบเห็นสภาพทิวทัศน์ที่สวยงาม แต่เสียดายฝั่งที่เห็นวิวนี้แดดยามบ่ายส่องเข้ามา ทำให้ผมต้องปิดม่านเพราะกลัวคนอื่นเขาจะร้อน ระหว่างนี้รถเปิดหนังจีนพากษ์ไทย เป็นหนังเก่าสมัยเฉินหลงหนุ่มๆ ผมงีบหลับไปจนแสงแดดเหมือนจะอ่อนลงหน่อย ผมจึงเปิดม่านออกดูวิวข้างทาง เห็นภาพลำน้ำสายเล็กๆไหลคดเคี้ยวไปตามเชิงเขาขนาบด้วยนาที่ปลูกเป็นขั้นบันได ภูเขาลูกหนึ่งโค้งมนสวยงามเหมือนลูกระฆัง ที่ตีนเขาเป็นนาขั้นบันไดลดหลั่นเป็นชั้นๆราวกับมาลัยเถาของเจดีย์ทรงลังกา เมื่อเข้าเขตหมู่บ้านก็เห็นบ้านเรือนปลูกด้วยไม้ยกใต้ถุนสูง หลังคามุงกระเบื้องดินขอมียกหลังคาซ้อนเล็กๆน่าจะเอาไว้ระบายควันไฟจากการหุงหาอาหาร ฝาทำด้วยไม้เป็นแผ่นๆส่วนมากตีแนวตั้ง เห็นเรือนหลังหนึ่งตีฝาดูน่าสนใจแต่รถวิ่งเร็วเหลือเกิน วัดซ่อมใหม่จนดูเป็นบ้านปูนสมัยใหม่มากกว่าในหมู่บ้าน มุงกระเบื้องลอนสีแดงอย่างที่เคยอธิบายไปแล้ว 

รถจอดแวะพักที่ดอยปางคอย ที่นี่มีด่านตรวจและร้านขายของข้างทาง สภาพเป็นร้านขายของฝากจำพวก ผัก ผลไม้ เป็นต้น น้องเมย์หันมาบอกว่า ลงจากดอยนี้ไปเราก็จะถึงเมืองเชียงตุงแล้ว

หลังจากที่เรานั่งรถมากว่าห้าชั่วโมงกับระยะทางประมาณ ๑๕๐กิโลเมตร ผมก็เห็นต้นยางใหญ่ ไม้หมายเมืองของเชียงตุงโดดเด่นอยู่บนเนินเขาลูกหนึ่งซึ่งน้องเมย์บอกว่าเป็นเขตทหาร ส่วนอีกด้านก็เป็นเนินเขาที่มีทางไปสนามกอล์ฟ บ้านเรือนในเมืองเชียงตุงหลายหลังมุงกระเบื้องดินขอ เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวบ้าง บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนสองชั้นบ้าง และอาคารพาณิชย์แบบในเมืองไทยก็มีให้เห็น แสงแดดอ่อนๆที่ฉาบทาบ้านเรือนที่ปลูกเรียงกันไปตามเนินเขา เป็นภาพอันสวยงามที่ต้อนรับเราก่อนจะได้ก้าวลงไปเหยียบเมืองเชียงตุงในวันนี้
ระหว่างที่ผมกำลังไปเอาสัมภาระที่เขากำลังทยอยขนลงมาให้ น้องเมย์ก็ไปเรียกรถแดงเพื่อจะพาเราไปส่งที่พัก น้องเมย์แวะไปยื่นเอกสารที่ต.ม.ที่อยู่ห่างจากท่ารถไปไม่ไกล แล้วเราก็มุ่งไปยังเฮนรี่เกสต์เฮาส์ ระหว่างทางผมสังเกตดูบ้านเรือนสองข้างทางไปจนกระทั่งรถขึ้นเนินแล้วเลี้ยวขวาไปผ่านวงเวียน น้องเมย์ชี้ให้ดูโรงแรมนิวเชียงตุงที่อยากจะให้เรามาพัก แต่ผมรู้มาก่อนแล้วว่าที่นี่เดิมเป็นที่ตั้งของหอหลวงหรือวังของเจ้าฟ้าเชียงตุง ก่อนจะถูกรื้อลงและสร้างเป็นโรงแรมที่ดูจะดีที่สุดในเชียงตุงตอนนี้ รถแล่นผ่านแนวกำแพงเมืองด้านเหนือ สักพักเราก็มาถึงเฮนรี่เกสต์เฮาส์ที่มักจะมีคณะทัวร์ไทยมาพักเสมอ ผมจ่ายค่ารถไปในราคา ๑๒๐ บาทกับระยะทางที่ไม่น่าจะเกิน ๒กิโลเมตร คุณป้าเจ้าของที่นี่บอกให้เราไปดูห้องก่อน ถ้าไม่พอใจก็ไม่เป็นไรเพราะห้องไม่ค่อยดีนัก เราจำเป็นต้องเลือกระหว่างห้องพักในบ้านปูนเย็นๆ มีสองเตียงนอนแต่แคบ กับบ้านหลังเดี่ยวที่มีเตียงใหญ่เตียงนึงและเตียงเล็กเตียงนึง เราตกลงว่าจะพักที่บ้านเดี่ยวเพราะไกด์จะได้นอนห้องเดียวกับเราไปเลยไม่ต้องเสียค่าห้องเพิ่ม ห้องนี้ดูเก่าๆพังๆไปนิดแต่ก็ไม่แย่อะไรนัก แค่ประตูห้องน้ำล็อคไม่ได้ ลูกบิดที่ประตูหน้าเสีย ไฟห้องน้ำไม่ติด แต่ยังดีที่มีเครื่องทำน้ำอุ่น น้องเมย์ขอตัวกลับไปที่บ้านเพื่อทำธุระส่วนตัว ผมนัดให้น้องกลับมารับเราไปกินข้าวตอนห้าโมงครึ่ง

ที่นี่เวลาท้องถิ่นจะช้ากว่าที่ประเทศไทยครึ่งชั่วโมง คงนับตามเวลาที่เมืองหลวงของพม่า แต่ผมยึดเวลาไทยเป็นหลักเพราะช่วงวันของที่นี่ตรงกับประเทศไทยมากกว่า น้องเมย์บอกว่าคนที่นี่เข้าใจถ้าเพียงแต่เราต้องบอกเขาให้ชัดเจนว่าเป็นเวลาไทยหรือเวลาพม่า เราอ้อยอิ่งกันนิดหน่อยกว่าจะได้ออกไปกินข้าว คุณป้าเจ้าของเกสต์เฮาส์บอกว่าจะซ่อมประตูที่เสียให้ระหว่างที่เราไม่อยู่ น้องเมย์พาเราเดินกลับเข้าไปในเมืองระหว่างนั้นฟ้าก็เริ่มมืดลง เมื่อผ่านแนวกำแพงเมืองเก่าเข้ามาเราเลี้ยวขวาแล้วเดินขึ้นเนินไปหน่อยแล้วก็ลงเนินอีกที ก็มาถึงริมหนองตุงทางด้านเหนือ ซึ่งมองเห็นเนินเขาพระธาตุจอมคำทางด้านซ้าย และเนินเขาพระชี้นิ้วอยู่ทางอีกฟากของหนองน้ำค่อนไปทางทิศใต้ ทั้งหมดนี้อยู่ในอาณาเขตกำแพงเมืองเชียงตุงมาแต่เดิม น้องเมย์พาเราเดินไปร้านอาหารฝั่งตีนเขาพระธาตุจอมคำ ที่ริมหนองตุงมีรั้วรอบตลอดและมีถนนตัดรอบหนองน้ำขนาดใหญ่นี้ น้องเมย์บอกว่าชาวบ้านไม่สามารถลงไปจับปลาในหนองน้ำนี้ได้ มีเพียงบ้านเดียวที่สามารถจะจับปลาในหนองตุงนี้ได้เพราะถือว่ามีสิทธิ์เป็นเจ้าของหนองน้ำแห่งนี้ ข้อมูลที่น้องเมย์เล่าอาจจะเป็นไปได้ เพราะผมเห็นมีเรือที่ต่อด้วยไม้ไผ่ยาวๆเพียงลำเดียวที่ลอยลำหาปลาอยู่ในหนอง แต่ผมก็ไม่ได้ถามให้ลึกลงไปกว่านั้น เพราะน้องดูจะอธิบายให้เราฟังได้ไม่ถนัดนัก 

อาหารมื้อค่ำในร้านปูนทาสีชมพูไม่ค่อยถูกปากเรานัก ไม่แน่ใจว่าเพราะรสชาติที่อ่อนเกินไปหรือว่ากับข้าวร้านนี้ไม่อร่อย แต่น้องเมย์บอกกับเราว่าร้านนี้เป็นที่นิยม ผมคุยกับน้องเมย์เรื่องทั่วๆไป อย่างเช่นทำไมต้องนุ่งซิ่นอยู่ตลอด น้องอธิบายว่าเป็นกฏสำหรับไกด์ตอนไปติดต่อสถานที่ราชการ แล้วก็เรื่องการใช้ไฟฟ้าในเมืองเชียงตุงที่มีจำกัด เพราะเวลาเรามองไปรอบๆจะเห็นว่าบ้านเรือนส่วนใหญ่รวมถึงถนนหนทางดูมืดๆ มีเพียงไม่กี่ที่ที่มีไฟส่องสว่าง น้องเมย์บอกว่าที่นี่ไฟฟ้าจะจ่ายเวียนกันไปเป็นย่านๆ แต่บางบ้านก็จะมีเครื่องปั่นไฟใช้เอง หลังจากมื้อค่ำเราจึงพากันเดินเลาะข้างถนนริมหนองตุงเพื่อไปยังย่านของกินกลางคืน น้องเมย์เอาไฟฉายที่พกมาด้วยส่องทางให้เราระหว่างเดินไป แล้วเราก็เลี้ยวซ้ายขึ้นเนินไปทางข้างหอหลวงหรือโรงแรมนิวเชียงตุง พอมาถึงถนนสายหลักที่เส้นที่ผ่านหน้าหอหลวงเราก็เลี้ยวขวาไปทางวงเวียน ถนนเส้นนี้มีไฟส่องสว่างดี กลางวงเวียนมีอาคารก่ออิฐถือปูนทรงปราสาทจตุรมุขมีเรือนยอดซ้อนขั้นขึ้นไปดูคล้ายเป็นของพม่า จากการพูดคุยกับน้องเมย์และภาพที่เห็นให้เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึกบางอย่างที่อยู่ในใจของคนที่นี่ เช่นคำพูดที่เขาพูดถึงพระชี้นิ้ว และความรู้สึกต่อหอหลวงที่ถูกทุบทำลายไป

 





 










