วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จากโตเกียวถึงโควฟุ


สายลม ผืนป่า เปลวไฟ และขุนเขา












...
ชินะกาวะ, ประเทศญี่ปุ่น
วันเสาร์ที่ ๒๐ ตุลาคม ผมตื่นสายมากแล้วเพราะยังเมาค้าง สืบเนื่องจากดื่มสังสรรค์เมื่อวานหลังเลิกงานสัมนา เนื่องในงานของบริษัทที่ส่งตัวมาแบบเฉพาะกิจตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เมื่อเสร็จงานแล้วจากนี้ผมมีเวลาเที่ยวอยู่ในประเทศญี่ปุ่นอีกสามวันไม่รวมวันสุดท้ายที่ต้องเดินทางกลับ ที่จริงวันนี้ตั้งใจว่าตอนเช้าจะไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียวแต่ก็เป็นอันต้องล้มเลิกไป 
หลังจากเก็บของและออกจากโรงแรมตอน ๑๐.๐๐ น. ผมก็สะพายเป้เดินไปยังสถานีรถไฟชินากาวะ เพื่อจะไปยังสถานีรถไฟโตเกียว ต้องขอบคุณคุณพัน ที่มารับที่สนามบินและอธิบายทุกอย่างให้ผมเข้าใจวิธีการขึ้นรถไปได้ง่ายและได้ประโยชน์ดีมาก อย่างแรกก็คือการซื้อบัตร Suica ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินใช้ขึ้นรถไฟและรถเมล์ได้ จากนั้นก็ใช้แอ็พกูเกิ้ลแมพ ซึ่งอธิบายขั้นตอนต่างๆได้เข้าใจง่ายและประเมินราคาได้ด้วย

ที่แรกที่ผมตั้งใจก็คือพระราชวังหลวงแห่งกรุงโตเกียว หรือโควเคียว (Koukyo) ที่ประทับขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิและพระราชวงศ์ ผมลงรถไฟจากสถานีโตเกียวแล้วก็ลงไปหาล็อกเกอร์หยอดเหรียญฝากกระเป๋าที่หนักกว่า ๑๑ กิโลกรัมเอาไว้แล้วไปหาข้าวกิน ร้านข้าวที่ผมเลือกเป็นร้านข้าวที่หุงด้วยชีสมีเห็ดและไก่รสชาติแปลกๆ ราคาประมาณ ๑,๐๐๐ เยน (ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่าเอ็ง พันเย็นก็คือ เซ็งเอ็ง ...เซ็งเพราะมันไม่อร่อย) ออกจากสถานีก็พบว่าตัวอาคารของสถานีรถไฟโตเกียวนี้มันสวยงามมาก มีลานกว้างด้านหน้าทำให้รู้สึกโอ่อ่า อากาศวันนี้ก็เย็นสบายเลยทำให้อาการเมาค้างของผมลดลงไปมากพอสมควร


สะพานคู่ หรือนิจูวบาชิ (Nijuubashi)

สะพานเหล็กหรือเทคคิว (Tekkyou)

สะพานหิน เรียกว่าอิชิบาชิ (ishibashi)




จากสถานีรถไฟมีถนนตัดตรงไปยังทางเข้าพระราชวัง สองข้างทางปลูกต้นอิโฉว (ichou) เริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองแล้วบางต้น ละแวกนี้เงียบๆและสะอาดมาก ถนนหนทางเป็นระเบียบเรียบร้อย ผ่านดงตึกสูงเข้าไปก็ถึงคูน้ำชั้นแรกและมีปราการก่อด้วยหิน เป็นเขื่อนหินที่เรียนกันโดยไม่สอปูน เป็นเทคนิคทางสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมกับภูมิประเทศที่ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวเช่นนี้ ผ่านลานกว้างและข้ามถนนไปก็ถึงประตูสำหรับเข้าสู่สำนักพระราชวัง 

แผนผังของพระราชวังมีลักษณะยักเยื้องมาก ผมเองก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะญี่ปุ่นมาเลย รู้เพียงว่าที่นี่แต่เดิมที่นี่คือที่ตั้งของปราสาทเอโดะ ของรัฐบาลโทคุกาวะเมื่อครั้งรัฐบาลทหารลดทอนอำนาจของพระจักรพรรดิในเคียวโตะลงแล้วยึดครองจักรวรรดิญี่ปุ่นทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อประมาณร้อยห้าสิบปีก่อนพระจักรพรรดิได้อำนาจกลับคืนมาจึงเข้ามาฟื้นฟูปราสาทเอโดะนั้นขึ้นมาใหม่ และใช้เป็นพระราชวังมาจนถึงปัจจุบัน เอกลักษณ์ของพระราชวังแห่งนี้คือสวนที่ปลูกต้นไม้เต็มไปหมด เป็นไม้ยืนต้นใหญ่น้อยทอดตัวไปตามแนวปราการที่สร้างด้วยหิน อำพรางตัวพระราชวังไว้ภายในอย่างลึกลับ สิ่งที่เราได้เห็นคือหอสังเกตการณ์และประตูต่างๆผ่านสุมทุมพุ่มไม้แบบวับแวมๆ สร้างเสน่ห์ให้ผู้คนเข้ามาชื่นชมความงามที่ซ้อนเร้นนี้ 

มุมสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องไปชมก็คือสะพานคู่ หรือนิจูวบาชิ (Nijuubashi) ซึ่งจะเป็นทางเข้าไปสู่พระที่นั่งหลักของพระราชวังอิมพีเรียล หรือที่เรียกว่า คิวเด็น (Kyuden) สะพานแรกคือสะพานหิน เรียกว่าอิชิบาชิ (ishibashi) ทอดตัวจากทางทิศตะวันออกไปทางตะวันตกผ่านประตูวังเข้าไปยังสวนชั้นแรกแล้วต้องเลี้ยวขวาข้ามสะพานที่สองคือ สะพานเหล็กหรือเทคคิว (Tekkyou) ที่ทอดตัวให้เราเข้าไปจากทางทิศตะวันตก และจะเจอประตูที่ชื่อว่า นิชิโนะมารุ เก็งคังมง (Nishinomaru genkanmon) น่าจะแปลว่าประตูปราการด้านตะวันตก เมื่อผ่านประตูเข้าไปก็จะได้พบกับพระลานหน้าพระที่นั่งคิวเด็นที่เสด็จออกมหาสมาคมในวโรกาศต่างๆ




สถานีรถไฟโตเกียว

ผมเดินเล่นสักพักก็กลับมาทางประตูทางเข้าสำนักพระราชวังแล้วก็เดินกลับมาที่สถานีรถไฟเพื่อไปยังคาวากุฉิโคะ ตามคำบอกของกูเกิ้ลแมพบอกว่าผมต้องไปต่อรถไปที่โอซึคิ และกว่าผมจะไปถึงก็เกือบเย็นและฝนก็กำลังจะตก แต่เวลายังเหลือเลยคิดว่าน่าจะย้อนกลับไปอีกหนึ่งสถานีคือซารุฮะชิ 

ผมใช้เวลาเดินแบกสัมภาระจากสถานีรถไฟไปยังสะพานประมาณครึ่งชั่วโมงเศษ ฟ้าเริ่มครึ้มเพราะเมฆฝนที่ไล่หลังมาจากทางทิศตะวันตก ฤดูนี้ที่ญี่ปุ่นจะสว่างเร็วและมืดเร็วผมเดินมาถึงสะพานก็เห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสุดท้ายกลับออกไปพอดี หน้าทางเดินขึ้นสะพานมีศาลเจ้าเล็กๆทาสีแดงมีซุ้มโดรณะ สะพานนี้เป็นหนึ่งในสะพานสามสะพานโบราณสำคัญของญี่ปุ่น เป็นสะพานยกโดยใช้โครงสร้างไม้ยกซ้อนเหลื่อมต่อกันออกไปจากทั้งสองฝั่ง โดยเชื่อว่าสถาปนิกได้แรงบัลดาลใจมาจากการต่อตัวกันของฝูงลิงที่ต่อตัวกันเป็นสะพานข้ามหน้าผาไปนั่นเอง แต่ที่น่าทึ่งก็คือมันได้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมากว่าหนึ่งพันปีแล้ว แต่ยังคงรูปแบบเดิม มีการซ่อมแซมและใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน 

