วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เมืองด่านบนเส้นทางน้ำ 2



พิษณุโลก นครเจ้าปัญหา

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖

วันใหม่ที่พิษณุโลกสดใสเจิดจ้า แค่หกโมงครึ่งแดดก็แรงจัดจนดูเหมือนแปดโมง หลังจากมื้อเช้าที่ร้านข้าวแกงแถวบ้านคลองพวกผมก็ไปกันที่พระราชวังจันทร์ ครั้งแรกที่ผมเคยมาที่วังนี้ก็คือช่วงก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี ๕๔ ตอนนั้นน้ำในแม่น้ำน่านขึ้นสูงจนเกือบเสมอตลิ่งตรงหน้าวัดมหาธาตุ ฝนก็ตกแทบทุกวันจน ผอ.พิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธชินราชต้องมาคอยสูบน้ำออกไปไม่ให้ท่วมขังในเขตโบราณสถานพระราชวังจันทร์นี้ เพราะพื้นที่ขุดค้นเป็นแอ่งแนวอิฐโบราณสถานอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน

พระราชวังจันทร์แห่งนี้เคยถูกหลงลืมไปและกลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จนกระทั่งมีการขุดเจอแนวอิฐอยู่ใต้ดิน จึงเป็นที่มาของการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมออกไปสร้างใหม่เพื่อการขุดค้นอย่างเป็นทางการ

ผลจากการเปิดหน้าดินภายในบริเวณพื้นที่ของพระราชวังจันทร์ ทำให้เราได้เข้าใจรูปแบบของพระราชวังในสมัยอยุธยากลางได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น พระราชวังแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีกำแพงล้อมรอบสองชั้น กำแพงชั้นนอกมีเชิงเทินสำหรับให้ทหารขึ้นไปยืนรักษาการณ์ ระหว่างกำแพงทั้งสองชั้นมีพื้นที่ให้เดินได้รอบและพอจะตั้งอาคารหลังเล็กๆอย่างทิมศาลาที่พักของทหารรักษาการณ์ หรืออาคารที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ  ส่วนด้านหน้าทางทิศเหนือมีอาณาเขตกว้างกว่าด้านอื่น เข้าใจว่าเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับกิจการบ้านเมือง จะเป็นที่ตั้งของ ศาลาลูกขุน โรงผลิตเงินตรา หอแปลพระราชสาสน์ เป็นต้น

ภายในกรอบกำแพงชั้นที่สองเป็นเขตพระราชฐานชั้นกลางและพระราชฐานชั้นใน พระราชฐานชั้นกลางแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกอยู่ทางด้านหน้าของท้องพระโรงที่ปรากฏเป็นฐานอาคารก่อด้วยอิฐเหลืออยู่ มีกำแพงกั้นขวางเอาไว้และมุขเด็จของท้องพระโรงจะยื่นพ้นแนวกำแพงออกมาทางด้านนี้ เป็นมุขเด็จพระที่นั่งที่ใช้ออกมหาสมาคมกลางแจ้งและรับราชฑูตต่างเมือง ภายในบริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของพระลานกว้าง แวดล้อมด้วยท้องพระคลังต่างๆ มีโรงช้างต้นม้าต้นและหอพระมณเทียรธรรม เป็นต้น

พระราชฐานชั้นกลางตอนที่สอง อยู่ระหว่างกำแพงกั้นตรงมุขเด็จหน้าท้องพระโรงและกำแพงที่กั้นตรงกึ่งกลางของท้องพระโรง เป็นที่สำหรับขุนนางผู้ใหญ่เข้าเฝ้าภายในอาคารเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน และจะใช้เป็นที่เสด็จออกรับราชฑูตจากประเทศใหญ่ๆ พื้นที่ด้านในนี้ควรจะเป็นที่ตั้งของโรงช้างสำคัญด้วย

พระมหามณเฑียรหรือเรือนหลวงที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เดิมคงจะมีพระที่นั่งเป็นอาคารสร้างด้วยไม้เพิ่มเติมอีกหลายหลัง ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังกำแพงที่กั้นกึ่งกลางท้องพระโรงเข้ามาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตพระราชฐานชั้นใน ท้ายท้องพระโรงมีกำแพงฉนวนกั้นยาวไปทางทิศตะวันออก เป็นทางสำหรับพระมหากษัตริย์และเจ้านายฝ่ายในเสด็จไปประทับเรือที่ริมฝั่งแม่น้ำ

พระราชฐานชั้นในอันเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าสตรี ควรจะอยู่ถัดจากแนวกำแพงฉนวนท้ายท้องพระโรงเข้ามา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ๆพระองค์เสด็จพระราชสมภพพอดิบพอดี คิดดูก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเพราะศาลนี้สร้างขึ้นก่อนที่จะมีการขุดค้นวังจันทร์เสียอีก
พระราชฐานชั้นในเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับบุรุษ ยกเว้นก็แต่พระราชโอรสที่ยังไม่ได้เข้าพระราชพิธีโกกันต์เท่านั้น จะมีพระตำหนักของอัครพระมเหสีผู้เป็นใหญ่ในกิจการฝ่ายในของราชสำนัก นอกจากนี้คงจะมีตำหนักใหญ่น้อยของพระชายาและพระสนมอีกหลายหลัง


ทางทิศตะวันตกของวังจันทร์เป็นที่ตั้งของสระสองห้อง ซึ่งน่าจะเป็นเขตพระราชอุทยานหลวง คล้ายอย่างสวนสราญรมย์ของกรุงเทพฯ ที่ผมกล่าวไปทั้งหมดนั้นยังเป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานเพื่อให้เห็นภาพของระเบียบวังในสมัยอยุธยาชัดเจนขึ้น โดยอ้างอิงจากบันทึกเอกสารเกี่ยวกับพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา โดยเชื่อว่าร่องรอยของพระราชวังจันทร์แห่งนี้น่าจะเป็นวังในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ทรงย้ายขึ้นมาประทับที่เมืองพิษณุโลกเพื่อทำศึกกับอาณาจักรล้านนา

สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงได้เข้ามาสำรวจพระราชวังจันทร์และสระสองห้อง ได้ทรงบันทึกเอาไว้ในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลกว่า "..ได้ข้ามกำแพงชั้นนอกแลชั้นในเข้าไปทางด้านตะวันออก เข้าใจว่าเป็นทางหน้าวัง แล้วข้ามกำแพงชั้นในแลชั้นนอกข้างทิศตะวันตกออกไปนอกวัง ดูหนองสองห้อง เป็นสระใหญ่กลางมีโคกเป็นเกาะ ขุนศรีเทพบาลบอกว่าผู้ใหย่เขาว่าเป็นที่ตั้งพลับพลา ข้อนี้มีความเชื่อทีเดียว ด้วยเหมือนกับพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาศน์ท้ายสระกรุงเก่าทีเดียว ผิดแต่ที่กรุงเก่าเปนตามขวาง ที่นี่เป็นตามยาว ด้วยอำนาจมีเกาะขวางกลาง ทำให้ทางน้ำด้านกว้างของสระแคบแลดอนเสียแล้วทางหนึ่งด้านข้างกำแพงนั้นด้วย จึงได้มีสัญญาเห็นเปนสองสระ เรียกหนองสองห้อง เปนชื่อชาวบ้านตั้งภายหลัง ด้านยาวของสระด้านตะวันตก มีลำรางเล็กไปออกคลองมดัน ต้องเป็นท่าที่ไขน้ำที่เกาะตรงปากท่อ มีต้นไทรต้นหนึ่ง.. ..เปนที่น่าสงไสยว่าสระสองห้องนั้น ควรเปนที่ประทับสำราญพระไทย อันแวดล้อมด้วยพฤกษชาติเปนสวน ควรจะอยู่ในกำแพงวัง นี่เหตุไรจึงอยู่นอกกำแพงวัง แต่ว่าไม่ได้ บางทีจะมีกำแพงโอบมาอีก เปนที่ส่วนเพิ่มเติมบวกเข้ากับวังในภายหลังก็เปนได้ แต่จะดูอะไรก็ไม่เห็น เพราะรกเหลือเกิน กำแพงที่มีอยู่อย่างไรตามที่เขียนไว้นั้น ดูเห็นไม่ใคร่ได้ เพราะเหลืออยู่เตี้ยไม่ใคร่พ้นยอดพง เห็นจะถูกรื้อถอนเหมือนกัน.. ..แลพระยาเทพาบอกว่าได้เห็นแต่ก่อนที่ในวังนั้น มีอิฐก่อเป็นห้องๆเหมือนนกทงนา แต่จะอยู่ตรงไหนจำไม่ได้เสียแล้ว ตามที่พระยาเทพว่านั้น งามจะเป็นท้องพระโรง.."

ฐานท้องพระโรง ถ่ายภาพจากทิศตะวันออกเฉียงใต้

.. .......................... ..
 