เราไปกินโรตีกับนมสดกันที่ร้านข้างทางริมกำแพงวัดไม่ไกลจากวงเวียนอนุสาวรีย์อิสรภาพ แล้วเราก็เดินย้อนกลับมาที่วิหารกลางวงเวียน ที่ตอนนี้มีนั่งร้านไม้ไผ่ต่อไว้สำหรับซ่อมแซมเรือนยอดของวิหาร น้องเมย์บอกว่าวิหารยังไม่ปิดเราสามารถเข้าไปไหว้พระได้ ผมจึงข้ามถนนไปแต่ปรากฏว่าเขากำลังจะปิดวิหารอยู่พอดี น้องเมย์เลยไปคุยกับลุงที่เฝ้าเขาจึงยอมเปิดประตูให้  ภายในวิหารมีแท่นประดิษฐานพระมหามัยมุนีองค์จำลองอยู่ค่อนไปทางมุขด้านทิศเหนือ องค์พระหน้าตักกว้างราวสองเมตรครึ่ง ภาษาพม่าเรียกพระเจ้าระแข่งแต่คนที่นี่เรียกพระเจ้าหลวง เป็นพระพุทธทรงเครื่องแบบพม่าพระพักตร์หล่อด้วยทองคำเป็นมันวาวต่างจากส่วนองค์ที่เป็นสีทองขุ่นทำนององค์จริงที่มัณฑะเลย์ เพียงแต่ไม่ได้ทำเป็นองค์ตะปุ่มตะป่ำอย่างนั้น แต่ก็ถือได้ว่าองค์นี้จำลองได้งดงามน่าชมทีเดียว เมื่อกราบพระแล้วเราก็พากันเดินกลับที่พัก 
  

ระหว่างเดินกลับที่พักเราปรึกษากันเรื่องที่จะไปวัดบ้านแสนและวัดหนองหลวง น้องเมย์โทรติดต่อเรื่องรถให้ ได้ความว่าถ้าไปวัดบ้านแสนเหมาไป-กลับ ๑ วัน ราคา ๑๐๐,๐๐๐ จั๊ด หรือราวๆ ๓,๕๐๐ บาท ถ้าไปวัดหนองหลวงในเขตเมืองลาต้องค้างเมืองลา ๑ วัน เหมารถ ๒ วันราคา ๒๘๐,๐๐๐ จั๊ด แต่มีข้อเสนอที่ดูน่าสนใจคือ ถ้าไปวัดหนองหลวงแล้วค้างเมืองลา 1คืนแล้ววันกลับก็แวะวัดบ้านแสน เขาจะคิดในราคา ๒๘๐,๐๐๐ จั๊ด ผมฟังแล้วก็สนใจแม้ราคาจะสูงอยู่ไม่น้อยเลย ในใจผมอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเป็นราคาที่เขาคิดกับคนที่นี่จะแพงอย่างนี้หรือเปล่า ผมยอมตกลงเพราะไม่รู้ว่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่านี้หรือเปล่า และเวลาก็มีไม่มากให้หาข้อมูล จึงบอกให้น้องเมย์โทรบอกคนรถให้มารับเราตอน ๖ โมงเช้าวันพรุ่งนี้

 ...........................................................


  วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ เช้าวันนี้อากาศหนาวกำลังดี พวกผมตื่นนอนกันตั้งแต่เช้าแต่ก็ออกมาสายกว่า ๖ โมงนิดหน่อย ยังไม่เห็นคนขับรถมาเราจึงไปเดินเล่นในตลาดเล็กๆในซอยฝั่งตรงข้าม ตลาดเช้าที่นี่เป็นตลาดแบกับดินง่ายๆขายผักกับของกินเล็กๆน้อย ผมแวะกินน้ำเต้าหู้กับเต้าฮวย เต้าฮวยที่นี่เต้าหู้จะอุ่นๆหอมอร่อยมากแต่น้ำขิงเป็นน้ำเหนียวๆเพราะเคี่ยวกับน้ำตาลมาแล้ว ไม่ได้เป็นน้ำขิงร้อนๆอย่างที่ผมเคยกิน ระหว่างนั่งกินก็ได้พูดคุยกับพี่สาวคนไทยที่มาเที่ยวเชียงตุงและพักที่เดียวกับเราเมื่อคืน สักพักนึงเราก็เดินกลับมาที่เกสต์เฮาส์ซึ่งมีอาหารเช้าเป็นโรตีทอดกับน้ำชา กินเสร็จก็จ่ายค่าที่พักในราคา ๔๐๐ บาท ระหว่างนั้นคนขับรถก็มารอเราอยู่แล้ว






คนขับรถชื่อพี่หลวงติ๊บเป็นคนไทใหญ่ลูกครึ่งจีน แรกๆแทบไม่ได้พูดอะไรกับเราเลย ดูจะเป็นคนพูดน้อยเสียเหลือเกิน เราไปแวะที่กาดหลวงก่อนเพื่อซื้อของกินสำหรับเป็นมื้อเที่ยงระหว่างการเดินทาง น้องเมย์พาเราไปซื้อข้าวเหนียวที่หลังตลาด เป็นร้านที่มีแม่เฒ่าสองคนนั่งขายของอยู่กับพื้น ตรงหน้ามีกระบุงสานคนละสองใบ แม่เฒ่าคนแรกขายข้าวเหนียว ข้าวอู้และก็ข้าวสีเหลืองหุงด้วยเครื่องเทศเหมือนข้าวหมกไก่ แม่เฒ่าหยิบเอาข้าวอู้ในกระบุงมาให้ลองชิม ชิมแล้วผมก็เลือกข้าวอู้ทันที มันเป็นข้าวเหนียวสีเขียวอ่อนๆ คล้ายข้าวเม่าแต่สีอ่อนกว่ามาก กินเหมือนข้าวเหนียวปกติแต่ข้าวอู้จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ พอเราสั่งเขาสี่ห่อแม่เฒ่าก็จัดการห่อใส่ใบไม้คล้ายใบสัก น้องเมย์บอกว่าเรียกใบตองผมเคยได้ยินทางภาคอีสานเรียกใบตองกุงน่าจะอย่างเดียวกัน เราซื้อทั้งหมด ๑๐ ห่อ ซึ่งน้องเมย์จ่ายเงินค่าข้าวให้ในราคาห่อละ ๑๐๐ จั๊ด และยังได้แถมมาอีก ๑ห่อด้วย แม่เฒ่าคนข้างๆขายข้าวเหนียวเหมือนกัน แต่น่าจะกินเป็นขนม ข้าวอย่างแรกเป็นข้าวเหนียวหุงกับกับถั่วดำคล้ายๆข้าวหลามที่ไม่ใส่น้ำตาลกับกะทิ อย่างที่สองเป็นข้าวเหนียวสีดำแต่ดูไม่เหมือนข้าวเหนียวดำที่เคยกินเพราะมันจะดำมากกว่า กินแล้วมีรสหวานโรยมะพร้าวมาด้วย อย่างที่สามเป็นข้าวสีน้ำตาลไหม้เหมือนข้าวเหนียวแดง แต่จำรสชาติไม่ได้เพราะไม่ได้ซื้อมาลองกิน เราเดินออกมาสำรวจตลาดนิดหน่อยแล้วก็ไปแลกเงินเป็นเงินจั๊ด และซื้อน้ำพริกและกับข้าวเล็กน้อยๆ แวะกินก๋วยเตี๋ยวเป็นมื้อเช้าจริงๆจังๆอีกคนละชาม เหมือนจะได้ยินเขาเรียกเส้นก๋วยเตี๋ยวที่คล้ายๆเส้นผัดไทนี้ว่าข้าวซอย รสชาติก๋วยเตี๋ยวก็ออกไปทางจืดๆ ต้องเติมซอสสีดำๆ กับน้ำพริกลงไปเพิ่มรสชาติ และก็ต้องกินแกล้มด้วยผักดอง รสชาติผักดองนี้อร่อยทีเดียว เมื่อปีก่อนเคยได้ไปกินที่บ้านเปียงหลวง มีก๋วยเตี๋ยวกับผักดองแบบนี้เหมือนกัน ผักที่ใส่ลงไปในก๋วยเตี๋ยวเรียกว่าผักถั่วน้อย หน้าตาคล้ายๆใบบัวบกแต่ใบจะเล็กกว่า


ออกมาจากตลาดน้องเมย์ก็ต้องไปยื่นเอกสารที่ต.ม. เสร็จแล้วเราก็แวะซื้อน้ำดื่มและของที่จะเอาไปให้เด็กน้อยที่วัดบ้านแสนและวัดหนองหลวง น้องเมย์แนะนำเราว่าคนที่นั่นต้องการสบู่ กว่าเราจะได้ออกจากเชียงตุงก็ประมาณแปดโมง ผ่านหนองคำและสามยอดเกสต์เฮาส์ออกไปทางสนามบิน เห็นเด็กน้อยกำลังเดินเข้าไปในโรงเรียน นอกเมืองมีหมอกลงหนาพอสมควรมองไปได้ไม่เกินสามร้อยเมตร แถวนี้มีด่านตรวจอยู่ด้วยแต่ก็ไม่ได้มีเรื่องยุ่งยากอะไร เราเดินทางผ่านทุ่งนาและหมู่บ้านออกมาหน่อยก็เห็นว่ามีการทำถนน ผมเห็นแล้วนึกถึงการทำถนนที่พ่อเคยเล่าให้ฟัง ว่าเมื่อประมาณ 50ปีที่แล้วที่บ้านเราก็ทำถนนแบบนี้ คือชาวบ้านจะมาช่วยกันเรียงหินที่ถูกทุบออกมาให้มีขนาดเท่ากำปั้น ผู้หญิงจะช่วยกันเรียงหินลงบนพื้นอย่างเป็นระเบียบ ผู้ชายก็จะช่วยกันทุบหินด้วยฆ้อนปอนด์ เมื่อเรียงเสร็จแล้วเขาก็จะราดยางมะตอยและสาดหินกรวด 

ระหว่างทางที่ผมนั่งรถผ่านไปผมเห็นบ้านเรือนส่วนใหญ่ยังเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอ ส่วนวัดจะซ่อมเป็นของใหม่มุงกระเบื้องลอนสีแดงเสียมาก ผ่านหมู่บ้านออกมาก็เป็นที่นาสลับกับหนองน้ำ ผมเห็นหนองน้ำแห่งหนึ่งมีต้นบัวหลวงแห้งตายอยู่เต็มบึงท่ามกลางบรรยากาศของม่านหมอก ชวนนึกถึงความเศร้าโศกวังเวง


ผมมองเห็นแม่น้ำสายหนึ่งทางซ้ายมือตอนสายเมื่อเมฆหมอกจางหายไปแล้ว  น้องเมย์บอกว่านี่คือแม่น้ำขืนเป็นแม่น้ำที่ไหลย้อนขึ้นไปทางเหนือ บริเวณสองข้างของแม่น้ำเป็นที่ราบเชิงเขา มีท้องนากับหมู่บ้านที่แลเห็นได้เป็นกลุ่มๆ เห็นวัดหลังคาสีแดงปักยอดแหลมๆสีเงินบนสันหลังคาอยู่ไกลๆ มีสะพานไม้เล็กๆสร้างข้ามแม่น้ำแบบที่มอเตอร์ไซค์จะพอข้ามไปได้ หลังจากนี้จะเป็นทางขึ้นเขาผมมองเห็นทะเลหมอกในแอ่งเขาไกลที่อยู่ออกไป

ถนนลาดยางลัดเลาะไปตามไหล่เขาจนกระทั่งเข้าเขตหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ผมเห็นวัดเก่าที่กำลังซ่อมหลังคาและสร้างกำแพงใหม่ อาคารหลักของวัดน่าจะเป็นวิหารสร้างเป็นจั่วแหลมจันทันเป็นเส้นหย่อนแลเห็นว่าตั้งตุ๊กตาด้วย ชวนให้นึกถึงวิหารโบราณแบบสุโขทัย ผมเพิ่งเห็นวิหารแบบนี้เป็นที่แรกตั้งแต่มาเชียงตุง ถนนตัดผ่านข้างวัดและก็ผ่านหมู่บ้านไป ที่จริงผมก็อยากแวะเพราะเห็นทะเลหมอกที่อยู่ใกล้ราวกับจะกระโดดลงไปได้ แต่น้องเมย์บอกว่าจะมีจุดชมวิวสวยๆเราเลยผ่านเลยมา จะกระทั่งผ่านหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนสันเขาเป็นบ้านไม้มุงหญ้าคา สภาพเหมือนบ้านชาวเขาในภาคเหนือของประเทศไทย หมู่บ้านนี้มีวัดคาทอลิคกับวัดพุทธที่กำลังสร้างคล้ายจะยังไม่เสร็จดี ไปอีกหน่อยเราก็มาถึงจุดชมวิวที่มองเห็นทะเลหมอกในแอ่งเขาทางทิศตะวันตก แต่เพราะสายพอสมควรแล้วหมอกเลยไม่เยอะเท่าไรแต่ท้องฟ้าก็สดใสดีมาก