ผมมีเวลาถ่ายรูปอยู่ไม่นานนักเพราะฝนก็ตกลงมาในที่สุด แม้ไม่แรงมากแต่ก็ทำให้เปียกชุ่มไปจนผมเดินกลับไปจนเกือบถึงสถานีรถไฟแล้วฝนจึงหยุด ผมต่อรถไฟไปลงที่โอสึคิ แล้วรอรถขบวนที่จะต่อไปยังคาวากุฉิโคะ เจ้าหน้าที่เสนอหนทางที่จะไปได้เร็วขึ้นโดยรถไฟขบวนด่วนแต่ต้องเพิ่มเงินอีก ๔๐๐ เยน ซึ่งผมเลือกที่จะไปรถไฟธรรมดา และนั่นเองที่ทำให้ผมรู้ตัวว่าผมคิดผิด




ซารุฮะชิ สะพานลิง

ผมมาถึงสถานีรถไฟคาวากุฉิโคะตอนประมาณหกโมงครึ่ง แต่ที่นี่มืดแล้วและเงียบเชียบ ผมมองไม่เป็นฟุจิซังแต่ก็รู้ว่ามันต้องมีอยู่ในท้องฟ้าที่มืดมิดอยู่นั้นแน่ๆ ผมเข้าไปสอบถามถึงวิธีไปที่พัก เจ้าหน้าที่บอกว่าตอนนี้ไม่มีรถบัสแล้วต้องใช้แทคซี่อย่างเดียว ผมจึงเดินไปนั่งกินมื้อเย็นที่ร้านอาหารในสถานี ก่อนที่จะตัดสินใจเดินเท้าไปยังที่พักซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ ๓.๖ กิโลเมตร ผมเดินผ่านการนำทางของกูเกิ้ลแมพเข้าไปในซอยของหมู่บ้าน ซึ่งบ้านแต่ะละหลังออกแบบให้ดูกะทัดรัดดี ทำให้เราดูตัวใหญ่ขึ้นมานิดหนึ่ง 

ชาวบ้านที่นี่นิยมปลูกลูกท้อและมันก็ออกผลดกเต็มต้นไปหมด หน้าบ้านมักจะมีสวนเล็กๆที่เขาจัดไว้สวยงามส่วนมากมีสนดัด มีเมเปิ้ลด้วย แต่รั้วบ้านไม่ทำสูงเหมือนจะทำให้เรามองเข้าไปชมสวนได้ถนัด เวลานี้แม้ยังไม่ดึกมากแต่ถนนทางก็ค่อนข้างๆเงียบไม่ค่อยมีคนเดินออกมาจากบ้านเลย แต่จะได้ยินเสียงดังออกมาจากในบ้านและเปิดไฟจากในบ้าน แต่หน้าบ้านไม่ค่อยมีไฟถนนจึงค่อนข้างมืด เมื่อเดินมาถึงทะเลสาบกระเป๋าสัมภาระดูจะมีน้ำหนักมากขึ้นมาอีกซะอย่างนั้น อีกฟากของทะเลสาบเป็นโรงแรมหรูที่สามารถมองเห็นฟุจิซังโดยมีทะเลสาบเป็นเบื้องหน้าได้ถนัด ตอนนี้ที่นั่นยังเปิดไฟสว่างเรียงกันเป็นแถว ผมเดินขึ้นสะพานที่ตัดข้ามทะเลสาบไปยังทิศเหนือ อากาศเย็นขึ้นมากแถมตัวก็ชื้นเพราะปียกฝนมา ข้ามสะพานมาแล้วยิ่งมืดเข้าไปใหญ่นานๆจะมีรถขับผ่านสักคัน 

ผมเดินถึงที่พัก Den’s inn ก็ราวสามทุ่มเศษๆ เคาะประตูเรียกให้เขามาเปิดก็พบว่าเป็นคุณลุงท่านหนึ่งบอกว่า พนักงานต้อนรับกลับบ้านไปแล้วที่นี่เหลือแค่เขากับคุณป้าเท่านั้น และเขาก็เชิญให้เราขึ้นไปชั้นสอง ซึ่งพบว่าไม่มีแขกมาพักในวันนี้เลย ห้องที่มีเตียงสองชั้นสามชุดจึงมีผมนอนคนเดียวสบายๆ
........



คาวากุฉิโกะ, ประเทศญี่ปุ่น

ผมตื่นประมาณตีสี่ในบ้านอากาศอบอุ่นดี ผมลงมานั่งจิบน้ำอุ่นสักพักก็ออกจากที่พักไปตามทางที่เดินมาเมื่อคืน ตีห้าแล้วข้างนอกยิ่งมืดหนักกว่าเมื่อคืนและอากาศก็ค่อนข้างที่จะหนาว ที่จริงตรงข้ามที่พักของผมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังก็คือ Kawaguchiko Music Forest Museum แต่เวลานี้มองไม่เห็นอะไรด้านใน ผมข้ามทะเลสาบมาก็ฟ้าสางพอดี เดินเลาะทะเลสาบมาเห็นสวนสาธารณะที่มีใบไม้เปลี่ยนเป็นสีทองสวยงามมาก มีคนตกปลาตามชายฝั่งทะเลสาบหลายคน เวลานี้บรรยากาศที่เงียบสงบของที่นี่ดูน่ารื่นรมย์ 

ผมได้เห็นบ้านเรือนของผู้คนถนัดตาขึ้นบางหลังจัดสวนได้สวยและน่าอยู่ ผ่านโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งและแล้วผมก็พบฟุจิซังอยู่ที่ปากซอยอีกด้าน ในเวลานั้นมันดูตระหง่านตัดกับท้องฟ้าโปร่ง ผมรีบเดินไปที่สถานีเพราะใกล้เวลาที่รถไฟจะออกแล้ว แต่พอมาถึงสถานีก็ต้องหยุดถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเพราะสถานีในเวลานี้มีฟุจิซังอยู่เบื้องหลัง เป็นมุมมองที่น่าประทับใจสำหรับคนอย่างผมที่ได้เห็นฟุจิซังเป็นครั้งแรกในชีวิต ผมรีบวิ่งไปขึ้นรถไฟทันอย่างเฉียดฉิวและได้มีเวลามองฟุจิซังไปบนรถไฟอยู่สามสถานีก็ถึงชิโมโยชิดะ 

จากสถานีรถไฟที่จะไปยังศาลเจ้าชิโอะกามะสถานที่ที่เป็นที่นิยมสำหรับการชมฟุจิงซังได้อย่างวิเศษสุดแห่งหนึ่ง ผมรู้สึกเสียดายเหมือนกันที่มีเวลาน้อยเกินไปสำหรับทริปนี้ เพราะมารู้ทีหลังว่าศาลนี้เป็นศาลที่เกี่ยวข้องกับเกลือ สิ่งสำคัญอย่างในชีวิตมนุษย์ที่ขาดไม่ได้ เรื่องเกลือเป็นเรื่องน่าสนใจและมีผลสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ไปจนถึงก่อสงครามได้ แต่อย่างไรผมก็มัวแต่ตื่นตาตื่นใจกับฟูจิซังที่กระทบกับแสงแรกของวัน ทำให้มันค่อยๆถูกย้อมเป็นสีทองทีละนิด ผมรีบมุ่งหน้าขึ้นไปด้านบนจนผมลืมทุกอย่างไปเลย ผมสวนเห็นชาวบ้านละแวกนี้มาเดินวิ่งออกกำลังกายกันหลายคน ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ พวกเขาจะก้มหัวโค้งคำนับให้กับซุ้มโดรณะก่อนผ่านเข้าไปเสมอ และคำนับอีกครั้งเมื่อผ่านออกมาแล้ว ผมทำตามบ้างแล้วจึงเดินเข้าไปด้านในขึ้นไปตามทางที่แวดล้อมด้วยใบไม่ที่เปลี่ยนเป็นสีส้ม จนถึงซุ้มโดรณะแห่งที่สองซึ่งมีขนาดใหญ่และก็จะถึงตัวศาลเจ้าที่ยัเงียบเชียบอยู่ ผมหยุดชมดูฟุจิซังจากตรงนี้ก่อนจะขึ้นบันไดสูงนับร้อยขั้นต่อไปอีก เดินจนหอบกว่าจะถึงเจดีย์ชูวเรโตะ (Chuureito) หมายถึงเจดีย์แห่งดวงวิญญาณผู้ภักดี 