แผนที่เมืองพิษณุโลกรูปนี้วาดขึ้นโดยอ้างอิงกับแผ่นป้ายแสดงข้อมูลที่ติดตั้งอยู่บริเวณพระราชวังจันทร์ ประกอบกับจินตนาการที่ใช้สันนิษฐานการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านเมืองพิษณุโลก โดยมุมบนขวามือเป็นภาพสันนิษฐานของเมืองพิษณุโลกที่สร้างคร่อมแม่น้ำน่าน โดยใช้ลักษณะคูเมืองแบบสุพรรณบุรีและกำแพงเพชร

เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่โบราณ ชุมชนดั้งเดิมสมัยทวารดีน่าจะอยู่แถบเขาสมอแครง ซึ่งเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง ต่อมาคงมีการเคลื่อนย้ายชุมชนออกมาตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำ จึงมีการเรียกเมืองนี้ว่าเมืองสองแคว คำว่าสองแควนี้หมายถึงแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย แต่มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ทำให้แม่น้ำแควน้อยเปลี่ยนทางเดิน ไหลไปรวมกับแม่น้ำน่านแถวตำบลปากโทก เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปราว ๘ กิโลเมตร ทำให้เมืองสองแควจริงๆแล้วเหลือเพียงแควเดียว คือแควแม่น้ำน่านในปัจจุบัน

ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เคยได้สำรวจและเขียนไว้ในหนังสือ ตามรอยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ว่า "..อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม บอกกับเราว่า ชื่อเมืองสองแควมาจากเมืองที่อยู่ระหว่างแควใหญ่กับแควน้อยครับ คือแควใหญ่หรือแม่น้ำน่านอยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนแควน้อยอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง
ต่อมาแควน้อยเปลี่ยนเส้นทางน้ำมาไหลลงแม่น้ำแควใหญ่ (แม่น้ำน่าน) ขึ้นไปทางเหนือเมืองพิษณุโลก เลยทำให้ดูเหมือนว่าสรลวงสองแควกลายเป็นเมืองสรลวงแควเดียวไป
แต่ความจริงแล้วแม่น้ำแควน้อยยังอยู่ครับ เพียงแต่ตื้นเขินหรือขาดหายไปเป็นบางส่วนเท่านั้นเอง.. ก่อนที่แม่น้ำน้อยจะไหลลงแม่น้ำน่าน จะมีคลองเล็กๆแยกจากแม่น้ำน้อยลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่าคลองยาง.. และถ้าเดินเลียบคลองยางไปทางใต้ เราก็จะเจอคลองสระโคล่ ซึ่งบางส่วนน้ำในคลองจะแห้งขอดเหมือนคลองยาง.. ซึ่งต่อไปจะเป็นคลองวังทอง..  และสุดท้ายจะไหลลงแม่น้ำน่านที่บ้านปากคลอง คลองเหล่านี้จะต่อเนื่องโยงกันเป็นคลองเดียว ถึงแม้ว่าบางส่วนจะขาดหายไปบ้าง แต่ก็จะมีร่องรอยว่าส่วนที่ขาดหายไปนั้นในอดีตเคยเป็นคลองมาก่อน.."

การเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำของแม่น้ำแควน้อย อาจเกิดได้หลายกรณีเช่น การขุดคลองลัด หรือที่ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล สันนิษฐานจากข้อความในพงศาวดารและข้อมูลทางธรณีวิทยาว่าพิษณุโลกเกิดแผ่นดินไหว แต่อย่างไรก็ดีเมืองสองแควก็ถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมาตลอด และมีความสำคัญถึงขั้นเป็นราชธานีที่เคยมีพระมหากษัตริย์มาประทับเป็นการถาวร

ผมเคยไปเที่ยวเมืองน่านเมื่อหลายปีก่อนและได้ไปที่วัดพระธาตุแช่แห้ง ตอนนั้นมีอาจารย์ท่านหนึ่งกำลังอธิบายถึงความสำคัญของเมืองน่านให้กับคณะทัวร์ได้ฟัง ท่านเล่าว่าเกลือเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เมืองน่านเจริญรุ่งเรืองและมีความสำคัญมาก ก่อนที่เมืองนี้จะถูกรุกรานด้วยกองทัพของพระเจ้าติโลกราชผู้ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรล้านนา และโรยราลงเนื่องจากอยุธยาสามารถผลิตเกลือได้เองในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แม่น้ำน่านคงจะเป็นเส้นทางในการส่งออกเกลือรวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่ล่องลงมาขายแก่บ้านเมืองทางใต้อย่างเช่นพิษณุโลก เป็นต้น (ปัจจุบันเมืองน่านยังมีแหล่งผลิตเกลืออยู่ที่อำเภอบ่อเกลือ)

ในสมัยที่พิษณุโลกอยู่ภายใต้การปกครองแค้วนสุโขทัย เมืองนี้คงถูกใช้เป็นหน้าด่านทางการค้าขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออก เมื่อแค้วนอโยธยาแผ่อำนาจขึ้นมาโดยพระเจ้าอู่ทอง พระองค์ได้ยึดเมืองพิษณุโลกแห่งนี้ไว้ ทำให้พระยาลิไทกษัตริย์แห่งสุโขทัยต้องเจรจาขอเมืองคืน เป็นเหตุให้พระยาลิไทต้องยอมย้ายมาครองเมืองพิษณุโลกตามข้อแม้ของอโยธยา เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่ามีเหตุผลบางอย่างที่แสดงถึงความสำคัญของเมืองพิษณุโลกต่อสุโขทัยอย่างมาก

พิษณุโลกเป็นฉากหลังของปัญหาความวุ่นวายหลายครั้ง ฉากใหญ่ตอนหนึ่งก็คือสงครามระหว่างพระบรมไตรโลกนาถแห่งอโยธยาและพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ครั้งนั้นพระบรมไตรโลกนาถถึงกับย้ายขึ้นมาประทับที่พิษณุโลกเป็นการถาวรเพื่อบัญชาการศึกด้วยพระองค์เอง ทำให้เมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากปัญหาในเรื่องความขัดแย้งและการเมืองของพิษณุโลกในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ชื่อของเมืองพิษณุโลกนี้ก็ยังคงมีปัญหามายาวนานในแวดวงวิชาการ เพราะในจารึก พงศาวดาร รวมไปถึงวรรณคดี ต่างก็เอ่ยถึงเมืองพิษณุโลกในชื่อต่างกันไป ชื่อแรกที่เราคุ้นหูกันอยู่ก็คือ เมืองสองแคว(ทวิสาขนคร) ชื่อนี้สอดคล้องกับเหตุผลของแม่น้ำสองสายข้างต้น แต่ทว่ายังมีชื่ออื่นๆที่บ่งชี้ว่าหมายถึงพิษณุโลกด้วยเช่นกัน

ในจารึกหลักที่ ๑ (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) กล่าวว่า "..ปราบเบื้องตะวันออก รอด สรลวงสองแคว ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งของเถิงเวียงจันทร์เวียงคำเป็นที่แล้ว.."
ในจารึกหลักที่ ๓ (จารึกนครชุม) กล่าวว่า "..(พระมหาเถรสรีสรธา) ราชจูลามูณีเกิดในนครสรลวงสองแคว ปูชีพรญาสรีนาวนำถุํ.."

ซึ่งคำว่า "สรลวง" ในที่นี้มีการตีความไปในหลายทิศทาง ทางแรกเข้าใจว่าหมายถึง สระหลวง(โอฆะบุรี) คือเมืองที่มีสระน้ำใหญ่ จึงเชื่อว่าสรลวงในที่นี้เป็นอีกเมืองหนึ่งต่างหาก นั่นหมายถึงกล่าวชื่อเมืองเป็นคู่ ว่าสรลวงและสองแคว สรลวงจึงควรหมายถึงเมืองพิจิตรเก่า ซึ่งมีบึงสีไฟเป็นสระขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออก

แต่ในจารึกหลักที่ ๓ บอกว่า พระมหาเถรศรีศัรทธาฯเกิดในนครสรลวงสองแคว จึงเป็นประเด็นว่าพระมหาเถรไม่น่าจะถูกกล่าวว่าเกิดที่เมืองสองเมืองแยกกัน สรลวงนี้จึงควรจะหมายถึงพิษณุโลกด้วย ดังนั้นจึงมีข้อเสนอว่า สรลวงคือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน และสองแควคือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออก มีลักษณะเป็นเมืองคู่ขนาบที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน

แต่เมืองสรลวง ที่หมายถึงเมืองทางฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังจันทร์ ไม่มีสระหลวงหรือสระขนาดใหญ่ที่จะสอดคล้องกับชื่อปรากฏอยู่เลย
แต่มีบทความที่น่าสนใจ ๏ ขุดคำ ~ ค้นความ เขียนโดย คุณจิตร ภูมิศักดิ์ : http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/word_detail.php?id=9820
ที่เสนอว่า สรลวง ในที่นี้หมายถึง สรวง อันคือชื่อเก่าแก่ของพระวิษณุ(นารายณ์) เช่นเดียวกับ สาง ที่หมายถึงพระอิศวร(ศิวะ) และขุนแผน ที่หมายถึงพระพรหม
ดังนั้นคำว่า สรวง จึงสอดคล้องกับคำว่า วิษณุโลก หรือ พิษณุโลก นั่นเอง

สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงกล่าวถึงสระแก้ว บึงน้ำขนาดใหญ่นอกเมืองพิษณุโลก ไว้ในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลกว่า "..ขี้ม้าไปดูสระแก้ว ทางสักร้อยเส้น สระแก้วนั้น อยู่หลังเมืองซีกแม่น้ำฝั่งตะวันออก ตัวสระแก้วเปนบึงใหญ่ แต่กปิปิดน้ำเสียหมด แลไม่ใคร่เห็นน้ำ ริมบึงมาข้างกำแพงเมืองขุดทางน้ำลดเลี้ยวไว้ดินเปนเกาะเปนทางมายืดยาว กลางเกาะหมู่เหล่านั้นมีวัดอยู่ในเกาะ วิหารเกาะหนึ่ง เจดีย์เกาะหนึ่ง แลเป็นฐานอิฐๆอะไร อีกเกาะหนึ่งก็ไม่ทราบ.."