เราออกเดินทางต่อมาในหุบเขาที่สูงชัน เส้นทางระหว่างนี้มีการซ่อมถนนด้วยวิธีการคล้ายกันกับที่ทำกันด้านล่าง จนกระทั่งถึงด่านตรวจแห่งหนึ่งที่ดูมีความสำคัญ ที่นี่น้องเมย์ต้องลงไปยื่นเอกสารส่วนผมก็ลงไปเข้าห้องน้ำ ด่านตรวจนี้อยู่ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำสายหนึ่งที่ไหลไปทางทิศตะวันออก เมื่อเราข้ามแม่น้ำไปเราก็ผ่านหมู่บ้านและเลยไปอีกสักพักพี่หลวงติ๊บก็ชะลอให้เราดูทางลูกรังที่ตัดแยกเข้าไปทางซ้ายมือ ซึ่งก็คือทางที่จะขึ้นไปวัดบ้านแสน ผมงีบหลับต่อไปอีกหน่อยก็มาถึงด่านตรวจของทหาร ผมเข้าใจว่าจากนี้ไปจะเข้าสู่เขตการปกครองพิเศษเมืองลา เส้นทางต่อจากนี้เป็นทางที่ตัดเรื่อยไปตามตีนเขา ด้านขวามือเป็นทิศใต้มีที่ราบระหว่างหุบเขาใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร เราผ่านด่านตรวจอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในหมู่บ้านที่ดูเจริญหน่อย มีอาคารพาณิชย์ให้เห็นแต่ส่วนใหญ่ก็เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงปลูกติดๆกันหลายหลังคาเรือน ทำเลที่ตั้งคล้ายๆกับหมู่บ้านที่เมืองพยากที่ได้เห็นเมื่อวาน แต่ที่นี่มีลักษณะบ้านเรือนต่างออกไปสักหน่อยแต่ก็แจกแจงไม่ถูกเพราะไม่ได้แวะดูให้ละเอียด ผมให้พี่หลวงติ๊บจอดรถเพื่อลงไปดูวัดของหมู่บ้านนี้ เป็นวัดทำนองอย่างที่เห็นบนเขา วัดนี้มีวิหารเป็นอาคารหลักของวัดมีหลังคาเชื่อมต่อกับส่วนที่เป็นกุฏิ หลังคาเป็นจั่วปิดมีชายคารอบ จั่วมีขนาดเล็กไม่ทำหน้าบันโดดเด่นนักแต่ต่อมุขออกมาทางด้านหน้าเป็นจั่วเปิดใช้เป็นทางเข้าสู่วิหาร หลังคามุงกระเบื้องดินขอประดับด้วยเครื่องเคลือบดินเผารูปสัตว์บ้าง รูปอย่างใบระกาหางสส์บ้าง เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัดแถบนี้ เสียดายมีเวลาดูอยู่ไม่ถึงห้านาที คิดว่าจะกลับมาแวะดูอีกที 




ถัดจากนี้เราก็ผ่านทางขึ้นวัดหนองหลวง แต่เราต้องเข้าเมืองลาก่อนเพื่อให้น้องเมย์ไปยื่นเอกสารและติดต่อที่พัก แต่ผมเห็นว่ามันจะเที่ยงวันแล้วจึงบอกให้ค่อยกลับมาหาที่พักตอนกลับลงมาจากวัดหนองหลวง ระหว่างทางเข้าเมืองลาเราผ่านหมู่บ้านกับวัดทำนองเดียวกับที่มาเมื่อสักครู่อีกสาม-สี่แห่ง เป็นหมู่บ้านในเขตเมืองม้า ผมหมายตาวัดแห่งหนึ่งเอาไว้สบโอกาสจะแวะดูสักหน่อย ก่อนเข้าเมืองลาน้องเมย์ชี้ให้ดูทางเยกที่จะขึ้นไปบ้านของเจ้าเมืองลา ผูนำของเขตปกครองพิเศษเมืองลาแห่งนี้  ถนนตรงปากทางเข้าเมืองลาเป็นถนนใหญ่ต่างจากที่ผ่านมาสิ้นเชิง แม้จะขรุขระและฝุ่นคลุ้งไปเสียหน่อยแต่ก็กว้างกว่า มีปั๊มน้ำมันปตท.และมีสัญญาณโทรศัพท์ แต่ค่าโทรแพงทีเดียวแถมถ้ารับก็เสียตังค์อีกต่างหาก เมืองลาเป็นเมืองทันสมัยกว่าที่เชียงตุงเหมือนข้ามมาอีกประเทศ เราข้ามแม่น้ำตื้นๆสายหนึ่งที่ไหลมาจากทางเมืองม้าแล้วเข้าสู่ย่านการค้า สภาพห้างร้านดูดีมีสินค้าแบร์นเนมหลายยี่ห้อ สินค้าแฟชั่นมีให้เลือกมากมาย ที่นี่เหมือนจะมีคนจีนเป็นส่วนใหญ่เพราะใช้ภาษาจีนเป็นหลักสังเกตได้จากป้ายตามห้างร้าน ผู้คนแต่งตัวกันดูเหมือนกับคนในเมืองใหญ่แต่ดูน่าอึดอัดเพราะอากาศไม่ได้หนาวขนาดนั้น น้องเมย์แวะไปทำเรื่องที่สำนักงานบนเนินเขาลูกหนึ่ง แล้วเราก็ออกจากเมืองลามาตามทางเดิมเพื่อจะไปวัดหนองหลวง ซึ่งเป้าหมายของการเดินทางของเราในวันนี้




เลยเที่ยงวันมาแล้วสักพักเมื่อเรามาถึงปากทางลูกรังที่จะขึ้นไปวัดหนองหลวง วันนี้แดดจัดพอสมควร ท้องฟ้าก็สดใสมากแต่สภาพอากาศไม่ร้อนอบอ้าวแต่อย่างใด พี่หลวงติ๊บแวะเติมน้ำในหม้อน้ำและกินข้าวกลางวัน ผมกินข้าวมาแล้วห่อหนึ่งตอนนั่งรถมาเลยยังไม่ค่อยหิว จึงไปถ่ายรูปป้ายที่เขียนชื่อวัดหนองหลวงเป็นภาษาไทยใหญ่ ภาษาพม่า ภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ แล้วก็กลับมานั่งทำความเข้าใจกับฟังก์ชั่นของกล้องถ่ายรูปบนรถ ในใจรู้สึกเสียดายที่พลาดรูปถ่ายสวยๆจากวิวตามรายทางที่ผ่านมา เลยทำให้นึกย้อนไปถึงคำพูดของเพื่อนคนหนึ่งที่เคยไปเที่ยวด้วยกันบ่อยๆสมัยเรียน
“ไม่เป็นไร.. เก็บไว้คิดถึง” 



ถนนลูกรังแคบๆตัดเลาะไปตามไหล่เขา มีรถมอเตอร์ไซค์สวนมาให้เห็นสอง-สามคัน ผมสังเกตเห็นภูเขาแถบนี้ปลูกต้นยางพารากันมาก น่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ ขับลึกเข้ามาไม่นานเราก็เจอกับทางแยก โชคดีที่เราเลือกผิดแล้วไปเจอคุณลุงคนหนึ่งขับรถมอเตอร์ไซค์ออกมาทำให้ไม่ต้องหลงไปไกล แต่พอกลับออกมาแล้วไปต่อเราก็เจอทางแยกอีก พี่หลวงติ๊บไม่มั่นใจจึงหยุดรถเดินลงไปดูเส้นทาง เพราะทางข้างหน้าเป็นเนินลาดชัน แถมยังหักศอกและมีร่องที่ถูกน้ำเซาะอยู่กลางถนน เราตัดสินใจย้อนกลับออกมาแล้วหยุดรอเผื่อจะมีใครผ่านมาให้ถาม ที่จริงไกด์ของเราไม่เคยเข้าไปที่วัดหนองโหลง ส่วนพี่หลวงติ๊บเคยเข้ามาแต่จำทางไม่ได้ เราเสียเวลารออยู่สักพักแต่ก็ไม่มีใครผ่านมา พี่หลวงติ๊บจึงตัดสินใจเลือกเส้นทางที่จะไปต่อด้วยตัวเอง



เราเดินหน้าไปต่อโดยไม่รู้เลยว่ามันถูกทางหรือเปล่า เส้นทางค่อนข้างอันตรายเพราะด้านข้างเป็นเหวลึกลงไปด้านหนึ่ง อีกด้านก็เบียดกับไหล่เขาไปตลอด แต่ดีที่เราค่อนข้างกำลังใจดี อย่างน้อยก็ไม่มีใครพูดว่าถอย ทำให้บรรยากาศในรถเป็นไปแบบสบายๆถึงแม้ว่าเส้นทางดูจะโหดร้ายมากขึ้นก็ตาม พี่หลวงติ๊บใช้เวลาเกือบๆ ๑ ชั่วโมงขับรถไปจนกระทั่งเราเข้ามาถึงในหุบที่ถูกปกคลุมไปด้วยเงาของร่มไม้ใหญ่ มีลำธารสายหนึ่งไหลผ่านและมีสะพานคอนกรีตข้ามไป ที่เชิงสะพานมีป้ายไม้เล็กๆเขียนตัวหนังสือไว้ น้องเมย์เห็นแล้วก็หันมาบอกว่า “เรามาถูกทางแล้ว” ระหว่างนี้ก็มีรถบรรทุกขับสวนทางออกมาสองคัน จะเป็นรถบรรทุกสินค้าหรืออะไรก็ไม่อาจรู้ได้ 



ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความสามารถของพี่หลวงติ๊บหรือว่าเป็นโชควาสนา ในที่สุดผมก็เห็นหมู่บ้านหนองหลวงและวัดอยู่ไกลๆ ข้างทางมีต้นไม้ใหญ่ให้พบเห็นหลายต้น ดูเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มากกว่าด้านนอก เห็นมีไร่ชาปลูกเป็นระดับลงไปในหุบเขาข้างทาง อีกชั่วอึดใจพี่หลวงติ๊บก็ขับรถพาเรามาถึงหน้าวิหารหลวงซึ่งมีถนนคอนกรีตตัดตรงเข้าไปในวัด ด้านล่างมีทางอีกเส้นที่ใช้เข้าไปในหมู่บ้าน แต่เป็นทางดินแดงไม่ใช่ทางคอนกรีตอย่างข้างบนนี้ มีบันไดอยู่ด้านนอกริมกำแพงแก้วสำหรับใช้เดินลงไปในหมู่บ้าน กำแพงแก้วก่อดัวยอิฐสูงประมาณเมตรครึ่ง มีบันไดสำหรับขึ้นไปเดินบนกำแพงแก้วนี้ได้ จนผมรู้สึกว่ามันเหมือนเชิงเทินรักษาการณ์ของป้อมปราการ เพราะเบื้องล่างเป็นหน้าผาลึกลงไปและเมื่อขึ้นไปยืนก็สามารถมองเห็นหมู่บ้านเบื้องล่างได้ถนัดตา แต่หมู่บ้านเปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องลอนสีฟ้าสดใสกันเสียมาก ทำให้บรรยากาศที่กลมกลืนกับธรรมชาตินั้นหมดลงไป แต่การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะมันคือพื้นที่ส่วนตัวที่เจ้าของเขาใช้ประโยชน์ ผมหันไปมองวิหารหลวงด้วยความรู้สึกดีใจ ไม่คิดว่าจะได้มาถึงที่นี่จริงๆ 