ที่ไหล่เขาด้านหลังเจดีย์มีคนขึ้นไปชมวิวและถ่ายรูปกันประมาณสิบกว่าคน มีทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ ทุกคนดูตระการตากับภาพที่อยู่ตรงหน้าและมีความสุขที่ได้เห็นมัน ฟุจิซังเป็นภูเขาไฟขนาดใหญ่บางฤดูกาลก็ไม่มีหิมะปกคลุมที่ปลายยอดจนเป็นภาพที่เราได้เห็นคุ้นตาตามภาพถ่าย และก็เป็นที่เล่าลือกันว่าเป็นภูเขาที่บางคนมาก็อาจไม่ได้เห็น เพราะว่าภูเขาลูกนี้สูงมากถ้าเมฆลอยต่ำภูเขาก็จะถูกบดบังไป ผมใช้เวลาอยู่บนนี้สักพักก็เดินกลับลงมา แต่ฟูจิซังก็ดึงความสนใจของผมอยู่ตลอดจนในที่สุดก็ลืมเดินไปดูศาลเจ้าซะอย่างนั้น ระหว่างทางเดินกลับผมเดินผ่านบ้านของชาวบ้านที่มีแปลงนาผืนเล็กๆ ปลูกสลับกับแปลงผักต่างๆกันไปเป็นแปลงๆ ชวนให้นึกถึงทฤษฎีเกษตรแบบผสมผสาน แปลงนาที่มีเนื้อที่ไม่ประมาณหนึ่งงานมีร้านแขวนข้าวที่เกี่ยวแล้วเอาไว้เหมือนเป็นข้าวที่รอสี 






ฟุจิซังมองผ่านซุ้มโดรณะของศาลเจ้าชิโอะกามะ

ผมกลับไปยังสถานีรถไฟคาวากุฉิโคะ แล้วนั่งรถบัสไปลงที่ Kawaguchigo Natural Leaving Center จากตรงนั้นจะมีทางเดินเล็กๆเลียบทะเลสาบ ผ่านทุ่งดอกไม้ธรรมชาติที่สวยงามย้อนกลับไปทางที่พักของผม จุดนี้ฟุจิซังดูสวยงามตัดกับฟ้าสีครามรองรับด้วยผืนน้ำ ผมเดินไปเรื่อยๆเจอคนญี่ปุ่นที่ออกมาถ่ายรูปฟุจิซังในวันที่ฟ้าปลอดโปร่ง ชาวต่างชาติที่มาดูแมลง และก็มีคนมาตกปลาและบนหมวกที่เขาใส่อยู่ขณะตกปลาจะติดใบขออนุญาตหรือรหัสอะไรสักอย่างเอาไว้ 

คาวากุฉิโกะหมายถึงปากน้ำตื้น น่าจะมาจากลักษณะภูมิประเทศที่มีลำน้ำไหลลงทะเลสาบอยู่ตรงไหนสักแห่ง แต่ตรงบริเวณที่ผมมาพักนี้จะอยู่ตรงข้ามกับฝั่งสถานีรถไฟซึ่งเป็นย่านที่เจริญกว่า ฝั่งนี้ยังมีสภาพเป็นไร่นาอยู่มาก เป็นที่ราบไม่กว้างนักล้อมรอบด้วยภูเขาสามด้านและทางด้านทิศใต้เป็นทะเลสาบ ผมกลับมาถึงที่พักตอน ๑๑ โมงกว่า ถึงจะเลยเวลาเช็คเอาท์แต่เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ผมสอบถามพนักงานต้อนรับว่าจะไปเมืองโควฟุอย่างไร เธอก็อธิบายเวลาและสถานที่ขึ้นรถให้ พอผมถามถึงศาลเจ้าอาซามะเธอก็บอกว่าที่นั่นเป็นสถานที่ที่ควรไปเพราะว่าเป็นที่ที่มีพลังดีให้ไปขอพร ส่วนสัมภาระให้ทิ้งไว้ก่อนและเอาจักรยานไปที่ศาลเจ้าได้เลย ผมทำตามที่เธอแนะนำเพราะจากที่พักไปยังศาลเจ้าก็ไม่ได้ไกลเท่าไร ผมมาถึงก็เห็นมีคนเดินเข้าออกมาจากทางเข้าเป็นระยะ สงสัยว่าศาลนี้ท่าทางจะศักดิ์สิทธิ์จริงถึงมีคนมาเยอะขนาดนี้




คำว่าฟุ ในภาษาปุ่นจะออกเสียงแค่ครึ่งเดียว ตอนที่ผมไปเมืองโควฟุ
ถ้าถามโคฟุแบบเต็มเสียงบางทีต้องพูดซ้ำอยู่เหมือนกันถึงจะเข้าใจกัน
ศาลเจ้าอาซามะ (Asamajinja) เป็นศาลที่เกี่ยวข้องกับฟุจิซังโดยตรง เพราะเทพองค์นี้คือเทพแห่งภูเขาไฟ จริงๆแล้วภูเขาไฟฟุจิซังนี้ก็เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ด้านบนยอดก็จะมีซุ้มโดรณะอยู่ด้วย คำว่าฟุจิ ซึ่งจริงๆแล้วอ่านว่า ฟุชิ (Fushi) นั้นมีความหมายว่าไม่ตายหรืออมตะนั่นเอง

ศาลจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่บนไหล่เขามีประตูทางเข้าเป็นเครื่องไม้โบราณขนาดกะทัดรัด มีห้องสองข้างสำหรับไว้รูปทวารบาลแต่งชุดแบบเป็นขุนนางญี่ปุ่นที่ในมือมีคันศร ถัดเข้าไปมีศาลคอกม้าไว้รูปม้าขาวอยู่ทางด้านซ้ายมือ ระเบียบของศาลเจ้าขนาดใหญ่แบบญี่ปุ่นนี้จะมีแบบแผนคล้ายๆกันคือ เมื่อผ่านประตูใหญ่เข้ามาแล้วจะมีลานกว้าง ถัดจากลานนี้มองไปจะเห็นหอกลางสำหรับทำพิธีกรรม หอกลางนี้จะวางตัวโดยใช้ความยาวของด้านแปขวางไว้ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยหยาบๆเป็นสามส่วนคือ ห้องกลางและห้องปีกซ้ายขาว ห้องกลางนี้จะเป็นห้องเปิดทะลุสามารถมองเข้าไปยังประตูศาลหลักหรือคล้ายๆกับหอแก้วที่ประดิษฐานรูปเคารพองค์เทพเจ้าได้แต่ประตูนี้จะไม่เปิดให้เราเห็นได้ง่ายๆ และที่หน้าห้องกลางนี้จะมีสายลั่นกระดิ่งสำหรับไว้ใช้ขอพร ที่พื้นจะวางกล่องสำหรับใช้โยนเหรียญลงไป และที่ศาลนี้โยนเหรียญลงไปแล้วเสียงดังไพเราะดีมาก ผมขึ้นไปขอพรแล้วเดินไปดูทางด้านข้างจึงเห็นว่าหอแก้วที่สถิตขององค์เทพนั้นถูกแยกส่วนออกมาจากหอกลางที่ทำพิธีกรรม คล้ายกับพระมหาธาตุของบ้านเราซึ่งจะถูกล้อมรอบด้วยระเบียงคด หอแก้วของศาลเจ้าญี่ปุ่นนี้ก็เช่นกันจะมีระเบียงคดที่ทำเรียบง่ายกว่าคล้ายๆจะเรียกเป็นทับเกษตรก็ได้ แต่ถูกล้อมรอบไว้ไม่ให้เราเข้าไปภายในได้เด็ดขาด ตัวหอแก้วตกแต่งมากกว่าที่อื่นมีการทาสีแดงและปิดทองบางส่วน โครงสร้างอาคารทั้งหมดถูกวางอยู่บนแท่นหินไม่ได้เอาเสาลงหลุมเหมือนบ้านเราแต่อย่างใด