สระแก้วที่สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ได้เห็นนี้ ผมคิดว่าน่าจะอยู่แถวๆสนามบินในปัจจุบัน และจากที่ทรงอธิบายว่าจากสระน้ำมีทางน้ำต่อเนื่องไปทางกำแพงเมือง อาจจะพอบอกได้ว่าแต่เดิมบริเวณแถบเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ แต่เริ่มตื้นเขินลงเพราะมีวัชพืชขึ้นรก ประกอบกับทางไหลของลำน้ำที่จะมาเติมน้ำให้กับสระเปลี่ยนแปลงไป เลยทำให้ค่อยๆหมดสภาพไปในที่สุด

แต่อย่างไรก็ดีคำว่า สรลวง อันอาจจะหมายถึง สรวง(ชื่อของพระวิษณุ) หรือ สระหลวง นั้นก็ยังไม่มีหลักฐานที่พอจะชี้ชัดได้แน่นอน ยังคงต้องมีการศึกษาและค้นหาหลักฐานมาอ้างอิงกันต่อไป

ต่อมาในชินกาลมาลีนี ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระยาลิไทขอเมืองพิษณุโลกคืนจากพระเจ้าอู่ทอง โดยเอ่ยชื่อเมืองพิษณุโลกว่า ไชยนาทบุรี
"..ในลำดับนั้นมาอันว่าพญาธรรมราช(พระยาลิไท)จึ่งส่งเครื่องบรรณาการเป็นอันมาก ไปถวายแก่สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี(พระเจ้าอู่ทอง)แล้ว จึ่งให้ขอเอาซึ่งเมืองไชยนาทบุรี.."

พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติซมิวเซียม กล่าวว่า
"..ศักราช ๗๖๕ ปีมะแม เบญจศก มีข่าวมาว่าพระมหาธรรมราชาธิราช เจ้าเมืองพิษณุโลก เสด็จสวรรคต และเมืองเหนือ ทั้งปวงเป็นจลาจล จึ่งเสด็จขึ้นไปถึงเมืองพระบาง พระยาบาลเมือง พระยารามออกมาถวายบังคม พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนครแล้ว จึ่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าอ้ายพระยา กินเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยากินเมืองแพรกศรีราชา เจ้าสามพระยากินเมืองชัยนาท.."

ในลิลิตยวนพ่าย โคลงยอพระเกียรติพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ได้กล่าวว่า
๏ แถลงปางปราโมทยเชื้อ เชิญสงฆ
สํสโมสรสบ เทศไท้
แถลงปางเมื่อลาวลง ชยนาท นั้นฤา
พระยุทธิษฐิรได้ ย่างยาว ฯ

โคลงบทนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระยายุทธิษฐระผู้เป็นเจ้าเมืองชัยนาท ไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ทำให้ต่อมาเกิดเป็นสงครามระหว่างล้านนากับอยุธยา เรื่องนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจ สามารถอ่านเพิ่มเติมในหนังสือ พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช ของ อาจารย์พิเศษ เจียรจันทร์พงษ์

๏ ปางสร้างอาวาสแล้ว ฤาแสดง
คือพุทไธสวรรยหมาย ชื่อชี้
ปางถกลกำแพงพระ พิศณุโลกย แล้วแฮ
อยู่ช่างพระเจ้าฟี้ เฟื่องบร ฯ

โคลงบทนี้กล่าวถึงการก่อสร้างกำแพงเมืองพิษณุโลก หากเหตุการณ์นี้น่าจะบ่งชี้ว่าพระบรมไตรโลกนาถเปลี่ยนชื่อเมือง จากชัยนาทมาเป็นพิษณุโลกในครั้งนั้น
http://www.reurnthai.com/wiki/ลิลิตยวนพ่าย

.. .......................... ..

วัดวิหารทอง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระราชวังจันทร์

พวกเราย้อยกลับมาทางหน้าวัดวิหารทอง ข้างถนนตรงที่ดินแปลงข้างตะวันออกของวัด มีร่องรอยการปูพื้นด้วยอิฐให้เห็น เข้าใจว่าเป็นถนนอิฐเช่นเดียวกับที่อยุธยา วัดวิหารทองเป็นวัดขนาดใหญ่ มีอาคารหลังใหญ่ก่อเสาด้วยอิฐสร้างขนานกันอยู่บริเวณด้านหน้าทางทิศตะวันออกที่หันเข้าหาแม่น้ำ ด้านหลังที่ระหว่างของอาคารทั้งสองมีฐานสูงทำบันไดสำหรับเดินขึ้นไป ซึ่งน่าจะเป็นฐานของพระปรางค์หรือมณฑปขนาดใหญ่ วัดนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง อาจจะราวรัชกาลพระบรมไตรโลกนาถ ช่วงที่พิษณุโลกมีความสำคัญมากๆ วิหารทางด้านทิศเหนือกำลังสร้างพระยืนองค์ใหญ่ในตำแหน่งของพระประธาน องค์สีขาวสะท้อนแสงเมือต้องแดดจนแสบตา ผมไม่รู้ว่าเขานึกอย่างไรจึงต้องทำขึ้นมาใหม่

๙ โมงเช้า พักกินกาแฟแถวข้างวัดมหาธาตุ ก่อนจะเดินไปเข้าทางประตูระเบียงคดด้านหน้าพระปรางค์แล้วไปโผล่ที่วิหารพระพุทธชินสีห์ กราบพระแล้วดูโบราณวัตถุที่จัดแสดงในวิหารแล้วย้อนไปดูระฆังสำริดทางวิหารพระศาสดา มาคราวนี้อาคารเก็บธรรมาสน์กำลังปรับปรุง พี่แพรกับพี่จิไม่ได้ดูเลยบ่นเสียดายกันใหญ่ ไปดูประตูมุกและกราบพระพุทธชินราช กว่าจะออกจากวัดก็เกือบ ๑๑ โมง

มาถึงวัดจุฬามณีตอนเที่ยงวัน แดดร้อนมากอย่างจะเผากันให้ตาย ตาก็แสบจนต้องถอดคอนแทคเลนส์ทิ้งไป จำต้องดูวัดในสภาพทรมานๆ 
วัดจุฬามณีเป็นวัดที่สร้างขึ้นในแนวแกนตะวันออก - ตะวันตก วิหารหลวงอยู่ทางทิศตะวันออก มีพระปรางค์เป็นประธานของวัด ส่วนพระอุโบสถอยู่ทางทิศตะวันตก วัดนี้เข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถเพื่อใช้เป็นที่ทรงผนวช มีหลักฐานเป็นศิลาจารึกอย่างน้อยสองชิ้น ชิ้นหนึ่งอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อีกชิ้นหนึ่งอยู่ที่หลังมณฑปพระพุทธบาทจำลอง วัดนี้แม้จะปรากฏหลักฐานและมีข้อสันนิษฐานทางโบราณคดีหลายอย่าง แต่ก็มีความไม่ชัดเจนในหลายๆประเด็น อย่างเช่นลวดลายปูนปั้นที่ประดับอยู่ที่ปรางค์ประธาน ที่ปรากฏร่องรอยการซ่อมปะปนกับลวดลายเดิม


พระปรางค์ประธานวัดจุฬามณี อาจารย์สันติ เล็กสุขุม กล่าวไว้ในหนังสือ ศิลปะอยุธยา : งานช่างหลวงแห่งแผ่นดินว่า "..วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก สร้างใน พ.ศ.๒๐๐๗ คงเพื่อการผนวชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ การสร้างปรางค์องค์นี้ได้ปรับปรุงลักษณะบางประการ อันเป็นการย้อนไปหาแบบอย่างเก่า ซึ่งคงได้แบบจากปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี ไว้ไม่น้อย.."