ผมรู้จักวัดนี้ตอนไปฟังอาจารย์เกรียงไกร เกิดศิริ บรรยายในหัวข้อ "วัดหนองหลวง-วัดบ้านแสน วัดไตดอย(ลัวะ)ในรัฐฉาน แสงแห่งอารยะที่ฉายผ่านสถาปัตยกรรม" ที่ม.ศิลปากร ตอนเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ นับตั้งแต่นั้นผมก็วาดฝันว่าจะได้มาที่นี่มาตลอด ด้วยความสนอกสนใจในงานสถาปัตยกรรมและศิลปะโบราณ แต่ก่อนผมไม่เคยรู้เลยว่าจะมีสถานที่แบบนี้หลงเหลืออยู่ สถานที่ที่มีลักษณะทางกายภาพของชุมชนดั้งเดิม ทำให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของพัฒนาการจากบ้านไปสู่เมือง และได้เห็นภาพของระบบความเชื่อดั้งเดิมของชาติพันธุ์ไทที่อาศัยอยู่ณ ภูมิภาคนี้มายาวนาน แม้ระบบความเชื่อเหล่านั้นอาจดูไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ทว่าลึกซึ้งและผูกพันกับที่อยู่ที่อาศัยอย่างมีรายละเอียด การได้มาที่นี่จึงเป็นการเปิดมุมมองของผมเอง ออกจากแนวคิดเดิมๆที่ยึดติดอยู่ในกรอบของเส้นเขตแดน

วิหารหลวงของวัดหนองหลวงเป็นอาคารเครื่องไม้ ก่อผนังล้อมด้วยอิฐฉาบปูนหรือไม่ก็วัสดุธรรมชาติอื่นๆ ทาผนังด้วยสีแดงอมน้ำตาล ด้านหน้าเจาะช่องประตูทางเข้าเบี่ยงซ้าย ทำเป็นซุ้มปั้นลายปิดทองและประดับกระจก บานประตูแกะสลักเป็นรูปทวารบาลปิดทอง ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่แสดงปางมารวิชัย องค์พระถูกห่มคลุมด้วยผ้าสีทองตั้งแต่โคนพระศอลงมาถึงฐาน พระเศียรอยู่เลยฝ้าเพดานจนเหมือนจะทะลุหลังคาชึ้นไป มีกรอบเหมือนสาหร่ายรวงผึ้งที่เสาคู่หน้าพระประธาน เสาทำด้วยไม้กลึงกลมปิดทองทึบเว้นโคนเสาเป็นลายกรวยเชิงพื้นแดง ปลายเสาเป็นกลีบบัวปิดทองประดับกระจก ต้นเสาใช้รับโครงสร้างหลังคาจั่วที่ซ้อนชั้นขึ้นไปตามสัดส่วนของพระประธาน  หลังคาซ้อนชั้นที่สูงที่สุดจึงอยู่ที่เหนือเศียรพระประธาน ซึ่งเป็นที่ตรงกลางวิหารทำให้สามารถเดินรอบพระประธานได้ ด้านหลังมีประตูเยื้องทำนองที่ผนังสกัดหน้าเพื่อใช้ออกไปยังกุฏิใหญ่ ในวิหารหลวงมีของน่าสนใจหลายอย่าง มากสิ่งจนดูได้ไม่ละเอียดเพราะมีเวลาไม่มาก เพราะต้องกลับลงจากเขาก่อนที่ฟ้าจะมืด ระหว่างที่ผมเข้าไปถ่ายภาพด้านในวิหารหลวงน้องเมย์ก็เข้ามาเรียกออกไปกินข้าว แต่ผมปฏิเสธเพราะเขาไม่ให้กินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ในเขตวัดต้องออกไปกินกันข้างนอก 


ที่ช่วงเสาบริเวณหน้าตักของพระประธาน มีราวไว้สำหรับปักเครื่องสูงจำพวก ร่ม บังแทรก เสาหัวเม็ดดอกบัวตูม เป็นต้น ที่ผนังทางด้านซ้ายมีช่องประตูสำหรับออกไปด้านข้างของวิหาร ซึ่งจะมีบันไดสร้างหลังคาคลุมเป็นทางเชื่อมขึ้นไปยังอุโบสถที่อยู่บนเนินที่สูงขึ้นไปอีก เมื่อเดินขึ้นไปบนลานอุโบสถก็เหมือนว่าเราจะเดินอยู่บนหลังคาของวิหารหลวงได้เลยทีเดียว หลังคาวิหารหลวงยังคงมุงด้วยกระเบื้องดินขอประดับด้วยเครื่องเคลือบดินเผาเป็นช่อฟ้าบราลี มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าแต่เดิมวิหารหลวงหลังนี้มุงด้วยกระเบื้องดีบุก แต่ในปัจจุบันได้ซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่างอุโบสถและมณฑปด้านหน้าก็เปลี่ยนมามุงด้วยกระเบื้องลอนสีแดงซึ่งน่าจะซื้อหามาซ่อมแซมได้ง่ายกว่า 


อุโบสถมีประตูทางเข้าทางด้านข้างอาคารคงใช้เป็นทางขึ้นสำหรับพระสงฆ์ ผมสังเกตเห็นหลักหินง่ายๆไม่มีลายสลักอะไร ปักอยู่บนพื้นเข้าใจว่าเป็นหลักเสมา ที่ด้านหน้าอุโบสถมีมุขโถงขนาดหนึ่งห้องหน้าบันมีลายแกะปิดทองประดับกระจกดูงดงามเหลือเกิน ลักษณะโดยรวมของอุโบสถหลังนี้คล้ายคลึงกับวิหารล้านนาแต่มุมจั่วจะป้านมากกว่า ด้านหน้ามุขโถงทางด้านขวามีกลองวางอยู่ ส่วนที่ด้านซ้ายมีแท่นบูชา แท่นบูชานี้แกะสลักด้วยไม้เป็นลายนูนต่ำปิดทอง มีบาตรวางคว่ำอยู่สองใบกับแจกันใส่ดอกไม้ที่ชาวบ้านเอามาบูชา ด้านในมีตู้หรือเก๋งอะไรสักอย่างที่ไม่อาจรู้ได้ว่าบรรจุอะไร ผนังสกัดด้านหน้านี้มีประตูทางเข้าหลักซึ่งปั้นตกแต่งไว้อย่างดี ผมไม่สามารถเข้าไปในอุโบสถได้เพราะประตูถูกปิดไว้ มีประตูเหล็กปิดไว้อีกชั้นหนึ่งด้วย ด้านหน้าอุโบสถเยื้องออกไปทางซ้ายมีมณฑปหลังคาซ้อนสี่ชั้นมุงด้วยกระเบื้องลอนแดง ประตูถูกปิดไว้จึงไม่อาจเข้าไปดูได้ ที่ด้านซ้ายของอุโบสถมีลานแคบๆและเป็นเนินเขาขึ้นไป ซึ่งเป็นที่ตั้งของมณฑปพระธาตุและที่จงกรม ผมได้แต่ดูอยู่ข้างล่างเพราะไม่มีเวลาพอจะขึ้นไปดู ด้านหลังอุโบสถมีหอไตรหลังเล็กๆ ทำฐานสูงท่วมหัวทีเดียว มุงด้วยแป้นเกล็ดประดับเครื่องเคลือบมีรูปปราสาทอยู่ตรงกลางสันหลังคา ที่ด้านหลังหอไตรมองลงไปจะเห็นสระน้ำเป็นที่ส่วนตัวสำหรับพระสงฆ์


 
ช่วงเย็นประมาณสี่โมงผมเห็นผู้เฒ่าสองคนขึ้นมาที่วัด คนหนึ่งไปเอากาน้ำที่ตั้งอยู่หน้าพระประธานในวิหารหลวง แล้วเดินไปที่หอไหว้เล็กๆใต้ต้นโพธิ์หน้าวัด แล้วเขาก็เดินมาทางผมที่ยืนอยู่ตรงทางเข้าไปในเขตกำแพงแก้วหน้าลานพระอุโบสถ ตรงนี้มีหอไหว้ก่ออิฐเล็กๆอยู่หลังหนึ่ง ผู้เฒ่าเอาน้ำในการดลงที่หอไหว้นั้นแล้วไหว้ทำความเคารพ ผมดูอยู่พักหนึ่งแล้วเดินเข้าไปทางอุโบสถอีกครั้ง เพราะเห็นประตูเปิดอยู่ เมื่อผมเดินเข้าไปก็ตกใจที่เห็นเสากลมปิดทองต้นหนึ่งขวางอยู่ด้านในตรงกับช่องประตู เงาของเสาลากไปทับบรรดาพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่บนชุกชีกลางห้องนั้น 

ผู้เฒ่านั่งสวดมนต์ด้วยอาการสำรวมอยู่ในที่นั้นด้วยสำเนียงการสวดที่ฟังแล้วแปลกหูไม่รู้ว่าเป็นบทอะไร ผมกราบพระแล้วเดินกลับออกมาทางบันไดที่ทอดลงเนินไปหน้าวิหารหลวง 

 
ผมมีเวลาอยู่ที่วัดหนองหลวงได้ประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง ไกด์สาวเร่งให้ผมรีบกลับเพราะถ้าฟ้ามืดไปก่อนขณะที่พี่หลวงติ๊บขับรถลงเขาจะลำบากมาก ผมจะขอนอนค้างบนนี้เขาก็ไม่ยอม สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ เข้าไปกราบพระประธานในวิหารหลวงแล้วเดินไปเอาผ้าห่มที่แบกมาจากบ้านคนละผืน ถวายให้เณรรูปหนึ่งที่นั่งทอดสายตาเหงาๆลงไปในหมู่บ้านอยู่บนกำแพงแก้ว ทีแรกเขาก็งงๆแต่ชาวบ้านที่อยู่แถวนั้นบอกให้ว่า “เพิ่นทาน” เณรจึงรับผ้าห่มเอาไว้และนั่งค้างอยู่อย่างนั้นจนเราออกมา น้องเมย์บอกว่าชาวบ้านกลุ่มนั้นเดินทางมาจากที่อื่น พวกเขามาเฝ้ารออยู่ที่วัดนี้สองวันแล้วเพื่อรอพบเจ้าอาวาส เพราะเจ้าอาวาสท่านดูดวงแม่นมาก มีชื่อเสียงล่ำลือไปถึงเมืองเชียงตุง ผมให้พี่หลวงติ๊บจอดข้างถนนที่เป็นลานคอนกรีตหน้าวัดและก็เอาขนมห่อใหญ่ไปถวายเณรที่เล่นกันอยู่ตรงนั้น เณรสองรูปยินดีรับของถวายไว้และท่องบทให้พรอย่างคล่องแคล่วและน่ารักดี