หอกลางสำหรับประกอบพิธีกรรม ถ่ายจากลานด้านหน้า




ด้านในของหอกลางและระเบียงคดที่ล้อมรอบหอแก้วที่ทาด้วยสีแดง


ภายในบริเวณศาลเจ้าอาซามะ มีต้นสนยักษ์หลายต้นแผ่กิ่งก้านไปทั่วอาณาบริเวณ ที่ดูเหมือนจะโดดเด่นที่สุดก็คือต้นสนคู่ที่ถูกล้อมรั้วไว้อย่างดี ต้นของมันมีขนาดเท่ากันสูงระหงขึ้นไปจนดูเป็นคู่เคียงกันมาตั้งแต่เกิดจริงๆ ดูจากขนาดแล้วคงไม่ต่ำกว่าร้อยหรือสองร้อยปีทีเดียว ผมซื้อเครื่องรางของศาลเจ้านี้มาสองอันเพื่อเป็นของฝากและก็รีบกลับไปที่ที่พักเพื่อเตรียมเดินทางต่อ

จุดขึ้นรถบัสของผมอยู่ไม่ไกลจาก 7-11 ผมเลยซื้อซาลาเปามากินเป็นมื้อเที่ยงแต่ไม่ทันได้กินรถก็มาพอดี พอขึ้นรถปุ๊บผมก็เตรียมจะเอาซาลาเปาเข้าปากคนขับรถเห็นก็ประกาศออกไมค์มาเตือนเลยว่าห้ามกิน ผมเลยรีบขอโทษแล้วยัดมันเข้ากระเป๋าไป รถบัสที่นี่ก็
สามารถแตะบัตร Suica ได้เลยถ้าเงินในบัตรไม่พอก็ไปหยอดเพิ่มตอนลงรถได้สะดวกสบายมาก ผมขึ้นมาบนรถไม่ถึง ๑๐ นาทีก็หลับไปไม่ได้ดูวิวทิวทัศน์อะไรเลย ชั่วโมงเดียวผมก็มาถึงหน้าสถานีอิซาวะอนเซน ต่อไปอีกหน่อยก็ถึงป้ายหน้าทางเข้าโรงแรม ประมาณบ่ายสองโมงผมก็เข้าที่พักไปนอนพักให้หายเหนื่อย โรงแรมที่ผมพักชื่อ Crown Palace ซึ่งเป็นโรงแรมที่อยู่กลางๆระหว่างย่านตัวเมืองกับที่เที่ยว จากห้อผมชะโงกไปนอกหน้าต่างยังมองเห็นยอดฟุจิซังได้




สนยักษ์ในอาณาบริเวณศาลเทพอาซามะ

 .....

โควฟุ, ประเทศญี่ปุ่น
เมืองโควฟุเป็นเมืองที่อาจารย์หนุ่ม ธนกฤต แนะนำให้ผมมาสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งวัด ไคเซ็นโควจิ ซึ่งเมืองนี้อยู่ในเขตจังหวัดยามานาชิ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบในหุบเขา ซึ่งปรากฏห้อมล้อมอยู่ทั้งสี่ด้าน ด้านทิศใต้สามารถมองเห็นยอดของฟุจิซังได้อย่างชัดเจน มีแม่น้ำสำคัญสองสายไหลผ่านคือแม่น้ำคามานาชิ ไหลมากจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ และแม่น้ำฟุเอะฟุคิไหลมาจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำสองสายนี้ไหลโอบล้อมเมืองโควฟุและบรรจบกันทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เกิดเป็นแม่น้ำฟุชิ แม่น้ำแห่งฟุจิซัง บนที่ราบผืนนี้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมายาวนานแล้ว ในสมัยนาระพระจักรพรรดิทรงมีราชโองการให้สร้างวัดแห่งโควชูว () ขึ้นเมื่อราวๆปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๓ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีก่อน ตัวเมืองแรกเริ่มตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำฟุเอะฟุคิ เข้าใจว่าคำว่าโคว () นี้มีความหมายถึงเกราะป้องกันหรือกระดองแสดงถึงการเป็นเมืองป้องกันสำหรับนครหลวงนาระในสมัยนั้นนั่นเอง ต่อมาคำว่าโควตัวเดียวถูกเพิ่มตัวอักษรขึ้นอีก ๑ ตัว แต่อ่านว่าไคคำเดียว 甲斐 มีความหมายถึงเมืองที่เจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าเป็นแบบไทยๆน่าจะประมาณว่าเมืองกฤษฎา มีศูนย์กลางปกครองช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อยู่ตรงบริเวณศาลเจ้าทาเคะดะ โดยเจ้าเมืองที่มีตำแหน่งไดเมียวของตระกูลทาเคะดะ ในยุคสมัยที่ญี่ปุ่นอาณาจักรถูกแบ่งแยกออกเป็นรัฐอิสระมากมาย






วิหารหลวงวัดโทโคจิ

ตอนประมาณบ่ายสามโมงกว่าๆผมเดินเท้าออกจากโรงแรมไปยังวัดโทโคจิ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างอย่างสวยงามในสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม มีการจัดสวนที่สวยงามมากเพียงแต่วันนี้ทางวัดจัดงานศพจึงทำให้ผมต้องรีบถอกออกมาเพื่อไม่ให้เป็นการเสียมารยาทจนเกินไป และผมก็มาถึงวัดไคเซนโคจิตอนประมาณสี่โมงครึ่ง วันนี้มีคนมาเที่ยววัดไม่ขาดสายแต่ก็ไม่พลุกล่านนัก ผมแวะไปซื้อไอศกรีมที่ร้านขายของฝากมากินและนั่งชมวัดแบบสบายๆ เพราะวันนี้อากาศดีและแดดก็อ่อนลงมากแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่มืดเร็วมากแค่ห้าโมงครึ่งฟ้าก็มืดแล้ว 

วัดนี้มีสถาปัตยกรรมที่ใหญ่โตและโดดเด่นมาก โดยเฉพาะอาคารพระวิหารหลวงที่มีลักษณะอาคารแบบตรีมุข ตัววัดหันหน้าไปทางทิศใต้โดยมีเทือกเขาสูงทอดตัวอยู่ทางด้านหลัง มีประตูซันมงเป็นทางเข้าหลัก แผนผังของวัดญี่ปุ่นนั้นมักจะเรียงไปในแนวยาว โดยประกอบด้วยทางเข้าหลักหรือประตูซันมงเป็นประตูในลักษณะที่มีอาคารอยู่ด้านบนเหนือช่องประตูทางเข้า ถ้าแบบบ้านเราก็จะคล้ายๆประตูชุมพลของเมืองโคราชแต่ของญี่ปุ่นจะไม่นิยมสร้างกำแพงกั้นขวางแต่อย่างใด ด้านข้างของช่องประตูซ้ายขวาจะเป็นห้องสำหรับไว้รูปเทพทวารบาลในลักษณะดุดันแสดงท่วงท่าขึงขัง ซันมงแปลว่าประตูเขา ซึ่งเข้าใจว่าแต่เดิมตัววัดตั้งอยู่บนเขาเมื่อเดินเข้าวัดจึงต้องเดินผ่านเข้าประตูเขาเข้าไป ส่วนประกอบที่สองคือทางดำเนินที่ทอดยาวเข้าไปยังตัววัด ซึ่งจะอยู่ในแนวแกนเดียวกัน ทางเดินนี้จะปลูกต้นไม้เรียงรายสองข้างทางไปจนถึงลานด้านหน้าวิหารหลวง สำหรับบางวัดจะมีประตูอีกชั้นหนึ่งก่อนเข้าสู่ลานนี้ด้วย และก็จะมีหอระฆังหรือเจดีย์แต่มักไม่ค่อยอยู่ในผังแบบตายตัว รอบๆลานนั้นก็จะมีการจัดสวนอย่างสวยงาม สำหรับตัวพระวิหารหลวงจะเป็นศูนย์กลางของวัด เข้าใจว่าดั้งเดิมคงใช้รูปแบบเดียวกับท้องพระโรงในพระราชวัง คือเป็นอาคารวางตัวในแนวขวางโดยเอาด้านแปเป็นทางเข้า แบบเดียวกับพระที่นั่งทั้งหลายในอิทธิพลจีน แต่วัดไคเซ็นโคจิน่าจะถูกประยุกต์ให้เป็นแบบญี่ปุ่นแล้ว โดยออกแบบอาคารให้ให้มีมุขยื่นออกมาด้านหน้าเป็นมุขหลักแต่มีขนาดใหญ่สำหรับใช้โถงหน้าแบ่งพื้นที่ออกมาจากส่วนของโถงหลักแต่ก็สามารถมองผ่านเข้าไปยังแท่นประดิษฐานได้ โถงหลักของวิหารหลวงยังคงขนบของอาคารแบบดั้งเดิมคือเป็นห้องโถงที่แสดงด้านแป ถ้าจะเข้าไปในส่วนนี้ต้องเสียค่าเข้าชม ๕๐๐ เยน 