ลายกรวยเชิงที่ผนังซุ้มคูหาที่ยื่นออกมาจากองค์ปรางค์ หนังสือ กระหนกในดินแดนไทย ของ อาจารย์สันติ เล็กสุขุม กำหนดอายุไว้ราว พ.ศ. ๒๐๐๐ หรือรัชกาลพระบรมไตรโลกนาถ

ลายหน้ากระดานปูนปั้นประดับบนลูกฟักเหลี่ยมคาดช่องท้องไม้ของชุดฐานปรางค์ประธาน จะทำเป็นรูปสัตว์หรือไม่ก็บุคคลในกรอบลดมุมมนๆคล้ายเมฆ

ลวดลายรูปสัตว์ในกรอบลักษณะคล้ายอย่างนี้ นิยมทำกันในศิลปะล้านนาด้วย มีตัวอย่างเช่น ลายที่ฐานกู่กลางพระอุโบสถวัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ และลายที่ฐานพระประธานในพระวิหารหลวงวัดพระธาตุแช่แห้ง เมืองน่าน เป็นต้น

ช่องแสงที่ผนังซุ้มคูหาพระปรางค์ พัฒนามาจากช่องที่ติดเสาลูกมะหวดแบบเขมร อาคารในสมัยอยุธยาก็นิยมทำช่องแสงลักษณะนี้เช่นกัน จนในสมัยอยุธยาตอนปลายจึงพัฒนาไปใช้หน้าต่างแทน
วิหารหลวงด้านหน้าพระปรางค์พังทลายเหลือผนังที่มีการเจาะช่องแสงให้เห็นบางส่วน ปัจจุบันมีอาคารทำใหม่ขนาดเล็กหลังหนึ่งบนที่วิหารหลวง ข้างวิหารหลวงทางทิศเหนือเป็นมณฑปพระพุทธบาท ตัวมณฑปเป็นผนังก่ออิฐผังสี่เหลี่ยมจตุรัส ด้านหน้าทางทิศตะวันออกยกเก็จเป็นซุ้มประตูทางเข้า ด้านหลังยกเก็จเป็นบัญชรมีจารึกสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ในจารึกเกริ่นเล่าเหตุการณ์บรรพชาของพระบรมไตรโลกนาถ และในปี พ.ศ.๒๒๒๒ ให้ทาบรอยพระบาทมาประดิษฐานไว้ที่วัดจุฬามณี เพื่อให้คนที่ไม่มีโอกาสได้ไปนมัสการพระพุทธบาท(ที่สระบุรี)ได้สักการะบูชา ตัวมณฑปนี้ตั้งอยู่บนฐานยกสูงจากพื้นดิน มีร่องรอยของเสารองรับชายคาซึ่งเดิมคงจะเป็นหลังคาคลุมทั้งหมด

ภาพมณฑปพระบาทจากทางด้านหน้า

พี่จิขับรถล่องลงไปทางใต้เพื่อจะไปยังวัดสะกัดน้ำมัน วันนี้มีความพิเศษอยู่หน่อยตรงที่พระอุโบสถอยู่แยกออกจากตัววัดมาอยู่ในโรงเรียน พี่จิเข้าไปพบคุณครูในโรงเรียนเพื่อจะขอเข้าไปในพระอุโบสถ ได้ความว่าต้องเข้าไปขอกุญแจจากเจ้าอาวาส อุโบสถหลังนี้ใช้ช่องแสงปนกับหน้าต่าง ที่ทำอย่างนี้อาจจะเพราะช่างมีความรู้เรื่องความสว่างอยู่ มีตัวอย่างอาคารในสมัยอยุธยาปลายหลายแห่งที่มักจะทำหน้าต่างทึบหรือที่เรียกว่าหน้าต่างหลอก ตรงช่วงผนังที่อยู่สองข้างพระประธาน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้แสงส่องกระทบกับองค์พระมากเกินไป
อาจารย์สมคิด จิระทัศนกุล อธิบายเรื่องเกี่ยวกับช่องลมหรือช่องแสงไว้ในหนังสือ คติ สัญลักษณ์ และความหมาย ของซุ้มประตู - หน้าต่างไทย "..การใช้ลักษณะช่องเปิดแบบ "ช่องลม" นี้ ย่อมมีผลกระทบต่อปริมาณของแสงสว่างที่จะสาดส่องเข้าไปต้องลดลง ซึ่งจะทำให้ภายในอาคารมีลักษณะค่อนข้างมืด แต่ช่างสุโขทัยก็ยังคงเลือกใช้แบบอย่างเช่นนี้อยู่ นั่นคงเพราะช่างไทยนั้นตระหนักดีถึงความงามของปริมาณแสงที่ว่า เมื่อถูกจำกัและลดความจ้าลงในระดับหนึ่งแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดคุณภาพของแสงสว่างภายในที่มีความนุ่มนวล.."

พระอุโบสถและวิหารร้าง ถ้ายจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ผมลองส่องดูลอดช่องแสงเข้าไปจึงเห็นว่าพระประธานนั่งหันหน้ามาทางทิศตะวันตก ด้านหน้าของพระอุโบสถจึงเป็นทางทิศนี้ซึ่งเป็นทิศที่หันลงแม่น้ำแต่ทว่าฝั่งน้ำนั้นอยู่ไกลออกไปมากพอสมควร ช่องแสงที่ผมส่องไปมองนั้นเขาเอาตาข่ายมุ้งลวดมายัดไว้ คงหวังไม่ให้มีนกบินเข้าทำรังแล้วขี้เลอะเถอะในพระอุโบสถ จุดนี้นับว่าเป็นข้อเสียของการทำช่องแสงหรือช่องลมอย่างหนึ่ง

ข้างพระอุโบสถทางทิศเหนือมีซากอาคารร้าง หันหน้าสวนกับพระอุโบสถไปทางทิศตะวันออก คงจะเป็นวิหารแต่ดูไม่น่าจะเก่ามากถึงอยุธยา

สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงเคยแวะที่วัดสะกัดน้ำมันแห่งนี้ และได้บันทึกเอาไว้ในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลกว่า "..ขึ้นไปดุวัดสกัดน้ำมัน วัดนี้ค่อนข้างดี มีโบสถ์หลังหนึ่งกับวิหารหลังหนึ่ง อยู่ไกลน้ำประมาณ ๑๐ เส้น กุฎีแลการเปรียญอยู่ริมน้ำ ที่กุฎีกับโบสถ์ห่างกันมากนี้ เพราะตลิ่งงอก กุฎีต้องเลื่อนมาอาไศรยแม่น้ำ โบสถ์เป็นของเก่า เดิมเป็นโถงเสาไม้เครื่องประดุ ภายหลังท่านอาจารย์สมภารเก่าปฏิสังขรณ์เปนฝาอิฐ วิหารดูใหม่กว่าหน่อย เปนฝาอิฐเครื่องประดุลายหน้าบรรพ์ตามช่องไม้ สลักเปนดอกสี่กลับ ดูก็ดีเหมือนกัน ง่ายกว่าลายกนก เหมาะสำหรับทำวัดบ้านนอก.."

พระอุโบสถถ่ายภาพจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ใบเสมาเป็นของทำใหม่ด้วยปูนซีเมนต์ ไม่รู้ว่าของเก่าอยู่ที่ไหน
ออกจากบริเวณพระอุโบสถไปที่ตัววัดที่อยู่ริมแม่น้ำ เมื่อเข้าไปถึงก็เห็นศาลาการเปรียญไม้หลังใหญ่ อาคารไม้หลังใหญ่ๆอย่างนี้ปัจจุบันตามวัดหาไม่ค่อยพบแล้ว หลายวัดมักจะปล่อยให้ทรุดโทรมแล้วเปลี่ยนไปทำเป็นตึกหล่อคอนกรีต กุฏิเจ้าอาวาสวัดนี้น่ารักทีเดียวเพราะทาสีชมพูสดใส เป็นอาคารยกใต้ถุนสูงแต่กรุผนังที่ใต้ถุนใช้อยู่ด้วย หลังคาเป็นเครื่องไม้ทำเป็นมุขประเจิดหน้าบันมีลายแกะสลัก

เข้าไปติดต่อกับท่านเจ้าอาวาสเพื่อขอเข้าไปดูข้างในพระอุโบสถ แต่พระที่ถือกุญแจไม่อยู่วัดเราจึงไม่ได้ดู ก่อนกลับจึงเดินไปดูริมตลิ่ง ข้างๆศาลาการเปรียญมีต้นจันท์ใหญ่กำลังมีลูก เห็นต้นจันท์แล้วรู้สึกถึงความเป็นวัดเก่าแก่ขึ้นมาได้ในทันที ที่จริงวัดไม่จำเป็นต้องเก่าแล้วถึงจะดูน่าไป ผมคิดว่าถ้าทำอะไรตามสมควรไม่ดูรกรุงรังเลอะเทอะ เอาแค่เป็นวัดที่จะเป็นแหล่งพึ่งพิงและพบปะกันของชาวบ้านเท่านี้ก็น่าจะพอแล้ว ถ้าจะให้ยิ่งดีก็ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น มีการดูแลจัดการพื้นที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ใช่ว่าสักแต่จะเทพื้นด้วยคอนกรีตให้สะท้อนแสงแดดร้อนระอุไปทั่วไปวัดสุดท้ายก็สะดวกแค่เป็นที่จอดรถเท่านั้น อาคารก็ไม่จำเป็นต้องสร้างกันจนเกินความจำเป็นจนทำความสะอาดไม่ไหว