พระอาทิตย์ทอแสงอ่อนลงเรื่อยๆก่อนที่จะหายลับไปในเหลี่ยมเขาขณะที่พี่หลวงติ๊บขับรถพาเราออกมาตามทางเดิม ขากลับใช้เวลาไม่มากเท่าขาเข้าไป พอออกมาถึงปากทางฟ้าก็โพล้เพ้เต็มที ผมมองดูพื้นที่ทางการเกษตรข้างทาง เห็นมีดงกล้วยขนาดใหญ่หลายร้อยไร่คิดว่าน่าจะเป็นกล้วยหอม เขาห่อกล้วยทั้งเคลือเอาไว้ด้วยตาข่ายเหมือนมุ้งเพื่อกันแมลง
เรากลับเข้าเมืองลาแล้วไปที่โรงแรมซึ่งอยู่แถวตีนสะพานแห่งความรัก เป็นโรงแรมคนจีนที่สภาพค่อนข้างดีพอสมควร เราขนสัมภาระออกจากท้ายรถที่เขรอะไปด้วยฝุ่นสีเหลือง เราพักกันอยู่ที่ชั้นล่างของตึกมีแอร์ มีตู้เย็น และทีวีที่ดูละครไทยได้ อาบน้ำพักผ่อนกันพอสมควรแล้วก็ออกไปกินข้าวเย็นที่ตลาด 
เมืองลายามค่ำคืนดูคึกคักมากกว่าเมืองเชียงตุงได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีทั้งบ่อนและสถานบริการมากมาย ร้านที่เราไปกินข้าวสภาพคล้ายๆร้านข้ามต้มในเมืองไทย สภาพก็ไม่เลอะเทอะนักแต่ก็เขรอะๆเหมือนไม่เคยเช็ดถู อาหารก็เป็นผักสดให้เลือกแล้วก็สั่งว่าจะต้มจะผัดหรืออะไรก็ชี้ๆถามๆกันได้ อาหารได้เร็วทันใจมาก รสชาตินั้นก็ถือว่าใช้ได้ ระหว่างนั้นก็ได้เจอคนไทยที่เคยพบกันตรงด่านที่ท่าขี้เหล็ก ทักกันเล็กน้อยแล้วก็แยกกันไปกินข้าวโต๊ะใครโต๊ะมัน ระหว่างกินข้าวพี่หลวงติ๊บชวนผมดื่มเบียร์ เริ่มจากเบียร์ไทยต่อด้วยเบียร์พม่า ปิดท้ายด้วยเบียร์จีนที่ซื้อขึ้นไปดื่มชมพระจันทร์กันกลางสะพานข้ามแม่น้ำ คืนนี้พระจันทร์สวยทีเดียวพวกเรามองไปทางทิศตะวันออกก็เห็นพระธาตุบนภูเขาไกลๆติดไฟสีทองอร่ามตา 

.................................................

 
๑ มกราคม ๒๕๕๖ ผมพักที่เมืองลาหนึ่งคืน มาที่นี่ผมได้ยินคนพูดกันหลายภาษา ใช้เงินก็หลายสกุล เมื่อคืนพี่หลวงติ๊บชวนกินเบียร์ ผมเลยได้ลองเบียร์หลายแหล่งผลิต สุดท้ายก็หลับไปแบบไม่ได้ยินเสียงพลุเคาท์ดาวน์ ซึ่งพี่หลวงติ๊บบ่นว่าดังจนนอนแทบไม่ได้ เราออกไปกินก๋วยเตี๋ยวง่ายๆเป็นอาหารเช้าแล้วก็ไปที่ตลาดเพื่อซื้อของกินสำหรับมื้อกลางวัน ตลาดเช้าที่เมืองลาสะอาดสะอ้านดีทีเดียว โซนที่ขายของแบกับพื้นดูคึกคักน่าเดิน ถัดเข้าไปเป็นตลาดที่สร้างเป็นหลังคาคลุมเหมือนตลาดเทศบาลที่เมืองไทย แต่ของขายที่นี่ดูจะสดและน่าซื้อกว่า มีพวกสัตว์ป่าที่ถูกชำแหละมาวางขายกันด้วย อย่าง กวาง เม่น เสือ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีงูเป็นๆที่จับมาขายกัน เขาห้ามถ่ายรูปเพราะเป็นของผิดกฏหมาย แต่เขาก็ไม่ได้ขายแบบแอบซ่อนอะไร ของที่ผมถูกใจที่สุดสำหรับที่นี่เห็นจะเป็นมันเผา มันมีสองเนื้อ มันเผาเนื้อสีเหลืองนวลกินไปจะออกรสหวาน แต่มันเผาเนื้อสีม่วงกินไปจะมันๆ แต่ผมก็ชอบทั้งสองแบบ 


โชคดีที่เช้านี้อากาศดีมาก เรานั่งรถไปท่ามกลางอากาศสบายๆ ชมวิวทิวทัศน์ข้างทาง ที่เป็นท้องไร่ท้องนากับบ้านเรือนที่ปลูกกันเป็นกลุ่มๆดูน่าอบอุ่น ผ่านหมู่บ้านไปสองสามแห่งผมก็ขอให้พี่หลวงติ๊บจอดแวะที่วัดของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเตี้ยๆติดกับภูเขา หน้าวัดทางทิศตะวันออกมีหนองน้ำเล็กอยู่ข้างถนน พี่หลวงติ๊บจอดรถที่ศาลาริมทางข้างหนองน้ำนั้นแล้วผมก็เดินขึ้นไปดูวัด วัดนี้มีชื่อหน้าว่าวัดราชสัณฐานหลวงแต่ชื่อต่อท้ายว่าอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว มีลักษณะคล้ายวัดที่เราเคยแวะวัดแรกตอนผ่านเข้ามาในเขตเมืองลา วัดมีวิหารหลวงเป็นอาคารหลัก หลังคามุงกระเบื้องดินขอประดับด้วยเครื่องเคลือบตามสันที่ปั้นปูนปิดประกบ มีหลังคาคลุมระเบียงโดยรอบหลังคาระเบียงด้านทิศใต้ต่อชนกับหลังคาอาคารที่คิดว่าเป็นกุฏิใหญ่  ที่กลางด้านของหลังคาระเบียงด้านหน้าทำเป็นจั่วเปิดเอาไว้เหมือนเป็นมุขหน้าเล็กๆสำหรับเป็นทางเข้าไปในวิหาร ด้านหน้าวิหารเป็นลานเทพื้นคอนกรีตมีเจดีย์ขนาดย่อมสร้างอยู่ติดกับกำแพงแก้วตรงมุมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อีกฟากทางด้านหน้านี้มีหอสูงหลังคามุงกระเบื้องดินขอ ตัวหอก่ออิฐถือปูนขึ้นไปน่าจะใช้เป็นหอไตรมาก่อน แต่ตอนนี้อยู่ในสภาพไม่ได้ใช้งานแล้ว

อยู่ชมวัดได้ไม่นานน้องเมย์ก็ขึ้นมาตามให้เราไปต่อ ระหว่างทางผมนั่งหลับไปบ้างจนมาตื่นอีกทีก็ถึงปากทางเข้าวัดบ้านแสนแล้ว เห็นมีชาวบ้านและพระเณรกำลังวุ่นๆทำอะไรกันสักอย่าง และยังนั่งรถกระบะตามออกมากันอีกหลายรูป เมื่อเข้ามาตามทางลูกรังสักระยะพี่หลวงติ๊บจอดรถแวะเติมน้ำ เส้นทางต่อจากนี้คล้ายทางไปวัดหนองโหลง คือเป็นทางไต่คดเคี้ยวไปตามไหล่เขาด้านหนึ่งเป็นเนินเขาสูงขึ้นไปเหมือนกำแพงใหญ่ อีกด้านก็เป็นหุบเหวสูงชัน แต่ห่างจากปากทางเข้ามาไม่ไกลผมก็สัมผัสได้ถึงไอเย็นของผืนป่า เพราะเริ่มเข้าสู่เขตที่มีต้นไม้ใหญ่ ตรงนี้มีทางแยกแต่มันก็จะไปบรรจบกันที่หน้าวัดบ้านแง่ก




วัดบ้านแง่กตั้งอยู่ในมุมมองที่เรียบง่ายระหว่างซอกเขา วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมเขตด้วยแนวกำแพงในรูปครึ่งวงรี โดยปล่อยด้านทิศเหนือที่ประชิดเนินเขาเอาไว้  มีถนนที่ตัดเซาะเนินเขาผ่านแนวกำแพงวัดทางด้านทิศใต้ อาคารในวัดสร้างอย่างสัมพันธ์กันเริ่มจาก ลานใต้ต้นโพธิ์ที่อยู่นอกกำแพงวัดทางทิศตะวันออก ถัดจากกำแพงเข้ามาก็จะมีวิหารหลวงเป็นประธานของวัด ที่ผนังสกัดด้านหน้าตกแต่งด้วยลายจำหลักไม้ปิดทองบนพื้นแดง เป็นซุ้มโขงประตูทรงปราสาทสี่ชั้น บานประตูแกะเป็นรูปทวารบาลเกี่ยวกระหวัดด้วยลายช่อก้านขด รวมถึงลายประกอบอื่นๆที่จัดวางอย่างมีระเบียบแบบแผน แต่แฝงความเรียบง่ายและความเป็นท้องถิ่นไว้ในเนื้องานอย่างน่าดูชม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอประดับด้วยเครื่องเคลือบดินเผา เป็นช่อฟ้า บราลี เมฆตั้ง เมฆไหล ฯลฯ แม้จะผ่านการซ่อมแซมมาแล้วแต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวัสดุ ทำให้โดยรวมยังสวยงามกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ด้านข้างวิหารทางทิศเหนือมีชายคาเชื่อมกับอาคารโถงที่ยาวไปทางด้านหลัง น่าจะเป็นอาคารเอนกประสงค์ไว้สำหรับเลี้ยงพระหรือทำนองศาลาการเปรียญ ห่างจากวิหารมาอีกหน่อยเป็นอาคารทรงมณฑปหลังคาสองชั้น มองลอดช่องหน้าต่างเข้าไปก็แลเห็นว่าเป็นมณฑปคลุมพระธาตุเจดีย์ ด้านหลังวิหารเป็นหมู่กุฏิซึ่งจะลดระดับพื้นดินต่ำกว่าที่ตั้งของวิหาร ทั้งวัดเงียบเหงามากเห็นเณรเล่นเกมส์กดอยู่แค่รูปเดียว ตัววิหารก็ปิดล็อคไม่สามารถเข้าไปได้ น้องเมย์ทำท่าอยากจะเร่งเราให้ไปต่อ แต่เรายังอยากเดินไปดูทางด้านหลังวัด
 