ประตูซันมงแห่งหัวไคเซ็นโคจิ



วิหารหลวงแห่งวัดไคเซ็นโคจิ อาคารไม้โบราณที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นตะวันออก

ผมพยายามสื่อสารว่าอยากจะเข้าไปสัมผัสแม่กุญแจที่เก็บรักษารูปพระอมิตาภะ คุณป้าเจ้าหน้าที่ก็ยื่นคู่มือมาให้และหลวงพ่อก็พาผมเข้าไปยังด้านในห้องโถงหลัก โถงหลักนี้เป็นที่ตั้งของแท่นประดิษฐานรูปเคารพสำคัญที่เก็บรักษาไว้ด้านใน คล้ายกับบุษบกที่มีประตูปิดไว้และมีกำหนดเปิดในรอบหลายๆปีตามธรรมเนียมของแต่ละวัดซึ่งเป็นประเพณีนิยมของวัดในญี่ปุ่น แท่นประดิษฐานของวัดนี้ใหญ่โตมากและปิดทองอร่าม มีเครื่องบูชาตั้งเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ บนเพดานมีระย้าสีทองขนาดใหญ่ห้อยอยู่ ต้นเสาขนาดใหญ่ด้านในนี้ปิดทองทึบทั้งต้น หลวงพ่อพาผมไปยืนตรงจุดที่จะฟังเสียงมังกรคำราม ซึ่งอยู่บนลานทางเดินด้านทิศตะวันตกของหอกลางนี้ เมื่อยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออกแหงนมองเพดานจะเห็นภาพเขียนรูปมังกรอยู่ด้านบน เมื่อปรบมือก็จะเป็นเสียงสะท้านก้องเหมือนได้ยินเสียงมังกรคำรามนั้นเอง 

เสร็จแล้วผมก็เดินเวียนขวา (ทักษิณาวัตร) ไปทางด้านหลังห้องแท่นประดิษฐานด้านในนี้มีรูปสลักไม้เขียนสีล้ำค่าหลายรูป อาทิเช่น รูปอดีตเจ้าอาวาส รูปพระโพธิสัตว์ เป็นต้น และด้านในที่กึ่งกลางห้องจะมีทางลงไปใต้แท่นประดิษฐานรูปเคารพ ข้างใต้นั้นมืดสนิทเราจะต้องเอามือซ้ายสัมผัสกำแพงเดินไปทาง ซึ่งตอนที่ลงไปนั้นมีผมคนเดียวและมันก็น่ากลัวมาก แต่เราต้องเชื่อมั่นว่าสถานที่นี้คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และพระอมิตาภะจะคุ้มครอง คลำๆและเดินไปสักพักผมก็ได้เจอกับแม่กุญแจที่เก็บรักษารูปพระอมิตาภะ หรืออะมิดะเนียวไรอันศักดิ์สิทธิ์และสำคัญสูงสุดของวัดไคเซ็นโคจิ เมื่ออธิษฐานแล้วก็เดินผ่านความมืดออกมายัทางออกจุดเดิม ซึ่งทางเดินนี้ได้รับการออกแบบจากตัวอักษรคันจิ โคโคโระ () ซึ่งแปลว่าใจ




วัดไคเซ็นโคจิ จริงๆคือวัดเซ็นโค (จิ แปลว่าวัด) หมายถึงวัดแสงแห่งกุศล (善光寺) ตามประวัติคือวัดนี้ถูกสร้างขึ้นโดยไดเมียวคนสำคัญคือ ทาเคดะ ชินเก็น เจ้าเมืองไคที่มีประวัติโดดเด่นมากคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ท่านชินเก็นทำสงครามต่อต้านศัตรูทางด้านเหนือคือ อุเอสุกิ เค็นชิน แห่ง เอฉิโกะ ที่จะผ่านเข้ามาทาง นากาโนะ และด้วยความที่ท่านเกรงว่าวัดเซ็นโคจิแห่งนากาโนะ จะถูกทำลายไปด้วยภัยสงคราม จึงมีคำสั่งให้นำเอารูปเคารพศักดิ์สิทธิ์จากวัดนั้นย้ายมารักษาไว้ในเมืองไค และสร้างวัดขึ้นใหม่และตั้งชื่อตามชื่อวัดเดิมว่าเซ็นโคจิ แต่เพิ่มเติมคำว่าไคเอาไว้ภายหลังเพื่อไม่ให้สับสนกับวัดเซ็นโคจิที่นากาโนะ รูปเคารพศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นสมบัติล้ำค่าในตำนานของญี่ปุ่น เพราะถูกกล่าวอ้างให้เป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่สร้างขึ้นในอินเดียและผ่านเข้ามาที่เกาหลีก่อนจะมาถึงประเทศญี่ปุ่น คล้ายกับตำนานพระพุทธสิหิงค์ในบ้านเราเพียงแต่พระพุทธรูปที่ถูกอ้างถึงในตำนานของญี่ปุ่นนั้นเป็นรูปพระอมิตาภะพร้อมด้วยพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระเมไตรยะทำด้วยทองคำ ปัจจุบันวัดเซ็นโคจิที่นากาโนะ อ้างว่ารูปพระเคารพนั้นได้ถูกย้ายกลับไปที่นั่นอันเป็นวัดแรกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษารูปเคารพนี้ อย่างไรก็ดีที่ประดิษฐานของรูปเคารพนี้จริงๆก็ยังค่อนข้างไม่ชัดเจนนักเพราะตามข้อมูลที่ค้นได้ระบุว่า พระพุทธรูปองค์นี้จะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะชนเด็ดขาด  จริงๆแล้วตัวอาคารของวัดไคเซ็นโคจินี้หลังจากถูกสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ก็ถูกไฟไหม้เสียหายอย่างหนักในอีก ๒๐๐ ปีถัดมา ตัวอาคารที่เห็นจึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ โดยใช้เวลาสร้างถึง ๓๑ ปีจึงแล้วเสร็จ และเป็นอาคารโบราณที่สร้างด้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นฝั่งตะวันออก ซึ่งถูกประกาศให้เป็นอาคารที่เป็นสมบัติสำคัญของชาติด้วย

ผมออกมาจากวิหารหลวงในเวลาประมาณห้าโมงเย็น ซึ่งแสดงแดดก็อ่อนลงมากแล้ว ผมเดินถ่ายรูปเล่นอยู่สักพักก็ออกมาจากวัดและไปรอกินซุชิที่ร้าน สุชิมะสะที่ไม่ไกลออกมามากนัก ระหว่างที่เดินกลับโรงแรมตอนหกโมงเย็นนั้นฟ้าก็มืดสนิทแล้ว แถมในในซอยที่ลัดเลาะไปตามอาคารบ้านเรือนก็ค่อนข้างเงียบมาก






ตัวอย่างของรูปพระอมิตาภะพร้อมด้วยพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระเมไตรยะทำด้วยทองคำ
ภาพนี้เป็นของวัดไคเซ็นโคจิ

.....