ที่จริงวัดนี้ก็ทำได้ดีทีเดียว พอไปถึงศาลาท่าน้ำก็ยิ่งเห็นว่าน่าชื่นชมมาก เพราะเข้าใจทำให้มีเอาไว้แม้จะไม่ได้ใช้เป็นเท่าเทียบเรือเหมือนแต่ก่อนแล้วก็ตาม ตลิ่งแม่น้ำน่านค่อนข้างสูงจากระดับน้ำขึ้นมาพอสมควร ใกล้ๆกับศาลาท่าน้ำมีเจดีย์อยู่ด้วยแต่ไม่เก่ามากมายนัก

กุฏิเจ้าอาวาส

ศาลาท่าน้ำ ออกแบบให้ Mirror กัน ดูดีมากทีเดียว

บ่ายโมงเรามาถึงบ้านจูงนาง ที่นี่มีร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อตั้งอยู่ริมตลิ่งแม่น้ำน่าน บรรยากาศดีรสชาติก็อร่อยใช้ได้ กินก๋วยเตี๋ยวเสร็จเราก็ย้อนกลับมาดูวัดจูงนางหรือวัดศรีรัตนาราม ผมได้ข้อมูลมาจาก Facebook ของพี่ฏั๊ว ปติสร เพ็ญสุต ว่ามีซากอาคารเก่าเหลืออยู่ในวัดนี้ และซากอาคารหลังดังกล่าวนั้นก็คือวิหารหลวงพ่อขาว วิหารหลังนี้เคยเป็นวิหารร้างแล้วผุพังไป ต่อมาชาวบ้านสร้างศาลาโถงคลุมซากอาคารหลังนี้ไว้อีกทีโดยไม่ได้รื้อซากวิหารออกไป ทำให้หลงเหลือร่องรอยของสถาปัตยกรรมเดิมให้เห็น

วิหารหลวงพ่อขาวหลังนี้เป็นอาคารทรงคฤห์ เดิมคงจะมีลักษณะคล้ายๆกับอุโบสถวัดสะกัดน้ำมัน ที่ฝาด้านข้างมีการใช้ช่องแสงและบานหน้าต่างผสมกัน ฐานปัทม์ทำเส้นแอ่นโค้งเล็กน้อยพองาม ด้านหน้าทำพิเศษตรงที่มีโถงแคบๆห้องหนึ่งก่อนจะผ่านผนังสกัดเข้าไปด้านใน ภายในปรับปรุงเป็นพื้นที่ใช้สอย พื้นปูกระเบื้องเรียบร้อย เดิมอาจจมีเสาร่วมในแต่ไม่มีร่องรอยให้เห็นแล้ว พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยทำด้วยปูนปั้น เป็นพระพุทธรูปที่คนท้องถิ่นให้ความเคารพนับถือเป็นพิเศษ

บริเวณมุมทางด้านหน้าของวิหาร
ร่องรอยของงานจิตรกรรม อยู่เหนือช่องแสงด้านในห้องโถงด้านหน้าของวิหาร

พี่แพรอ่านข้อมูลบนแผ่นป้ายที่ติดอยู่ในบริเวณวัด ทำให้ได้รู้ว่ามีภาพงานจิตรกรรมหลงเหลืออยู่บนผนังในห้องมุขโถงด้านหน้า เป็นรูปผู้ชายสองคน คนหนึ่งเป่าแคนและอีกคนกำลังฟ้อนรำ เดิมโถงด้านหน้านี้คงจะทำหลังคาคลุมเป็นจั่วปิด โดยทำชายคาปีกนกรอบ บางทีอาจจะมีเสาพาไลทางด้านข้างด้วย

ด้านหลังวิหารมีกลุ่มเจดีย์ ดูเป็นของเก่าแต่มาซ่อมเพิ่มเติมเอาทีหลัง ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุม ๕ องค์ ถ้าสร้างคราวเดียวกันก็น่าจะจงใจให้เข้าผัง คือมีเจดีย์ประธานอยู่กลาง และมีเจดีย์ประจำทิศอีก ๔ องค์

ออกจากวัดจูงนางพี่จิกับพี่แพรขับรถย้อนเข้าไปส่งผมที่โรงแรมในเมือง แล้วพักกินกาแฟกันก่อนที่พี่จิกับพี่แพรจะเดินทางกลับกรุงเทพ ส่วนผมขึ้นไปนอนพักเพราะรู้สึกแสบตา

เจดีย์ประธานด้านหลังวิหาร

ผมโทรไปหาเนย เพื่อนที่เคยทำงานอยู่บริษัทเดียวกัน ให้เธอช่วยแนะนำร้านหมอตาที่พิษณุโลกให้ ตกเย็นพ่อของเนยก็ขับรถมอเตอร์ไซค์มารับผมที่โรงแรม แล้วพาไปส่งที่คลินิคแถวๆตลาดที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ หลังจากหาหมอเสร็จผมก็เดินกลับโรงแรม ข้ามแม่น้ำน่านมาทางศาลหลักเมือง วันนี้มีการประดับไฟกับม่านน้ำที่สะพานข้ามแม่น้ำน่าน เป็นอีกหนึ่งสีสันยามค่ำคืนที่ของเมืองพิษณุโลก

วัดมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ยามค่ำคืน
ม่านน้ำที่สะพานข้ามแม่น้ำน่าน มองเห็นเจดีย์วัดราชบูรณะอยู่ไกลๆ


.................. .. ..................



วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ 


วันที่ ๑๙ ที่จะถึงนี้เป็นวันแต่งงานของเพื่อนที่ภูน้ำเข็ก ผมและเพื่อนๆนัดเจอกันที่พิษณุโลกตอนเย็นวันนี้ ทีแรกผมตั้งใจจะไปนอนสุโขทัยแล้วตื่นมาดูวัดตระพังทองหลางกับวัดช้างล้อมตอนเช้าๆ แล้วค่อยกลับมาที่พิษณุโลกตอนบ่ายๆแต่ผิดแผนเพราะเจ็บตา ตื่นมาวันนี้เลยไม่รู้จะไปไหน

ผมมาถึง บขส.ตอนใกล้ๆเที่ยงวัน ตอนแรกคิดว่าจะเดินข้ามฝั่งไปดูวัดอรัญญิก แต่พอดีมีรถไปนครไทยจะออกตอนเที่ยงตรง ถามคนขายตั๋วเขาบอกว่าใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง ผมเลยตัดสินใจไปที่นครไทยแทน

จาก บขส. แถวๆวัดอรัญญิก รถก็วิ่งออกไปที่ บขส.ใหม่ที่สี่แยกอินโดจีน ผมไม่ค่อยชอบ บขส.ที่หลายจังหวัดสร้างขึ้นใหม่ เพราะมันอยู่ไกลออกมาจากตัวเมืองหลายกิโลเมตร บางทีรถทัวร์มาจอดก็สร้างความสับสนวุ่นวาย เพราะรถทัวร์บางคันก็ต้องเข้า บขส. ทั้งสองที่ ถ้าลงผิดก็ต้องเสียเงินนั่งรถโดยสารเข้าไปในเมืองอีก ยิ่งถ้าเผลอไปขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ยิ่งต้องเสียหลายบาท ผมเคยเจอปัญหานี้ที่เชียงราย ตอนนั้นเกือบพลาดไม่ทันรถแถมยังโดนมอเตอร์ไซค์รับจ้างขูดรีด ที่ระยองกับชลบุรีก็สร้างบขส.ใหม่ห่างไกลเหมือนกัน สุดท้ายก็เลยไม่มีคนไปใช้บริการมีแต่รถทัวร์พวกนี้ที่ต้องแวะเข้าไปทำอะไรสักอย่างตามกฏระเบียบของเขาเท่านั้นเอง

เขาสมอแครงอยู่ใกล้กับอำเภอวังทอง เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนสมัยโบราณ มีข้อมูลว่าพบโบราณวัตถุในสมัยทวารวดีด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีร่องรอยของศาสนสถานเก่าแก่อีกหลายแห่ง เขาลูกนี้มองเห็นได้แต่ไกล จนเข้าใกล้ตีนเขาผมก็เห็นถนนลาดยางเป็นทางตัดขึ้นไปบนเขา เลยไปอีกไม่ไกลรถก็จอดแวะรอผู้โดยสารที่อำเภอวังทอง ที่อำเภอนี้มีวัดเก่าที่น่าสนใจผมตั้งใจว่าจะหาโอกาสแวะดูให้ได้

จากอำเภอวังทองมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ถนนตัดผ่านภูเขาสูงชันคู่ขนานไปกับลำน้ำเข็กหรือแม่น้ำวังทอง ภูเขาย่านนี้เต็มไปด้วยหินทรายจำนวนมาก เห็นตามข้างทางเป็นก้อนๆเล็กบ้างใหญ่บ้าง มองย้อนกลับไปทางตะวันตกจะเห็นเขาสมอแครงดูโดดเด่น

รถแวะส่งคนและจอดอยู่สักพักที่ทรัพย์ไพรวัลย์ ก่อนจะออกเดินทางต่อไปตามถนนที่ตัดเลาะไหล่เขา ทางขวามือมองเห็นลำน้ำเข็กได้เป็นช่วงๆ ตอนนี้เขากำลังจะขยายทางให้กว้างขึ้นต้นไม้ข้างทางเลยถูกตัดล้มลงให้เห็นไปตลอด รถเลี้ยวขวาที่แยกบ้านแยง แยกนี้มีกำแพงเมืองทำขึ้นใหม่บอกว่าเป็นกำแพงเมืองบางยาง เมืองของพ่อขุนบางกลางหาว ฟังชื่อตำบลแล้วก็ดูคลับคล้ายคลับคลาดี แต่สภาพภูมิประเทศนั้นดูไม่ค่อยเหมาะสม เพราะอยู่บนเขาเป็นแต่ที่เนินลาดขึ้นลงสูงๆต่ำ ทั้งแหล่งน้ำก็คงจะหาใช้สอยไม่ค่อยสะดวกไม่น่าจะเป็นที่ตั้งของบ้านเมืองสำคัญ แต่จะว่าไปก็ไม่แน่เพราะหากมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และมีที่ราบสำหรับการเกษตรอยู่ไม่ไกลนัก ก็อาจจะพอสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นมาได้ ผมเคยเห็นภูมิประเทศของเมืองเชียงตุงที่สร้างล้อมบึงน้ำขนาดใหญ่และตั้งอยู่บนที่เนินสูงๆต่ำๆ ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรก็อยู่แยกออกไปตามที่ราบริมแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากจะหาคำตอบว่าเมืองบางยางอยู่ที่นี่จริงหรือไม่ ก็จำเป็นต้องมีการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อหาหลักฐานมาประกอบเสียก่อน ถึงจะสามารถนำมาใช้ประกอบการสันนิษฐานได้อย่างหนักแน่น

จากบ้านแยงตรงขึ้นไปทางเหนือ มองเห็นที่ราบระหว่างหุบเขาไกลออกไปทางตะวันออก ขึ้นๆลงๆเนินไปอีกสักพักเราก็ลงสี่ที่ราบกว้างใหญ่ที่มีลำน้ำไหลผ่านและมีที่นาปลูกข้าว ภูมิประเทศลักษณะนี้คล้ายกับพื้นที่ราบในหุบเขาทางเหนือ อันจะเป็นที่ตั้งของชุมชนและบ้านเมืองขนาดใหญ่ อย่างเช่น เชียงใหม่ น่าน ลำปาง เป็นต้น

 .. .......................... ..

แผนที่ตัวเมืองนครไทย ปัจจุบันยังหลงเหลือร่องรอยของคูน้ำคันดิน ที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันตนเอง และการเพื่อจัดการน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภครวมไปถึงปัญหาอุทกภัย

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายลักษณะของเมืองนครไทยเอาไว้ในหนังสือ เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย ว่า "..เป็นชุมชนโบราณรูปไม่สม่ำเสมอ มีขนาดประมาณ ๘๐๐ x ๔๐๐ เมตร ตั้งอยู่ติดกับลำน้ำแควน้อย มีร่องรอยของคูน้ำและคันดินล้อมรอบสามชั้น ภายในเมืองพบซากพระสถูปเจดีย์และวิหารสองสามแห่ง แต่ว่าส่วนใหญ่ถูกทำลายและมีการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุมาไว้ในวัดประจำชุมชนหมดแล้ว.."

ลักษณะของเมืองนครไทยมีแผนผังคล้ายกับเมืองในสมัยทวารวดี คือมีการขุดคูน้ำล้อมรอบตัวเมืองที่สร้างขึ้นติดกับลำน้ำสายเล็กๆ เช่น เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองลพบุรี เป็นต้น อีกลักษณะหนึ่งก็คือขุดคูน้ำล้อมเมืองที่ตั้งอยู่สองฝั่งของลำน้ำ กล่าวคือเป็นเมืองที่มีลำน้ำไหลผ่านกกลางเมืองนั่นเอง เช่น เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองนครปฐม เป็นต้น 

แม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองนครไทยนี้คือแม่น้ำแควน้อย หนึ่งในสองแควอันเป็นที่มาของเมืองสองแควหรือพิษณุโลก ผมไม่ทราบแน่ชัดว่าเส้นทางแม่น้ำแควน้อยนี้จะสามารถเดินทางขึ้นล่องโดยใช้เรือแพได้หรือเปล่า หากได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่จะช่วยตอกย้ำความสำคัญของเมืองนครไทยต่อเมืองพิษณุโลก เพราะจะเป็นเส้นทางที่สมารถติดต่อกับเมืองที่อยู่เลยขึ้นไปทางทิศเหนือ นั่นหมายความว่านครไทยจะเป็นสถานีรวบรวมสินค้าและผู้คนก่อนจะล่องลงไปตามแม่น้ำแควน้อย

โบราณวัตถุสมัยทวารวดีที่พบในเมืองนี้คือ ลายสลักรูปสถูปแบบทวารวดีที่ด้านหลังพระพุทธรูปศิลาของวัดหน้าพระธาตุ ซึ่งอาจารย์ศรีศักรได้ให้ความเห็นว่า "..ในเรื่องนี้ข้าพเจ้ายอมรับความจำกัดของข้อมูลว่าไม่อาจกำหนดอายุของเมืองได้ ..หากแต่เห็นว่าเสมาหลักนี้เป็นของแบบทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ถูกนำมายังเมืองนครไทยในสมัยใดสมัยหนึ่ง การนำเสมานี้เข้ามา ณ เมืองนครไทยย่อมแสดงให้เห็นว่ามีการเกี่ยวข้องกันระหว่างเมืองนครไทยกับบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจริง ภาพที่สลักเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรนั้นเป็นของในสมัยหลังแน่และเป็นลักษณะศิลปะท้องถิ่นที่ค่อนข้างมีฝีมือทีเดียว อาจเป็นของที่สลักขึ้น ณ ที่เมืองนครไทยและคงอยู่ในสมัยสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น.."

แต่โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ควรจะยกมาใช้เป็นหลักฐานในการกำหนดอายุของเมืองนครไทยก็คือ พระพุทธรูปนาคปรกศิลปะเขมรแบบหลังบายนที่วัดกลาง พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองนี้ในระดับหนึ่ง ที่มีช่างฝีมือพื้นเมืองสามารถสร้างพระพุทธรูปได้สวยงาม รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงการรับเอาศิลปะวัฒนธรรมที่เผยแพร่เข้ามาจากภายนอกด้วย พระพุทธรูปองค์นี้อาจารย์ศรีศักรให้ความเห็นว่า "..พระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรกขนาดใหญ่เท่าคน และโกลนพระพุทธรูปหินแบบลพบุรีที่เรียกว่าหลวงพ่อหินที่วัดกลางในเมืองนครไทย โบราณวัตถุทั้งสองชิ้นนี้เป็นฝีมือช่างท้องถิ่นที่ทำขึ้น ณ เมืองนครไทยอย่างไม่ต้องสงสัย พระพุทธรูปองค์หนึ่งทำเสร็จแล้วแต่อีกองค์หนึ่งยังเป็นโกลน โดยเฉพาะองค์ที่ทำไม่เสร็จนั้นย่อมเป็นประจักษ์พยานที่แสดงว่าเป็นของที่ทำขึ้นในบริเวณนี้นี่เองไม่ใช่ของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าชุมชนแห่งนี้น่าจะมีมาแต่สมัยลพบุรีแล้ว ตามลักษณะศิลปกรรมของพระพุทธรูปคงอยู่ในปลายสมัยลพบุรีซึ่งก็คงราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นอย่างมาก.."

เศียรพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่วัดกลาง
โกลนพระพุทธรูปปางนาคปรกแกะสลักจากหินทรายแดง พบที่วัดกลาง เมืองนครไทย






















เมืองนครไทยปรากฏหลักฐานชี้ว่ามีความสำคัญขึ้นมาในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ช่วงเวลาเดียวกันกับที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงการรบพุ่งชิงอำนาจที่เมืองสุโขทัย ดังที่ศิลาจารึกหลักที่ ๒ (วัดศรีชุม) กล่าวว่า ..ขอมสลาดโขลญลำพง...พายพง พ่อขุนผาเมืองจึงยังเมืองสุโขทัยเข้าได้ เวินเมืองแก่พ่อขุนบางกลางหาว พ่อขุนบางกลางหาวมิสู่เข้าเพื่อเกรงแก่มิตรสหาย พ่อขุนผาเมืองจึงเอาพลออก พ่อขุนบางกลางหาวจึงเข้าเมืองพ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองสุโขทัยให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหาย เรียกชื่อศรีอินทราทิตย์ นามเดิมกมรเต็งอัญผาเมือง..
ที่มา : http://www.sukhothai.go.th/history/hist_06.htm

ในศิลาจารึกมีการกล่าวถึงชื่อเมืองราดของพ่อขุนผาเมือง และเมืองบางยางของพ่อขุนบางกลางหาว(?) ซึ่งเข้าใจว่าเป็นฐานกำลังในการทำศึกชิงเมืองสุโขทัยจากขอมสบาดโขลญลำพง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับที่ตั้งของทั้งสองเมือง มีเพียงข้อสันนิษฐานที่กล่าวถึงเมืองราดและเมืองบางยางแตกต่างกันไป 

ในส่วนราชการและท้องถิ่นดูเหมือนจะเชื่อว่า เมืองนครไทยนี้คือเมืองบางยางของพ่อขุนบางกลางหาวอย่างจริงจัง มีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านไว้ที่วัดกลาง ทั้งยังมีตำนานที่เล่าขานกันในท้องถิ่นประกอบด้วย ส่วนเมืองราดนั้นก็เชือกันว่าคือเมืองเพชรบูรณ์ และมีอนุสาวรีย์ของพ่อขุนผาเมืองอยู่ที่นั่นเช่นกัน

อาจารย์พิเศษ เจียรจันทร์พงษ์ เขียนถึงเรื่องเมืองราดเอาไว้ในหนังสือ พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช ว่า "..ตระกูลของพ่อขุนผาเมืองได้หายไปจากประวัติศาสตร์ไทยอย่างชนิดว่าไม่มีร่องรอยโยงใยเหลือให้เห็นเลย อาจเป็นเพราะว่าไม่รู้ว่าเมืองราดตั้งอยู่ที่ใดก็ได้ ได้เคยมีการศึกษาว่าควรจะตั้งอยู่ที่ใดกันมาก่อน บางครั้งก็เชื่อว่าอยู่ที่เพชรบูรณ์ แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงความเชื่อโดยปราศจากหลักฐานใดๆ และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อให้มั่นคงยิ่งขึ้น จึงเกิดตำนานเรื่องพ่อขุนผาเมืองขึ้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์หลายเรื่อง แต่ทั้งหมดก็เป็นตำนานที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ไม่เกิน ๕๐ ปีมานี้เอง.. พิจารณาความในศิลาจารึกหลักที่ ๒ ที่กล่าวเป็นตำนานเรื่องพ่อขุนผาเมืองเป็นลูกเขยขอมเมืองศรีโสธรปุระ และเมื่อยึดเมืองสุโขทัย - ศรีสัชนาลัยได้แล้วกลับยกเมืองให้สหาย ตนเองกลับไปครองเมืองราดอย่างเดิม ชี้ให้เห็นว่าเมืองราดนั้นต้องเป็นเมืองที่มีศักดิ์ศรีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเมืองสุโขทัย - ศรีสัชนาลัยอย่างแน่นอน อีกทั้งเมืองราดนี้ก็ควรที่จะต้องมีโบราณวัดถุ โบราณสถานที่แสดงความสัมพันธ์กับรูปแบบโบราณวัตถุ - โบราณสถานของเขมร (ที่เรียกว่าศิลปะลพบุรี) ด้วย
ในการตรวจสอบเมืองโบราณในเขตท้องที่ดังกล่าวพบว่า เหนือเมืองสรวงสองแคว (พิษณุโลก) ซึ่งเป็นเมืองที่เชื้อสายของพ่อขุนผาเมืองครอบครองสืบต่อมาในเขตลุ่มแม่น้ำน่านนั้น เหนือขึ้นไปตามลำน้ำน่านเขตท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเมืองโบราณคือเมืองทุ่งยั้งในเขตท้องที่อำเภอลับแล มีร่องรอยของโบราณวัตถุ โบราณสถานที่มีรูปแบบทางศิลปะเป็นแบบเขมรโบราณคือแบบลพบุรีอยู่ด้วย.."

 แต่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ให้ความเห็นว่าเมืองทุ่งยั้งที่อยู่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์นั้นเป็นเมืองสรลวงหรือสระหลวง ที่เป็นเมืองคู่ของเมืองสองแควบนเส้นทางแม่น้ำน่าน และให้ความเห็นว่าเมืองราดคือเมืองนครไทย "..จากหลักฐานทางโบราณคดีและตำแหน่งที่ตั้งนั้นแสดงให้เห็นว่าเมืองนครไทยเป็นเมืองที่ (๑) มีทั้งโบราณสถานวัตถุที่มีการสืบเนื่องมาแต่สมัยลพบุรี สุโขทัย และอยุธยา และ (๒) เป็นเมืองสำคัญที่จะเรียกว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ควบคุมเส้นทางการคมนาคมและการค้าระหว่างภูมิภาค จากแคว้นสุโขทัยไปยังแว่นแค้วนเวียงจันทร์ เวียงคำ ในลุ่มน้ำโขงอย่างชัดเจน.. การมีชื่อว่านครไทยนั้นเป็นชื่อที่เปลี่ยนมาเรียกในภายหลัง จากหลักฐานทางโบราณคดี ตำแหน่งที่ตั้งของเมือง และเรื่องราวและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏทั้งด้านศิลาจารึกและตำนานพงศาวดารขณะนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเมืองนครไทยนี้แต่เดิมก็คือเมืองราดนั่นเอง.."


ดูความคิดเห็นเพิ่มเติม : http://haab.catholic.or.th/history/history002/sukhothai3/sukhothai3.html 
ดูความคิดเห็นเพิ่มเติม : http://planaonao.blogspot.com/2010/11/blog-post_27.html 

.. .......................... ..


ผมมาถึงนครไทยตอนบ่ายสองโมงตามกำหนดการพอดี เดินออกจากท่ารถไปที่ร้านข้าวข้างๆโรงพยาบาล คุณน้าเจ้าของร้านเธอใจดี พอรู้ว่าผมจะไปดูวัดก็บอกทางแล้วแนะนำให้ลูกชายขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่ง ผมหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตแล้วก็ดูแผนที่ทางอากาศมาบ้างแล้วตอนที่รอรถออกจากพิษณุโลก ทำให้รู้ว่าในเมืองนครไทยมีวัดสำคัญๆ ๓ แห่ง วัดแรกคือวัดหน้าพระธาตุหรือวัดเหนือ

ผมให้น้องไท้มาส่งผมที่วัดหน้าพระธาตุก่อน แต่ไม่ได้ให้น้องอยู่รอนัดกันว่าถ้าเสร็จจากวัดนี้ผมจะโทรไปให้น้องมารับอีกที เพราะเกรงใจว่าอาจจะดูนั่นดูนี่นาน

ท่านเจ้าอาวาสวัดหน้าพระธาตุท่านมีอัธยาศัยดี ท่านแนะนำข้อมูลและเอาหนังสือเกี่ยวกับนครไทยมาให้ผมดู เป็นหนังสือที่บอกข้อมูลทางโบราณคดีเกี่ยวกับนครไทย ผมจดข้อมูลใส่กระดาษไว้คร่าวๆแต่ทำกระดาษหายไปเลยลืมชื่อหนังสือ ถ่ายรูปโบราณวัตถุจากหนังสือเอาไว้ก็เผลอลบหายไปอีก จึงเหลือแต่ข้อมูลในหัวแบบลางๆ

กราบลาท่านเจ้าอาวาสแล้วผมก็เดินไปดูหลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัดหน้าพระธาตุ ประดิษฐานอยู่บนศาลาไม้ที่สร้างทับฐานอาคารโบราณก่ออิฐ พระพุทธรูปองค์นี้แกะด้วยหินเนื้อละเอียด ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรจึงเรียกันว่าหลวงพ่อเพชร ด้านหลังขององค์พระมีลายแกะเป็นรูปสถูปทรงหม้อน้ำแบบทวารวดี ถ้าหากว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นที่นี่จริง ก็จะเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดที่พบในเมืองนครไทยขณะนี้เลยทีเดียว ใกล้ๆกันมีแท่งหินทรายแดงทรงสี่เหลี่ยมยอดมน ด้านหน้าแกะลึกเข้าไปเป็นรูปพระยืนแต่ดูไม่น่าจะเก่ามากนัก ของสองอย่างนี้ถูกล้อมไว้ด้วยลูกกรงเหล็กเพื่อป้องกันการโจรกรรม

พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร
ลายสลักด้านหลังพระพุทธรูป แกะเป็นยอดสถูปแบบทวารวดี คล้ายคลึงกับลายสลักบนเสมาแบบทวารวดีที่พบในภาคอีสาน
