ด้านหลังวัดเป็นลานโล่งๆมีหินก้อนเท่าหัวเด็กน้อยเป็นแนวออกไปจากวัด เดินไปจนสุดลานก็เป็นที่ทางลาดลงไป เปิดให้เห็นทิวทัศน์ของผืนป่าและหุบเขา ลมเย็นๆปะทะกับผิวหน้าทำให้รู้สึกสดชื่น ยังเห็นแนวหินเรียงไปทางซุ้มประตูที่ทำด้วยไม้ ทำให้นึกถึงประตูโทะริอิของญี่ปุ่นแต่ของที่นี่เรียบง่ายกว่ามาก มีเสาไม้ถากเป็นหัวเม็ดปักเป็นระเนียดข้างซุ้มประตูนั้นสองสามต้น แต่เห็นมีหักล้มขาดๆหายๆเป็นแนวไปด้วย พวกเราเดินลงไปอีกหน่อยก็เห็นมีบ้านปลูกอยู่บนที่แคบๆซึ่งถูกถากออกเป็นขั้นเล่นระดับกับไหล่เขา บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงหลังคามุงด้วยหญ้าคา ที่เฉลียงหน้ามีหลังคาคลุมแล้วมีชานแคบๆยื่นออกมา สำหรับกิจกรรมในครัวเรือนอย่างซักผ้า ตากผ้า เป็นต้น ผมยังเห็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่ด้านล่างจากตรงนี้ลงไป บ้านนั้นมีควันไฟลอยออกมาจากจั่วที่เปิดเป็นช่องเอาไว้ คงจะกำลังหุงหาอาหารกันอยู่ มีเด็กๆวิ่งเล่นกันที่ลานหน้าบ้านแลดูมีชีวิตชีวา แต่ผมไม่มีเวลาเดินลงไปดู คิดว่าถ้าเดินลงไปน่าจะมีให้เห็นอีกหลายหลังทีเดียว ผมเดินถ่ายรูปรอบๆแล้วล้อเล่นกับเด็กน้อยที่ออกมาด้อมๆมองๆอยู่ที่นอกชาน และแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องจากหมู่บ้านนี้ไป


บ้านแสนตั้งอยู่ลึกเข้ามาจากบ้านแง่กไม่ไกลนัก พอจะเดินถึงกันได้แบบ ๑ เมื่อย ตัววัดตั้งอยู่บนลานแคบๆบนไหล่เขาทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ข้างวัดด้านทิศใต้เป็นโซกหรือลำห้วยที่กั้นระหว่างพื้นที่หมู่บ้านและวัด ทางเข้าวัดถูกปรับพื้นที่เป็นลานโล่งไปยังข่วงโพธิ์หน้าวัด มีเนินสูงอยู่หน้าวัดผมเดินขึ้นไปบนเนินนั้นเพื่อจะถ่ายภาพจากมุมสูง ด้านบนถูกปรับพื้นที่เป็นลานพระธาตุที่สร้างขึ้นใหม่ หรืออาจจะบูรณะใหม่ บนนี้มีศาลาเล็กที่เด็กๆขึ้นมาดูโทรทัศน์กัน ผมได้ยินเขาเปิดทีวีเสียงดังลั่นเป็นเสียงเพลงภาษาอีสาน บนนี้มองเห็นวัดบ้านแสนได้ทั้งหมด เสียดายนิดหน่อยก็ตรงอาคารบริวารของวัดที่เปลี่ยนไปมุงสังกะสีเสียแล้ว 



หน้าวัดทางทิศตะวันออกมีถนนสายเล็กๆสำหรับเดินผ่านขึ้นไปทางเหนือ ชาวบ้านที่เดินผ่านไปผ่านมาจะยกมือไหว้ทุกครั้งที่ผ่านหน้าวัด มีแค่เด็กๆกับเณรน้อยที่วิ่งซุกซนอยู่แถวนี้อยู่แล้วเท่านั้นที่ไม่ได้สนใจทำ ตัววัดมีกำแพงอิฐล้อมรอบแบ่งเป็นลานสองระดับ ลานชั้นบนเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารส่วนพุทธาวาสซึ่งอยู่ตรงกลางของวัด วิหารหลวงซึ่งเป็นอาคารประธานนั้นสร้างอย่างวิจิตรบรรจง ที่ผนังสกัดด้านหน้าแกะสลักเป็นซุ้มประตูรูปปราสาท บานประตูสลักเป็นรูปทวารบาล ลวดลายประกอบอื่นๆก็แกะได้งดงามทำนองเดียวกันกับที่วัดบ้านแง่ก แต่สวยงามและใหญ่โตกว่า เสาขนาบประตูเอนสอบเข้าหากันเล็กน้อยเพื่อทำให้รูปด้านหน้าของวิหารโดดเด่น ด้านหน้าวิหารค่อนไปทางซ้ายมีอุโบสถโถงขนาดเล็กเหมือนอย่างศาลาแต่ไม่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่เลย ที่ลานด้านหน้าวิหารเป็นข่วงทรายแต่เทพื้นคอนกรีตเป็นทางเดินเอาไว้ มีลำไม้ไผ่ยาวๆแขวนตุงปักไว้ต้นหนึ่ง




ด้านในวิหารหลวงแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นหลายส่วน มีพระประธานประดิษฐานอยู่บนชุกชีค่อนไปทางด้านหลัง มีพระพุทธรูปอื่นๆประดิษฐานร่วมอยู่ด้วยอีกหลายองค์ ด้านหลังพระประธานมีห้องแคบๆ ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปและเจดีย์ขนาดเล็กๆ ด้านขวายกพื้นเป็นที่นั่งพระสงฆ์มีธรรมาสน์สองหลังที่หัวแถวใกล้กับพระประธาน หลังธรรมาสน์เป็นห้องที่สร้างต่อเติมออกไปจากวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง อาคารนี้ไม่ตั้งอยู่ในแนวแกนเดียวกับวิหารแต่เชื่อมต่อถึงกันโดยไม่มีผนังกั้น ข้างทิศเหนือหรือทางด้านซ้ายเป็นอาคารยาวๆไม่มีผนังกั้นแบ่งส่วนไปจากวิหาร น่าจะเป็นพื้นที่อเนกประสงค์เหมือนอาคารยาวที่วัดบ้านแง่ก ด้านข้างมีประตูและทางเดินมีหลังคาคลุมออกไปยังอาคารที่ปัจจุบันเป็นห้องเก็บของรกๆ เก็บพวกเครื่องดนตรีอย่างกลองยาว ฆ้อง ฉาบ เป็นต้น ด้านในแบ่งเป็นห้องเป็นพื้นที่ใช้สอยดูมีสัดส่วน น่าจะเคยถูกใช้เป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ ถัดไปก็มีอาการสร้างอย่างเดียวกันนี้อีกหลังหนึ่ง แต่อยู่ในระดับที่ต่ำลงมาทางด้านขวาของอาคารหลังแรก เมื่อเดินอ้อมทางหลังวิหารไปจะเห็นอาคารที่ใช้เป็นที่พำนักของพระสงฆ์สามเณร อาคารทางด้านทิศใต้ของวัดจัดเป็นสังฆาวาส ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับที่ตั้งของวิหารหลวง ผนังของเนินต่างระดับนั้นมีการก่อผนังลงเขื่อนเอาไว้อย่างดี มีบันไดกว้างๆใช้ขึ้นลงระหว่างลานด้านล่างกับลานด้านบนข้างหน้าวิหารหลวง

 


น้องเมย์เดินมาชวนผมไปดูหมู่บ้านของชาวบ้านแสน ผมเดินออกจากเขตกำแพงวัดทางประตูชั้นล่างซึ่งเป็นเขตสังฆาวาส เมื่อออกมาจะมีทางบันไดลงเนินไปยังสะพาน บันไดทำเป็นขั้นไม้กระดานตอกสลักเอาไว้ด้วยไม้ไผ่ ส่วนสะพานเป็นคอนกรีตสร้างอย่างมั่นคงถาวร เด็กๆที่เล่นกันอยู่แถวๆนั้นเห็นเรากำลังจะเดินไปที่หมู่บ้านจึงพากันเดินตามมา เมื่อพวกเราเดินข้ามสะพานที่ข้ามลำห้วยไปก็จะเป็นทางบันไดขึ้นเนินไปยังซุ้มประตูหมู่บ้านแบบเดียวกับที่เห็นที่บ้านแง่ก เมื่อเดินผ่านเข้าไปอีกหน่อยก็จะเห็นโรงเรือนขนาดใหญ่ ที่ใช้เป็นที่พักของชาวบ้านแสนนี้ ตัวเรือนสร้างเป็นอาคารยาวยกพื้นประมาณเมตรกว่าๆ ใต้ถุนมีไม้ฟืนกองไว้เป็นจำนวนมาก หน้าบ้านเป็นเฉลียงโล่งๆมีก๊อกน้ำที่ต่อขึ้นมาสำหรับใช้สอย ประตูเพื่อเข้าสู่ด้านในมีเฉลียวทำด้วยไม้ไผ่สานเอาไว้บอกว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว พวกเราถือวิสาสะเปิดประตูเพื่อดูด้านใน ด้านในนั้นมืดมากมองเห็นข้าวของด้านในได้ไม่ชัดเจน เห็นแต่ว่ามีกระบะและเครื่องใช้ที่ดูเหมือนจะเป็นเตาไฟสำหรับประกอบอาหาร จึงถ่ายรูปเอาไว้เพื่อนำออกมาดูทีหลัง พวกเราเดินลงมาตรงลานโล่งด้านหน้าเรือนซึ่งมีชาวบ้านจับกลุ่มนั่งคุยกันอยู่กลางแดด แดดบนนี้ไม่ร้อนเท่าไหร่นักอากาศก็ไม่อบอ้าว เด็กๆวิ่งเล่นกันเป็นที่สนุกสนาม สักพักเราก็เห็นเด็กผู้ชายวัยรุ่นสองคนวิ่งกลับเข้ามาในหมู่บ้าน พร้อมกับลาหรือล่อผมก็ไม่แน่ใจ มันบรรทุกของมาบนหลังด้วย พวกเราเดินกลับไปที่รถเพื่อนำของที่ซื้อมาไปมอบให้กับเด็กๆ พวกเราตะโกนเรียกเด็กๆที่อยู่ทางฟากของหมู่บ้านอยู่นานเพื่อให้ข้ามมารับของ แต่เด็กน้อยพวกนั้นกลับคิดว่าเราโบกมือลา เลยทำให้พวกเราต้องนำของเดินไปที่หมู่บ้านอีกครั้ง แต่พอเดินไปถึงที่กลางสะพานเด็กน้อยพวกนั้นก็วิ่งมาหาเราพอดี เด็กน้อยชายหญิงหลายสิบคนยืนอยู่ต่อหน้าเราที่กลางสะพาน บางคนอุ้มน้องตัวเล็กๆมาด้วย พวกเราบอกกับเขาว่าจะให้คนละอัน พวกเขาก็รับไปคนละอันไม่แย่งกันเลย ผมยื่นขนมอันหนึ่งให้เด็กผู้ชายที่ยืนอยู่ริมๆ เด็กน้อยคนนั้นชูสบู่ในมือให้ดูหมายความว่าเขาได้รับแล้ว 
พวกเรากลับออกมาจากวัดบ้านแสนด้วยความสุขใจ ไม่ใช้เพราะว่าการได้ให้ของใคร แต่เพราะได้เห็นความจริงใจของผู้รับที่น่ารักน่าเอ็นดู หนทางที่ดูทุรกันดารจึงไม่ทำให้เรานึกขยาดที่จะกลับมาที่นี่อีกครั้งถ้ามีโอกาส