วันจันทร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ผมออกจากที่พักตอนประมาณหกโมงครึ่งซึ่งฟ้าก็สว่างแล้ว ผมเดินไปขึ้นรถไฟที่สถานี สะคาโอริ เพื่อไปลงที่สถานี คะสึนุมะบุโดเคียว สถานีนี้ตั้งอยู่บนไหล่เขาทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอ่งโควฟุ เป็นหมู่บ้านสวนองุ่นที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่สวนองุ่นอยู่ตามไหล่เขานั้นเต็มไปหมด หน้านี้เป็นหน้าที่องุ่นเพิ่งจะวายไปเถาเลยค่อนข้างเฉาลงไปมากแล้ว ผมเดินลงจากเขามุ่งหน้าไปทางทิศใต้เพื่อไปยังวัดไดเซ็นจิ จากสถานีไปก็ประมาณ ๓ กิโลเมตร แต่เดินขางลงก็พอทำเนาพอนึกไปถึงขากลับต้องเดินขึ้นเขาก็มีหวั่นใจเหมือนกัน ระหว่างทางมีบ้านเรือนสลับไปกับร้านปลูกองุ่นตลอดทาง อากาศก็เย็นสบายมากทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยเพียงแต่เริ่มปวดขาขึ้นมาบ้างเหมือนกัน เมื่อเลี้ยวซ้ายเดินขึ้นเขาไปทางปลายเขาด้านทิศใต้ ย่านนี้เป็นถนนที่มีรถคึกคักข้างทางมีบ้านเรือนสวยๆแบบญี่ปุ่นหลายหลัง มีบางบ้านเปิดเป็นร้านขายองุ่นและไวน์ แต่ตอนนี้ยังเช้าจึงยังเงียบอยู่ 

เวลาประมาณ ๘.๓๐ น. ในที่สุดผมก็มาถึงวัดไดเซ็นจิ (大善寺) ความหมายประมาณว่าวัดมหากุศล วัดนี้ตั้งอยู่ในตำบลโควชูว เป็นวัดภูเขามีหอประตูซัมมงอยู่ทางทิศใต้ซึ่งเป็นบันไดทางขึ้นสู่วัด ประตูซัมมงนี้เป็นประตูไม้ไม่ได้ทาสีจึงมีความเข้มขลังอย่างมาก ตามเสาและขื่อคานไปจนถึงเพดานมักจะมีแผ่นกระดาษเขียนตัวอักษรคันจิแปะอยู่เต็มไปหมด ด้านซ้ายมือของประตูมีบันไดสำหรับใช้ขึ้นไปยังห้องด้านบนได้ ที่ห้องทั้งสองข้างของช่องประตูไว้รูปเทพทวารบาลแกะสลักจากไม้ต้นใหญ่ ท่วงทีของรูปสลักดูขึงขังน่าชมมาก ถัดจากประตูเป็นขึ้นไปเป็นบันไดทอดตัวขึ้นไปบนเขา ที่สุดบันไดมีอาคารหลังหนึ่งสร้างคร่อมทางขึ้นอยู่ เมื่อลอดอาคารนี้ไปแล้วก็จะเป็นลานกว้างหน้าวิหารหลวง 

วิหารหลวงเป็นอาคารไม้ขนาดใหญ่มีชื่อว่าวิหารยาคุชิ เป็นอาคารไม้แบบหันด้านแบบตามประเพณีแต่ไม่ทำมุขหรือจั่วคือเป็นหลังคาลาดโดยตลอด มีบันทึกว่าถูกสร้างขึ้นใหม่บนวิหารเดิม ในยุคสมัยคามาคุระ ซึ่งนับได้ว่าอาคารหลังนี้มีอายุมากว่า ๗๐๐ ปีแล้ว การออกแบบลานด้านหน้าและการรักษาพื้นที่ไหล่เขาด้านหลังไว้อย่างดี ทำให้ช่วยขับความงามของรูปทรงที่เรียบสง่าของอาคารหลังนี้ให้ต้องหยุดชื่นชมอย่างน่าประทับใจ สถาปนิกเข้าใจความหมายของพื้นที่ว่างและแต่งเติมมันด้วยความงามของธรรมชาติ ผมเดินไปทางไหล่เขาทางทิศตะวันออกขอวัด บนนั้นมีอาคารหลังหนึ่งเป็นที่เก็บรักษารูปเคารพบุคคลและรูปเคารพโบราณอื่นๆ ผมมองผ่านกระจกมัวๆเข้าไปก็ได้เห็นชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินสลักที่ดูมีอายุเก่าแก่อยู่บนชั้นวางด้วย ประมาณ ๗ โมงก็มีคุณป้าเข้ามาเปิดวิหารหลวงผมจึงได้เข้าไปโดยเสียค่าเข้าชมด้านในอาคาร ๕๐๐ เยน แต่มีป้ายห้ามถ่ายภาพแสดงอยู่ชัดเจน




ประตูซันมงแห่งวัดไดเซ็นจิ



วิหารหลวงยาคุชิ




อาคารไม้อายุกว่า ๗๐๐ ปีของวิหารยาคุชิ ที่เก็บรักษารูปพระไภษัทถือพวงองุ่น

ด้านในอาคารนี้เป็นที่ประดิษฐานบุษบกทรงอาคารจำลองซึ่งเป็นที่เก็บรักษารูปเคารพสำคัญของวัดแห่งนี้ ซึ่งก็คือรูปพระไภษัทชยคุรุไวฑูรยประภา หรือยาคุชิเนียวไร ซึ่งเป็นรูปไม้แกะสลักปิดทอง แต่มีลักษณะพิเศษกว่าที่อื่นคือ รูปพระไภษัทฯองค์นี้ถือพวงองุ่นไว้ในพระหัตถ์แทนบาตรยาหรือลูกสมอตามลักษณะปกติ ถูกสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว รวมถึงรูปเคารพบริวารซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์สององค์มีขนาดใหญ่เท่าๆตัวคนที่ตั้งอยู่ด้านข้างบุษบก และรูป ๑๒ เทพสวรรค์ที่ล้วนแล้วแต่สวยงามมากๆ เสียดายที่เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงครบรอบ ๔ ปีพอดีที่จะเปิดให้ผู้คนได้เห็นองค์พระและขอพรกัน ตอนนี้จึงมีเพียงรูปถ่ายมาวางไว้ด้านหน้าประตูบุษบกมาวางไว้เท่านั้น 

เล่ากันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถูกสร้างขึ้นตามตำนานของวัดที่ท่านเจ้าอาวาสนามว่า เกียวคิ ได้พบพระไภษัทฯซึ่งปรากฏองค์ให้ท่านได้เห็นโดยมีพวงองุ่นอยู่ในพระหัตถ์ แต่อย่างไรก็ดีวัดนี้ก็มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ แสดงหลักฐานไว้อย่างชัดเจนว่า พระจักรพรรดิโชวมุ ทรงพระราชทานนามวัดไดเซ็นจิให้ในสมัยเจ้าอาวาสเกียวคิผู้สร้างวัดนี้ ในปี พ.ศ. ๑๒๖๑ จึงเป็นที่น่าภูมิใจของคนในตำบลโควชู ที่ทำสวนองุ่นและผลิตไวน์ ทั้งยังมีปูชนียวัตถุที่เกี่ยวข้องกับปากท้องเป็นขวัญกำลังใจรักษาเอาได้อย่างน่าภาคภูมิ















ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงวัดนี้เอาไว้ด้วยว่า ในสมัยคามาคุระวัดนี้เคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก มีสิ่งปลูกสร้างมากกว่า ๕๐ อาคารและมีพระภิกษุอยู่มากกว่า ๓,๐๐๐ รูป แต่เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจึงทำให้หลงเหลืออาคารโบราณอยู่ไม่มากนัก ต้องพูดถึงเรื่องตระกูลทาเคะดะ ตระกูลไดเมียวของเมืองไคสักหน่อย เพราะมีบุคคลในตระกูลนี้เกี่ยวข้องกับวัดนี้อยู่ด้วยเช่นกัน หลังจากการอสัญกรรมของทาเคะดะ ชินเก็น บุตรชายของเขานามว่า คะสีโยริ ก็ได้เป็นผู้นำของตระกูล แต่แล้วในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ตระกูลทาเคะดะก็ไม่อาจต้านทานอำนาจการรุกรานของ โอดะ นุบุนากะ และ โทคุกาวะ อิเอะยาสุ ได้ ทำให้ตระกูลทาเคะดะถูกกำจัด พวกเขาถอยหนีมาพักที่วัดไดเซ็นจิในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๑๒๕ และทาเคะดะ คะสึโยริก็ได้ขอพรต่อพระไภษัทฯองค์นี้ด้วย ในที่สุด ๘ วันหลังจากนั้นทาเคะดะ คะสึโยริก็จบชีวิตลง ปิดฉากอำนาจของตระกูลทาเคะดะ แห่งเมืองไคลงอย่างเบ็ดเสร็จบนภูเขาเท็นโมคุ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดไดเซ็นจิไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร 
เท็นโมคุซัน.. เส้นแบ่งระหว่างชัยชนะและความพ่ายแพ้