 ระหว่างทางขากลับในช่วงบ่ายผมนั่งหลับมาบนรถจนลงเขา ผมเฝ้าสังเกตข้างทางเพื่อดูว่าใกล้จะถึงหมู่บ้านที่ผมเล็งเอาไว้ตอนไหนก็จะบอกให้พี่หลวงติ๊บจอดรถทันที พระอาทิตย์บนท้องฟ้าสีครามสาดแสงอ่อนลงเรื่อยๆ ทำให้วัตถุที่ถูกแสงแดดส่องกระทบในเวลานี้ดูสวยงามและชัดเจนกว่าตอนขาไปที่ปกคลุมไปด้วยหมอก ผมบอกให้พี่หลวงติ๊บจอดรถบนข้างทางตรงจุดที่ถนนกำลังเตรียมไว้สำหรับจะเรียงหินลาดยาง รถที่วิ่งไปวิ่งมาทำให้เกิดฝุ่นคลุ้งไปหมด แถวนั้นมีร้านค้าข้างทางด้วยแต่พี่หลวงติ๊บก็จอดรถเลยไปไกล ผมคว้ากล้องได้ก็รีบเดินย้อนกลับไปเพื่อหาทางเดินเข้าไปในหมู่บ้าน เพราะตรงที่พี่หลวงติ๊บจอดรถถึงแม้จะมองเห็นหมู่บ้านอยู่ข้างทางแต่ก็มีคูรกร้างขวางไว้ไม่สามารถเดินลัดเข้าไปได้ เดินย้อนกลับมาไม่ไกลนักผมก็เห็นทางที่ต้องเดินผ่านบ้านของเขาเข้าไป ผมไม่แน่ใจว่าเป็นทางสัญจรปกติหรือไม่ ตรงนั้นมีบ่อน้ำอยู่บ่อหนึ่งสังเกตแล้วสันนิษฐานว่าเป็นที่ชาวบ้านเขาใช้ได้ร่วมกัน อาจจะมาใช้ซักผ้ากันเป็นหลักเพราะเห็นมีเสื้อผ้าตากอยู่สอง-สามชุด ที่ปากบ่อมีที่หมุนทำด้วยไม้ไว้สำหรับหย่อนถังตักน้ำที่ผูกเชือกเอาไว้ลงไป ผมไปลองหมุนเล่นดูแล้วก็เดินต่อไป ผมเดินผ่านอาคารหลังหนึ่งที่เดาว่าเป็นยุ้งฉาง มีบ้านไม้หลังใหญ่ปลูกเป็นทรงยาวในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเป็นจั่วปิดมีชายคาคลุมมุงด้วยกระเบื้องดินขอ ส่วนใหญ่บ้านเรือนที่นี่จะหันหน้าเรือนลงใต้ หน้าเรือนมีทางขึ้นกับเฉลียงนั่งเล่นและใช้รับแขกได้ ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่เก็บของอย่างฟืน เป็นต้น ผมเห็นเรือนหลายหลังปลูกอยู่ในรูปแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ ผมเดินออกจากจากเขตบ้านหลังหนึ่งขึ้นมาทางประตูรั้วที่ทำด้วยไม้ไผ่สาน พื้นที่นอกรั้วอยู่สูงกว่าแลเห็นได้ถนัดว่าเป็นเนินเขา บนนี้มีทางเดินเป็นแยกลัดเลาะกันไปตามรั้วบ้านที่ทำด้วยไม้ไผ่หรือวัสดุง่ายๆทั่วไปในท้องถิ่น 




ตรงทางแยกของถนนที่เป็นสามแพร่งมีศาลาทำใหม่หลังเล็กๆเป็นที่ตั้งของซุ้มก่ออิฐฉาบปูนง่ายๆ วางดอกไม้และธูปเทียนเครื่องสักการะ แต่ดูไม่เลอะเทอะอย่างศาลเพียงตาที่เห็นในบ้านเรา ผมยกมือไหว้แล้วเดินออกมาทางทิศใต้ ไม่ไกลนักก็มาถึงลานซึ่งมีถนนหลักภายในหมู่บ้านตัดผ่าน ตรงนี้เป็นง่ามทางแยกสามแพร่งทางที่ผมเดินมาก็ตัดแยกมาจากตรงนี้ ต้นโพธิ์ต้นสูงใหญ่ส่งเสียงเกรียวกราวเมื่อต้องลม ใต้ต้นไม้มีศาลเล็กที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนคล้ายกับที่เจอมาแล้ว ผมเดินย้อนขึ้นเหนือไปตามถนนหลักซึ่งเป็นทางขึ้นไปบนเนิน สังเกตได้ว่าเป็นวัด และกำลังมีการเปิดวิทยุเหมือนจัดงานอะไร ผมนึกไม่อยากขึ้นไปรบกวนจึงเดินกลับลงมา บ้านที่อยู่ขนาบทางหลักด้านในนี้มีบางหลังที่ปลูกใหม่เป็นบ้านปูนสองชั้น ชาวบ้านในหมู่บ้านใช้ชีวิตกันไม่หวือหวา แต่ดูจะเงียบๆเกินไปเสียด้วยซ้ำ มีบ้านหลังหนึ่งที่ผมขอเขาเข้าไปเดินดูตรงลานบ้าน มีคุณน้าผู้หญิงที่กำลังนั่งทำเครื่องจักสานไม้ไผ่อยู่บริเวณใต้ถุนบ้าน ไม่ไกลก็มีเด็กน้อยเล่นอยู่แถวยุ้งฉาง นอกเหนือไปจากไก่แล้วคนที่นี่เขานิยมเลี้ยงหมูป่าไว้ด้วย ผมจึงเห็นมันเดินเพ่นพ่านอยู่ตามข้างถนน ผมเดินมาจนใกล้จะสุดเขตหมู่บ้านจึงเห็นว่ามีอนามัยเล็กๆ มีเก้าอี้นั่งรอตรวจสภาพเหมือนคลินิกตามบ้านนอก ถัดมาเป็นโรงเรียนซึ่งมีสนามหญ้ากว้างๆและก็หมูที่อยู่ในสนามหญ้านั้นอีกหลายตัว อาคารเรียนก่อสร้างง่ายๆด้วยอิฐบล็อค เป็นโรงเรือนขนาดเล็กมุงสังกะสี มีเสาธงอยู่หน้าโรงเรือนเป็นเอกลักษณ์บ่งบอกถึงความเป็นโรงเรียนเหมือนในประเทศไทย ถัดจากโรงเรียนออกมาฝั่งตรงข้ามทางด้านขวามือก็เป็นหนองน้ำ พวกเราเดินออกไปตามทางจนสุดหนองน้ำเส้นทางก็ไปบรรจบกับถนนใหญ่เส้นเดียวกับที่ผมบอกให้พี่หลวงติ๊บจอดรอ เราเดินย้อนกลับไปหน่อยพี่หลวงติ๊บก็ขับรถมาทางเราพอดี ผมสอบถามน้องเมย์เกี่ยวกับหมู่บ้านนี้ได้ความว่า ชื่อหมู่บ้านยางเก๋ง เป็นหมู่บ้านที่ทำเครื่องจักสานขาย




 เส้นทางต่อจากนี้ข้างทางก็เป็นท้องนาที่เริ่มมีกล้าปลูกกับทิวเขาที่อยู่ไกลๆ บรรยากาศยามเย็นที่นี่ในวันนี้ช่างสดใสจริงๆ
น้องเมย์ต้องไปยื่นเอกสารที่ตม.ก่อนจะพาเราไปส่งที่หอหลวงหรือโรงแรมนิงเชียงตุง เราขอให้น้องเมย์กลับไปพักที่บ้าน ซึ่งโชคดีที่เธอมีบ้านอยู่ในเชียงตุงทำให้เราได้ประหยัดเงินค่าที่พักในส่วนนี้ไปได้สองคืน เมื่อเราพักผ่อนและทำธุระส่วนตัวแล้วก็พากันออกไปกินข้าว โดยมีน้องเมย์กับพี่หลวงติ๊บมารับที่โรงแรมตามเวลานัด

.........................................








๒ มกราคม ๒๕๕๖ ผมไปเดินเที่ยวกันในกาดหลวงเมืองเชียงตุงกันแต่เช้า ไปหาซื้อทานาคาและก็ไปลองชิมโรตีโอ่งซึ่งทำให้เราติดอกติดอกติดใจกันมาก โรตีโอ่งเป็นโรตีที่ทำให้สุกด้วยวิธีการนำไปแปะที่ผนังโอ่งร้อนๆ แล้วนำมาทานกับครีมถั่วหรือนมข้นหวาน ผมถูกใจโรตีกับนมข้นหวานมากเป็นพิเศษ สามีภรรยาหนุ่มสาวที่เป็นเจ้าของร้านก็บริการลูกค้ากันอย่างขะมักเขม่น โดยเฉพาะพี่สาวผู้เป็นภรรยานั้นพูดจาไพเราะอ่อนหวานน่ารักมาก ส่วนผู้เป็นสามีที่ชงกาแฟอยู่ก็ยิ้มแย้มอย่างมีอัธยาศัยดี เมื่อกินโรตีโอ่งเสร็จเราก็เดินเล่นกันในตลาดอีกสักพัก และก็ขอให้น้องเมย์กลับไปก่อนเพราะว่าวันนี้เราไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวไกลๆ 
 

ช่วงสายๆเราออกจากโรงแรมมาเดินเล่นในเมือง เริ่มจากไปไหว้พระเจ้าหลวงในวิหารกลางวงเวียน หลังจากนั้นจึงเดินขึ้นไปตามทางซอยขึ้นไปบนดอยที่เป็นที่ตั้งของวัดจอมคำ วัดจอมคำเป็นวัดที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นที่สุดในเมืองเชียงตุง เพราะมีเจดีย์สีทองอร่ามขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเนินที่แลเห็นได้แต่ไกล ตัววัดมีอาณาเขตไม่กว้างขวางนัก หน้าวัดหันไปทางทิศตะวันออก มีวิหารหลวงอยู่หน้าเจดีย์ในแนวแกนเดียวกันทางทิศนี้ ภายในวิหารหลวงทำไว้กว้างขวาง สามารถจุผู้คนได้มากทีเดียว บนชุกชีมีพระประธานประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วปั้นปูนตามขอบที่เจาะเป็นช่องทรงกลีบบัวไว้ที่ผนัง มีอีกสองช่องที่ทำประดิษฐานพระพุทธรูปขนาบประธานแต่ขนาดเล็กกว่าหน่อย นอกจากนั้นก็มีพระพุทธรูปอีกจำวนมากประดิษฐานอยู่จนแน่นชุกชี ทำให้พระประธานดูไม่โดดเด่นนัก เราเจอไกด์ที่พาฟรั่งมาเที่ยวเลยถามทางไปวัดอิน เขาบอกทางแล้วเราจึงเดินลงจากเนินเขาไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางขรุขระลาดลงไป วัดอินอยู่บริเวณตีนดอยจอมคำทางทิศตะวันออก มองเห็นเจดีย์ทรงลังกาสีทององค์ใหญ่ได้แต่ไกล ระหว่างนี้ถนนรอบๆวัดอินกำลังทำการลาดยาง แต่กรรมวิธีต่างกันเพราะใช้รถบดและหินกรวดน่าจะเหมือนกับถนนลาดยางในเมืองไทยตอนนี้ 





 
ทางเข้าหลักของวัดอยู่ทางทิศใต้ วิหารซึ่งเป็นหลักของพุทธาวาสก็อยู่ทางทิศนี้ รูปร่างของวิหารคล้ายๆโบสถ์ของคาทอลิคอยู่เหมือนกัน เมื่อเราผ่านประตูที่สกัดหน้าเข้าไป ก็เจอกับกำแพงกั้นอีกชั้นหนึ่งด้านใน ที่กำแพงทำซุ้มประตูปั้นปูนประดับกระจกสวยงามทีเดียว เมื่อเราผ่านประตูนี้เข้าไปก็จะเป็นห้องโถงกว้างของวิหารหลวง เสาร่วมในนำสายตาไปสู่องค์พระประธานซึ่งประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบพม่า แสงแดดที่ส่องเข้ามาทางช่องหน้าต่างเหนือคอสองของเสาร่วมใน ทำให้ภาพภายในวิหารที่ผมได้เห็นขณะนั้นสวยงามจับตา 