บ้านเรือนย่านโควชู

เวลาประมาณ ๑๐ โมงครึ่ง ผมเดินจากวัดมาหยุดพักที่ร้านคาทาดะ (
Katada Orchards) เป็นร้านขายองุ่นสดและไวน์ที่เปิดอยู่ริมถนนไม่ห่างจากวัดมาไกลนัก ร้านนี้ตกแต่งลานทั้งหมดด้วยการทำร้านเถาองุ่นให้เลื้อยเป็นร่ม และองุ่นก็กำลังออกผลดกเต็มไปหมด ผมเข้าไปซื้อองุ่นมาชิมดูว่าอร่อยไหมแต่ขอซื้อแค่นิดเดียว คุณน้าเจ้าของร้านก็ขายให้โดยเลือกมาให้ชิมหลายพันธุ์ แบ่งพวงมาอย่างละนิดละหน่อย และส่วนมากก็เป็นการแถมมาให้ชิมมากกว่าที่ซื้อเท่านึง ผมสอบถามถึงวิธีไปยังสถานีโดยรถบัส ซึ่งเธอก็บอกว่ามันค่อนข้างนานกว่ารถจะมาสักคันเพราะเป็นย่านบ้านนอกไม่เหมือนในเมือง ท้ายที่สุดผมก็เลยจะตัดสินใจจะเดินกลับไปยังสถานีรถไฟเพราะรอรถบัสไม่ไหว แต่เธอก็บอกให้สามีของเธอขับรถไปส่งผมที่สถานี ผมเลยได้ถนอมขาไม่ต้องเดินขึ้นเขาสามกิโล ผมขอบคุณคุณอาที่มาส่งแล้วก็นั่งรถไฟกลับมาที่สถานี ฮิกาชิ เพื่อจะไปยังวัดเซฮะคุจิ





ผมลงจากสถานีเล็กๆเดินมาตามหมู่บ้านที่มีบ้านเรือนสวยงามและภูมิฐานพอสมควร แต่ละบ้านมีการปลูกต้นท้อ ต้นพลับ หรือคล้ายๆต้นสาลี่ ซึ่งแต่ละชนิดต่างกำลังออกผลดกเต็มต้น ผ่านบ้านเรือนสลับกับสวนผลไม้ไปสักพักก็ถึงสวนองุ่นที่กินอาณาบริเวณกว้างขวางมาก ระหว่างทางมีรูปสลักหินเก่าๆเหมือนจะเคยเป็นที่ตั้งของวัดร้างมาก่อน บางแห่งก็มีศาลเจ้าเล็กๆทำนองอย่างศาลพระภูมิในบ้านเราแต่ที่ญี่ปุ่นมักเจอทำด้วยหินหรือไม่ก็ไม้ ผมมาถึงถนนที่ตัดเข้าไปในวัดตอนประมาณ ๑๑.๐๐ น. แดดกำลังแรงแต่อากาศไม่ร้อนเลย 

ทางเข้าวัดมีประตูซันมงอยู่ทางทิศใต้ของวัด เป็นประตูโครงสร้างไม้ขนาดย่อมหลังคามุงกระเบื้องสีดำ ไม่มีชั้นสองและทวารบาล มีทางเดินทอดยาวไปทางทิศเหนือและปลูกต้นไม้ประดับทั้งสองข้างทาง ก่อนที่จะถึงลานด้านในมีหอระฆังที่ทำเป็นซุ้มประตูให้ลอดผ่านเข้าไป หอระฆังนี้ชั้นล่างเป็นโครงสร้างคอนกรีตและด้านบนเป็นโครงสร้างไม้ ลานด้านหน้าวิหารหลวงเป็นลานทรายแวดล้อมด้วยสวนที่ถูกจัดตกแต่งไว้อย่างเรียบง่ายแต่สวยงาม มองผ่านสวนไปทางทิศตะวันตกมีสวนผลไม้แลเห็นลูกพลับออกลูกดกเต็มต้นน่ากินมาก 

ตัววิหารหลวงเป็นอาคารเดี่ยวหันด้านแป ทรงแบบอิทธิพลจีนโบราณ หลังคาซ้อนสองชั้นโดยยกช่วงคอสองสูงๆ ด้านหลังเป็นเขตสังฆาวาสมีอาคารมุงหญ้าคาหลังหนึ่งทรงจั่วสูงและลาดต่ำเกือบถึงพื้น แต่แปลกใจที่วันนี้ไม่มีใครอยู่ในวัดเลย ผมเดินดูสวนและวนกลับมาทางด้านหน้าก็เจอคุณลุงท่านหนึ่งจึงได้พูดคุยกัน คุณลุงใจดีแบ่งข้างกลางวันให้กินผมเองก็ได้แบ่งองุ่นให้เขาเช่นกัน เราคุยกันถึงเรื่องอาคารที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติสำคัญของชาติญี่ปุ่น ที่มีจำนวนมากกว่า ๒,๐๐๐ แห่ง ซึ่งได้คุณลุงได้ไปเยือนมาแล้วมากกว่า ๑,๐๐๐ แห่ง ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจในการเดินทางท่องเที่ยวของเขามาก คุณลุงยังได้พูดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกาะคิวชูที่นอกจากจะทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนทั่วไปแล้วมันยังสร้างความเสียหายให้กับมรดกของชาติไปด้วย ทำให้ผมเข้าใจได้เลยว่าประเทศนี้มีความตระหนักถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา พวกเขาจึงถูกสอนให้มีระเบียบวินัยเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในเวลาที่ต้องเอาชีวิตรอด รวมถึงการเก็บข้อมูลสมบัติของชาติในรูปแบบต่างๆและความเด็ดขาดในมาตรการของตัวเอง แต่อย่างไรก็ดีทุกอย่างมีขีดจำกัดของมันและมีผลเสียในทางใดทางหนึ่ง ความจำเป็นในการดูแลตัวเองและและสิ่งแวดล้อมรวมถึงสังคมนั้นจะต้องใช้ความรอบคอบอย่างมาก ผมได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ในประเทศญี่ปุ่น










ผมนั่งรถไฟไปยังสถานีรถไฟโควฟุ สถานีแห่งนี้เป็นสถานีใหญ่ มีความสะดวกสบายที่จะต่อรถไปยังสถานที่ต่างๆ ผมมาเพื่อซื้อตั๋วกลับในวันพรุ่งนี้ และเดินหาที่กดเงินเพราะเงินที่แลกมาจำนวน ๓๐,๐๐๐ เยนเหลือเพียงไม่กี่ร้อยเยนเท่านั้น ตอนนั้นผมยังไม่รู้วิธีการจังเหลือเงินติดกระเป๋ากับเงินในบัตร Suica รวมกันแล้วไม่ถึง ๓๐๐ เยน ผมปรึกษากับเจ้าหน้าของสถานีรถไฟซึ่งพยายามหาทางออกให้ผมอย่างดีและแนะนำวิธีการเดินทางให้ ผมจึงได้มาขึ้นรถบัสและไปยังศาลเจ้าทาเคะดะได้ในที่สุด

ศาลเจ้าทาเคดะ เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของตระกูลทาเคะดะ มีชื่อว่า สึสึจิกะสะคิ ยาคาตะ (Tsutsujigasaki yakata)คำแปลประมาณว่าทำเนียบแห่งปลายเขาชวนชม ถูกสร้างขึ้นเป็นศูนย์การปกครองเมืองไคในยุคที่ตระกูลทาเคะดะเรืองอำนาจ และมีอิทธิพลสูงสุดในยุคของของทาเคะดะ ชินเก็น ทำเนียบแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นป้อมปราการทำนองเดียวกับปราสาทของไดเมียวอื่นๆ คือมีคูน้ำล้อมรอบและก่อเขื่อนกำแพงด้วยหินเหมือนอย่างที่พระราชวังหลวงกรุงโตเกียว แต่ที่นี่จะมีขนาดเล็กกว่าและพังทลายลงไปมากพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้เขียวครึ้ม เมื่อเข้าสู่ด้านในจะเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าซึ่งไม่มีประตูที่ไว้รูปเทพทวารบาล แต่เข้าใจได้ว่าศาลนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณเหล่านักรบของตระกูลทาเคะดะ ไม่ใช่เทพเจ้าจากสรวงสวรรค์อย่างศาลของเทพอาซามะที่คาวากุฉิโกะ ศาลเจ้าแห่งนี้มีหอกลางสำหรับประกอบพิธีกรรมมีมุขยื่นออกมาสำหรับแขวนเชือกสั่นกระดิ่งถึงสามอัน มีกล่องหยอดเหรียญวงอยู่ เบื้องหน้ามองทะลุผ่านหอกลางเข้าไปจะเห็นที่ตั้งของหอแก้วที่ประทับของดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ 