ด้านหลังพระประธานมีสกัดหลังแบ่งห้องให้ด้านหลังไว้อีกส่วนหนึ่ง ห้องนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองจำนวนมาก แต่ละองค์ก็มีพุทธลักษณะชวนมองให้ดูได้ไม่เบื่อ และที่สำคัญมีเจดีย์ย่อมุมองค์ใหญ่อยู่ภายในวิหารนี้ด้วย ยอดนั้นสูงขึ้นไปตามความสูงของอกไก่ เจดีย์นี้มีทางให้เดินรอบได้และบริเวณทางแคบๆบริเวณฐานเจดีย์ ที่สกัดหลังพระประธานมีศิลาจารึกตั้งอยู่ในคูหาเล็กๆด้วย พื้นที่ใช้สอยคร่าวๆของวัดอินคล้ายกับวัดพระธาตุจอมทอง คือมีพระประธานประดิษฐานอยู่ค่อนไปทางท้ายวิหาร มีเสาร่วมในนำสายตาจากทางด้านหน้าเข้าไป ขวามือของพระประธานจะมีธรรมาสน์และมีอาสนะสงฆ์ที่ทำยกพื้นขึ้นยาวมาตามแนวเสาร่วมในทางด้านนี้ ลักษณะของวิหารที่มีการใช้สอยแบบนี้ผมเคยพบในล้านนา และวิหารร้างในโบราณสถานของภาคกลางของประเทศไทย

อากาศตอนเที่ยงในเมืองเชียงตุงไม่อบอ้าวถึงแม้ว่าจะมีแดดจัด พวกเราเดินกลับมาทางดอยจอมทองผ่านบ้านที่เขาตีมีดตีดาบจึงเข้าไปขอดู แล้วจึงกลับมาล้างหน้าล้างตาที่โรงแรม โรงแรมนิวเชียงตุงโดยรวมแล้วสะอาดบรรยากาศก็ดีพอสมควร มาพักแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายใจ อัธยาศัยของพนักงานโรงแรมก็ดีแต่เหมือนจะดูเกร็งกันเกินไปหน่อย 


ช่วงบ่ายๆเย็นๆเราออกเดินไปย่านประตูป่าแดง การที่ได้เดินไปเรื่อยๆแบบนี้ทำให้ผมได้สังเกตสภาพภูมิประเทศภายในเมืองเชียงตุงไปด้วย ที่ตั้งของเมืองเชียงตุงทำให้ผมนึกถึงบ้านเปียงหลวงที่เคยได้ไปเที่ยวมาเมื่อปีก่อน บ้านเปียงหลวงตั้งอยู่บนเนินเขา มีบ้านเรือนปลูกไล่เรียงกันไปตามถนนบนสันเขานั้น เมื่อมองจากหมู่บ้านบนเขาลูกนี้ ก็จะเห็นหมู่บ้านที่ปลูกอยู่บนเขาอีกลูกหนึ่งได้ ภาพบ้านเรือนที่ปลูกกันเป็นระดับบนไหล่เขา มีทางเล็กๆตัดเป็นซอยเข้าไปชวนให้เราเดินสำรวจได้อย่างเพลินๆ เชียงตุงก็เช่นกันแต่มีความซับซ้อนกว่าบ้านเปียงหลวงหลายเท่า ถึงแม้ความเป็นเมืองใหญ่ของเชียงตุงกำลังเติบโตขึ้นทุกวัน แต่ก็ยังนับว่ามีภาพของความเป็นเชียงตุงที่ถูกสั่งสมและค่อยๆเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาให้เห็น การที่บ้านเมืองค่อยๆเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างของเดิมกับสิ่งแปลกใหม่อย่างมีขั้นตอน ทั้งในเรื่องของวัสดุและวิธีคิด การได้มาเห็นมาเยือนเชียงตุงตลอดจนเมืองม้า เมืองลา บ้านหนองหลวง บ้านแง่ก บ้านแสน ทำให้ผมเข้าใจว่าที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวถ้าเรามีเวลาทำใจเสียก่อน การเปลี่ยนแปลงไปแบบฉับพลันทันทีนั้นต่างหากที่น่ากังวลใจ มันดูจะใจร้อนเกินไปทำอะไรมันก็ขัดแย้งกันได้ง่าย แต่การทำอะไรให้ได้เร็วอย่างใจเห็นจะเป็นที่นิยมของคนสมัยผมนี้จริงๆ



ประตูป่าแดงเป็นประตูหนึ่งของกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก ย่านนี้เป็นย่านการค้าที่คึกคักทีเดียว มีเรือนแถวร้านค้าเรียงรายกันไปสองข้างถนน รถราก็ดูคึกคักดี ผมเดินผ่านประตูป่าแดงออกไปทางนอกเมือง แถบนี้ผมจำได้ว่าเคยเห็นตึกแถวสวยๆเมื่อวันแรกๆที่มาเลยย้อนกลับมาดู ผมเห็นว่ามีสุเหร่าของชาวมุสลิม น่าจะมีประชากรที่เป็นมุสลิมอาศัยอยู่ในเชียงตุงหลายครัวเรือน เดิมทีผมจะหาวัดป่าแดงที่ควรจะอยู่แถวๆนี้ แต่เสียดายที่เราไม่ได้ดูแผนที่กันมาก่อนเลย ทำให้ไม่ค่อยรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนได้แต่เพียงเดินดูไปคร่าวๆเท่านั้น 

เราเดินกลับมาที่ประตูป่าแดงแล้วไปที่สุสานเจ้าฟ้าเชียงตุงก่อนจะเดินกลับไปทางโรงแรมแล้วเลยไปดูคุ้มซึ่งเป็นตึกทรงฝรั่งอยู่ใกล้ๆกับหอหลวง คุ้มนี้น่าจะเป็นที่พักของเชื้อพระวงศ์เชียงตุงมาแต่เดิม ในเขตกำแพงคุ้มมีคนมาอาศัยอยู่เพราะมีบ้านเรือนปลูกอยู่ต่างหาก ส่วนในอาคารหลังเล็กที่พ่วงอยู่กับตึกใหญ่ก็มีคนมาอาศัยอยู่ แต่ตัวตึกใหญ่ดูจะปล่อยร้างไว้ ตึกใหญ่นี้สร้างไว้น่าอยู่ทีเดียวตัวตึกเป็นแบบฝรั่งแต่หลังคาเป็นทำนองเรือนพื้นถิ่น มีเฉลียงที่ชั้นสองด้านทิศใต้ซึ่งเป็นทิศที่หันไปหาหอหลวง ตัวตึกแวดล้อมไปด้วยสวนที่ปลูกพรรณไม้ง่ายๆ แต่ก็ดูแลรักษาไว้ไม่ให้รกชัฏ 


พวกเราเดินขึ้นไปทางด้านหลังวัดพระธาตุจอมคำเพื่อจะไปดูพระอาทิตย์ตก แต่เสียดายที่ขอบฟ้าเมฆมากจนพระอาทิตย์ลับเข้ากลีบเมฆไปแล้ว พวกเราจึงหันมาสนใจเด็กผู้หญิงตัวน้อยสองพี่น้องที่คุณแม่พาออกมาเดินเล่นกันหน้าบ้านแทน 

...............................................


๓ มกราคม ๒๕๕๖ ผมอออกจากโรงแรมกันตั้งแต่ตีห้าครึ่งเดินไปที่ตลาดหลวง ฟ้ายังไม่สว่างดีและตลาดก็ยังไม่เปิด พ่อค้าแม่ค้ายังคงเตรียมร้านกันท่ามกลางความมืดรอบๆตลาด ที่ประตูทางเข้าตลาดประตูถูกปิดล็อคไว้ไม่สามารถเข้าไปได้ต้องรอเวลาเปิดตอนหกโมงตามเวลาพม่า หรือหกครึ่งตามเวลาไทย ซึ่งนับว่าค่อนข้างสายมากทีเดียว พวกเราจึงต้องเดินกลับไปที่โรงแรมเพื่อกินอาหารเช้าเสียก่อน
หลังจากมื้อเช้าเราก็กลับมาที่ตลาดและหาซื้อของที่อยากได้ให้หมด แล้วก็แวะไปกินโรตีโอ่งร้านเดิม เมื่อกินเสร็จพี่สาวใจดีก็มาพูดคุยด้วยไมตรีจิต สร้างความประทับใจให้เรายิ่งขึ้นไปอีก เมื่อออกจากตลาดเรารีบไปที่สุสานเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง ผมนำดอกไม้ที่ซื้อมาไปสักการะเจ้าฟ้าเป็นการลากลับ แล้วจึงรีบไปที่ท่ารถซึ่งอยู่แถวนั้นให้ทันเวลารถออกที่เราตกลงนัดกับน้องเมย์ไว้ แต่เมื่อไปถึงน้องเมย์กลับยังไม่มาและก็ไม่ได้เตรียมจองรถไว้ให้ เราจึงขอยืมโทรศัพท์ของพนักงานขายตั๋วรถ แล้วโทรไปตามน้องเมย์ให้น้องรีบมาจัดการเรื่องตั๋วรถให้

ระหว่างคอยเราจึงเดินย้อนกลับไปทางโรงเรม เพราะผมอยากจะเข้าไปถ่ายภาพคุ้มข้างๆหอหลวงนั้นอีกครั้ง
เรากลับมาถึงน้องเมย์ก็มาจองตั๋วรถเที่ยว ๙ โมงครึ่งให้ เราก็ไม่ค่อยชอบใจที่น้องผิดนัดแต่ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไร เมื่อเห็นยังพอมีเวลาเหลือจึงออกมาเดินเล่นไม่ไกลจากแถวนั้นอีก และสุดท้ายก็ถึงเวลาที่เราต้องจากลาเมืองเชียงตุงกลับสู่ประเทศไทย เส้นทางจากเชียงตุงไปสู่ท่าขี้เหล็กสวยงามน่าประทับใจ เป็นของขวัญปิดท้ายส่งเราเดินทางกลับบ้านด้วยความสุขใจ

การเดินทางมาเชียงตุงในครั้งนี้ บทสรุปของมันคือความเรียบง่าย วิถีชีวิตเดิมๆของคนที่นี่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเหมือนคนที่เติบโตไม่อาจหยุดนิ่ง ผมเสียเงินมาที่นี่ในตอนนี้ เหมือนได้ชื้อช่วงเวลาหนึ่งในเมืองเชียงตุงนี้เก็บไว้ เหมือนกับเก็บภาพของตัวเองตอนอายุ ๑๔ ปีเอาไว้  เพราะถ้ามันผ่านเลยไปแล้วผมก็คงไม่อาจจะอายุ ๑๔ ได้อีกหน ผมไม่รู้เลยว่าการพัฒนาในอนาคตจะเร่งให้เชียงตุงเปลี่ยนไปรวดเร็วแค่ไหน แม้แต่ผมเองที่เป็นนักท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน  

  














........................................................................................................................

ขอบคุณ
หนังสือ ทรรรศนะอุษาคเนย์ : ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ และผลงานการวิจัยต่างๆของอาจารย์






ไปตามหาสถานีรถไฟเชียงตุง (Kyaing Tong Butayon) ที่พม่า 
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=5680

ดาบเมืองหลูบเงิน และมีดหลูบเงิน หอกและอื่นๆ
http://www.konrakmeed.com/webboard/upload/index.php?showtopic=4975&st=270