วิธีการขอพรก็เอาเหรียญ ๕ เยน ที่ออกเสียงว่าโกะเอ็น พ้องเสียงกับคำมงคลในภาษาญี่ปุ่น หรือจะเหรียญอื่นก็ได้แล้วแต่ชอบหย่อนลงไปในกล่อง เสร็จแล้วก็สั่นเชือกลั่นกระดิ่ง โค้งทำนับสวยๆสองครั้ง ปรบมือช้าๆสองครั้งแล้วพนมมือไว้เพื่อไหว้ขอพร หลังจากนั้นก็คำนับอีกสองครั้งเป็นอันเสร็จเรียบร้อย ถ้าจะเอาตามพิธีจริงๆก่อนเข้ามาก็ต้องไปที่อ่างล้างมือก่อน ใช้กระบวยตักน้ำขึ้นมาให้เต็มแล้วเทล้างมือซ้ายทีนึง มือขวาอีกทีนึง เทน้ำใส่มือแล้วใช้น้ำนั้นบ้วนปาก สุดท้ายเทน้ำที่เหลือทิ้งให้หมดกระบวยแล้ววางกลับไปที่เดิม เมื่อจะเดินผ่านเข้าประตูโดรณะก็โค้งคำนับก่อน ๑ ครั้ง ขากลับออกมาแล้วก็หันกลับไปโค้งอีกครั้ง




หอกลางของศาลเจ้าทาเคะดะ


หอแก้วของศาลเทเคะดะกำลังอยู่ในช่วงบูรณะจึงไม่ให้เข้าไปเดินดูรอบๆ แต่ก็สามารถส่องดูได้ เห็นเป็นศาลที่มีระเบียงคดล้อมรอบและตัวหอแก้วตั้งอยู่ภายใน มีขนาดใหญ่พอสมควรและค่อนข้างสร้างอย่างภูมิฐาน จริงๆตัวศาลถูกสร้างขึ้นเมื่อราวๆ ๑๐๐ ปีก่อน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญและนักรบที่เสียชีวิตในสงครามต่างๆหลังยุคปฏิวัติเมจิ โดยการสื่อผ่านวิญญาณของบรรพชนญี่ปุ่นและวิธีความกล้าของซามุไรในตระกูลทาเคะดะ ถัดออกไปไม่ไกลเป็นที่ตั้งของหอเก็บสมบัติของศาลเจ้าทาเคะดะ ซึ่งผมไม่มีเงินพอจึงไม่ได้เข้าชมดาบคาตานะเล่มสำคัญอันเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของเมืองไคแห่งนี้

เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่จดจำของตระกูลทาเคะดะคือคำสี่คำ ฟุ-ริน-คะ-ซัน (風林火山) ลม ป่า ไฟ เขา หมายถึงบทกวีโบราณที่กล่าวถึงศิลปะของสงครามว่า “รวดเร็วดุจสายลม, เงียบสงัดเหมือนผืนป่า, กล้าประดุจเพลิง, มั่นคงดั่งขุนเขา” ตัวอักษรสี่ตัวถูกเขียนลงบนธงศึกของทาเคะดะ ชินเก็น และนั่นก็เป็นแนวทางที่ทำให้เขาถูกกล่าวขานให้เป็นไดเมียวผู้ทรงอำนาจที่สุดแห่งยุค
ผมเดินอ้อมไปดูทางด้านหลังของสึสึจิกะสะคิ ยาคาตะ ได้เห็นการขุดค้นของนักโบราณคดีบนที่แปลงใหญ่ที่เหมือนจะมีร่องรอยของโบราณสถานทอดยาวออกไปไกลต่อไปอีกหลายร้อยเมตร 

ผมกลับออกมาทางด้านหน้าและไปซื้อไอศกรีมกิน ก่อนจะนั่งรถบัสกลับไปยังสถานีรถไฟโควฟุ จากสถานีรถไฟผมเดินไปยังปราสาทโควฟุ ในเมืองนี้ผมเห็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งถูกใช้เสมอๆก็คือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสี่อันเรียงในทรงข้ามหลามตัดรูปเดียว มันคือสัญลักษณ์ของตระกูลทาเคะดะที่ผมเข้าใจว่าหมายถึงคำสี่คำที่ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวนั่นเอง 

ไม่นานนักผมก็มาถึงปราสาทโควฟุ หรือปราสาทมาอิซูรุ ศูนย์กลางปกครองแห่งใหม่ของเมืองไคหลังการล่มสลายของตระกูลทาเคะดะซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่ที่สึสึจิกะสะคิ ยาคาตะ โควฟุ มีความหมายว่าเมืองหลวงแห่งไค ซึ่งหลังจากเหตุการณ์อสัญกรรมของทาเคะดะ คะสึโยริ ที่เขาเท็นโมคุ เมืองไคก็ตกเป็นของโอดะ โนบุนากะ และในที่สุดก็ตกเป็นของตระกูลโทคุกาวะ ศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่ถูกย้ายลงมาอยู่ที่ปราสาทโควฟุและตัวปราสาทได้ถูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๒๑๒๖ ตัวปราสาทมีบริเวณกว้างพอสมควรและก่อด้วยปราการหินยกพื้นขึ้นไปเป็นชั้นๆ รอบๆปราสาทล้อมรอบด้วยคูน้ำ แต่ก็อยู่ในทรงอสัณฐาน ปัจจุบันถูกใช้เป็นสวนสาธารณะกลางเมืองที่ค่อข้างเงียบสงบและสะอาด ตัวปราสาทหลักตั้งอยู่เหนือลานชั้นบนสุดซึ่งสูงขนาดภูเขาย่อมๆลูกหนึ่งเลยทีเดียว ปราสาทหลักถูกทำลายลงหมดสิ้นเหลือเพียงฐานที่ขึ้นไปชมวิวได้รอบ มองผ่านตึกรามบ้านช่องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก็จะเห็นยอดฟุจิซัง ผมสังเกตว่าที่นี้มีอาคารสูงไม่มากนักทั้งๆที่เป็นเมืองใหญ่ นั่นเป็นเพราะโครงสร้างทางวิศวกรรมของอาคารสูงที่ต้องรับผลกระทบจากแผ่นดินไหวคงจะแพงมาก จึงมองไปเห็นแต่อาคารเตี้ยๆเรียงดารดาษไปในแอ่งที่ราบของจังหวัดยามานาชิไกลไปจนสุดเชิงเขาแต่ละด้าน ส่วนทางทิศเหนือจะเห็นปลายเขาชวนชมที่ทอดตัวลงมาเป็นเหมือนขุมพลังอันศักดิ์สิทธิ์ของเมืองที่ตั้งของสึสึจิกะสะคิ ยาคาตะ






ผมลงจากปราสาทโควฟุและไปกดเงินสดที่ 7-11 ซึ่งมีตู้กดเงินที่สามารถกดเงินเยนจากบัญชีธนาคารของประเทศไทยได้ หลังจากมื้อเย็นที่ร้านซุชิในเมืองผมก็เดินกลับโรงแรมแบบไม่เร่งรีบ เป็นการเตรียมตัวบอกอำลาเมืองโควฟุอย่างใจเย็น
.....

วันอังคารที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ ผมออกจากที่พักเวลาประมาณ ๗.๐๐ น. เดินเท้าไปยังสถานีรถไฟโควฟุ เพื่อไปขึ้นรถบัสที่จะออกในเวลา ๘.๕๐ น. Airport Limousine Bus ให้บริการจากโควฟุไปยังสนามบินในราคา ๔,๔๐๐ เยน ซึ่งถูกกว่าการนั่งรถไฟและยังใช้เวลาน้อยกว่า เป็นวิธีการเดินทางที่น่าสนใจวิธีหนึ่งในหลายๆวิธีในการหาวิธีการเดินทางที่เหมาะที่สุดในประเทศญี่ปุ่น นับเป็นการจบทริปในญี่ปุ่นของอย่างเป็นทางการ


甲府城 Kōfu-jō