ศาลาไม้ที่ใช้ประดิษฐานหลวงพ่อเพชรแต่เดิมน่าจะถูกใช้เป็นศาลากาเปรียญ ที่ใต้ถุนมีร่องรอยของฐานอาคารก่ออิฐหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ชุกชีก็อยู่บริเวณเดียวกันกับที่ตั้งของหลวงพ่อเพชร ศาลาไม้ที่สร้างคร่อมทับฐานอิฐเก่านั้นไม่ได้ขุดหลุมฟังเสาลงไปในดินแต่อย่างใด เขาเอาแผ่นหินมาวางรองแล้วทำเหมือนยกอาคารทั้งหลังมาวางทับไว้อย่างนั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่มั่นคงมาได้ หลวงพ่อเจ้าอาวาสที่ปรารภว่าอยากจะสร้างศาลาใหม่ให้ดีกว่าเดิมแต่ติดที่กรมศิลปการขึ้นทะเบียนไว้ ที่จริงอาคารหลังนี้ก็ดูเก่าแล้วกรมศิลปการน่าจะไปตรวจดูและแนะนำท่านว่าควรจะทำอย่างไร มีหลายแห่งที่ทางกรมขึ้นทะเบียนเอาไว้แต่ไม่ไปตรวจดู นานวันเข้าก็ผุผังสูญหายเจ้าของพื้นก็ถือเป็นโอกาสเนียนทำใหม่หรือไม่ก็ไถทิ้ง

ท้ายอาคารมีเจดีย์องค์หนึ่งดูเป็นของทำใหม่ แต่ข้อมูลที่อ่านในหนังสือของท่านเจ้าอาวาสบอกว่า แต่ก่อนเป็นเจดีย์เก่าแต่ซ่อมใหม่จนไม่ได้เค้าเดิม สันนิษฐานกันว่าเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม(?)

หลวงพ่อเจ้าอาวาสได้เล่าให้ผมฟังว่าแต่ก่อนนี้ลำน้ำแควน้อยไหลเข้ามาถึงบริเวณหลังวัด ภายหลังมีการขุดคลองลัดทำให้แม่น้ำเปลี่ยนเส้นทางไม่ไหลวกเข้ามา ทางน้ำเก่าจึงกลายเป็นบึงไป ท่านบอกว่าแต่ก่อนชาวบ้านก็ใช้เรือพายไปมาในลำน้ำแควน้อยด้วย ที่วัดยังมีเรือยาวที่ใช้แข่งขันกันในงานประเพณีเก็บเอาไว้ที่โรงเก็บของทางด้านหลัง

ศาลาไม้ที่สร้างคร่อมทับฐานอาคารโบราณก่ออิฐ ด้านหลังเป็นเจดีย์

 ผมเดินออกจากวัดหน้าพระธาตุย้อนกลับไปทางวัดกลาง แวะไปดูทางน้ำเก่าที่วกเข้ามาในเมืองที่ตอนนี้ตื้นเขินมีน้ำเพียงเล็กน้อย แถวๆวัดกลางเป็นที่เนินสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บริเวณตลิ่งก็สูงขึ้นมามากพอสมควร

วัดกลางมีพระอุโบสถทรงคฤห์ปัจจุบันทาผนังด้วยสีทอง น่าดีใจที่วัดนี้เปิดพระอุโบสถเอาไว้ให้คนเข้าไปไหว้พระด้านในได้ พระอุโบสถหลังนี้ได้รับการซ่อมแปลงแล้ว ภายในมีเสาไม้เป็นเสาร่วมใน ผนังเขียนจิตรกรรมด้วยสีสันจัดจ้าน พระประธานและแท่นชุกชีดูคล้ายอย่างงานอยุธยาปลายแต่ซ่อมไปมากแล้ว พระพุทธรูปสำคัญคือพระนาคปรกศิลปะเขมรหลังบายน ใบหน้าอ่อนโยนลงจนดูเป็นฝีมือช่างท้องถิ่น แต่ส่วนที่เป็นเศียรนาคหักหายไป จากข้อมูลในหนังสือของเจ้าอาวาสวัดหน้าพระธาตุบอกว่าเดิมมีพระพุทธรูปนาคปรกแบบนี้อีกองค์หนึ่งที่สมบูรณ์มากกว่าเพราะมีเศียรนาคครบ แต่ถูกโจรกรรมสูญหายไปแล้ว

ด้านหลังพระอุโบสถมีแท่นคอนกรีตตั้งโกลนพระพุทธรูปหินทรายแดงที่แกะไม่เสร็จไว้กลางแจ้ง ในบริเวณวัดมีอนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าวกับต้นจำปีใหญ่ น้องไท้มาบอกกับผมทีหลังว่าตอนเด็กๆได้ทันเห็นเจดีย์เก่าตั้งอยู่ข้างๆต้นจำปี แต่เดี๋ยวนี้ถูกรื้อทิ้งไม่เหลือร่องรอยใดๆแล้ว

พระอุโบสถวัดกลาง

ภายในพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก ตั้งอยู่ที่ด้านหน้าฐานพระประธาน


บ่าย ๓ โมงครึ่งผมโทรให้น้อไท้มารับพาไปดูวัดโพธิ์ลังกาซึ่งเป็นสถานที่เผาศพนอกเมือง บริเวณนั้นสามารถเห็นคูเมืองทางด้านทิศใต้ของเมืองนครไทยได้ชัดเจน ผมคุยกับน้องไท้ว่าอยากจะไปที่วัดนาบัว เพราะจากข้อมูลในหนังสือบอว่าวัดนาบัวได้ขนย้ายเอาใบเสมาจากวัดกลางไป

น้องไท้ยินดีจะไปส่งผม ระยะทางจากตัวเมืองนครไทยไปบ้านนาบัวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร สองข้างทางเป็นท้องทุ่งนาและภูเขา บ้านเรือนปลูกอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ดีที่ตอนบ่ายนี้แดดร่มลงอากาศเลยไม่ร้อนอบอ้าวแต่อย่างใด

ในหนังสือ เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย อาจารย์ศรีศักรกล่าวถึงบ้านหนองบัว แต่ผมเข้าใจว่าน่าจะหมายถึงบ้านนาบัวที่แห่งนี้ "..พบซากวัดโบราณและพระสถูปขนาดเล็ก ลักษณะผังโบสถ์และเสมาหินแสดงให้เห็นว่าเป็นรูปแบบเดียวกับที่พบในเขตเมืองพิษณุโลกตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นลงมา ตามบริเวณวัดพบเนินดินมีเศษภาชนะสังคโลก ภาชนะของจีน และภาชนะประเภทไหหินตามผิวดิน วัดนี้ได้รับการบูรณะให้เป็นวัดของชุมชนเรื่อยมา.. ได้มีการขุดพระเจดีย์ในเขตวัดนี้พบภาชนะสำริดแบบสุโขทัยใส่อัฐิของคนตายรวมอยู่กับภาชนะไหหินสีดำและสีเทา.."


พระอุโบสถวัดนาบัว
วัดนาบัวตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำที่ไหลผ่านหน้าวัดทางทิศตะวันออก พระอุโบสถเป็นทรงคฤห์คล้ายอย่างที่วัดกลาง ดูทีจะเป็นที่นิยมในวัดกลุ่มเมืองพิษณุโลกนี้มากทีเดียว ดูวัดเงียบเชียบมากเห็นแต่มีช่างกำลังสร้างอาคารคอนกรีตอยู่ทางทิศเหนือ ไม่มีเวลาจะไปตามหาพระให้มาเปิดโบสถ์ต้องเดินดูแต่ข้างนอก ด้านหลังโบสถ์มีศาลาสร้างติดๆกับโบสถ์ มีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่ มีร่องรอยว่าแต่เดิมเป็นอาคารหรือไม่ก็เป็นท้ายจระนำ สันนิษฐานว่าอาคารหลังเดิมคงจะพังลงแล้วมาสร้างโบสถ์ใหม่ขึ้นในที่เดิม 

ใบเสมาหินทรายแดงรอบโบสถ์เป็นใบเสมาขนาดเล็ก ดูแล้วไม่น่าจะเก่าไปกว่าสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ละใบมีลายแกะดูสวยงามแบบงานพื้นบ้าน ที่หน้าพระอุโบสถมีเจดีย์เรียงกันสามองค์ องค์ใกล้บูรณะใหม่อีกสององค์ถัดไปพังทลายเป็นซาก ดูเป็นเจดีย์แบบล้านช้าง

ใบเสมาหินทรายแดง


กลุ่มพระเจดีย์ทางด้านหน้า

น้องไท้แนะนำให้ผมไปดูเขาช้างล้วง ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนครไทย น้องเล่าว่าทุกปีจะมีประเพณีเดินขึ้นเขาช้างล้วงนำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นไปปักธงชัยเพื่อลำรึกถึงชัยชนะของพ่อขุนบางกลางหาว

กลับเข้ามาในเมืองนครไทยแล้วเลี้ยววกออกไปอีกทาง ผ่านหมู่บ้านไปตามซอกซอยที่คดเคี้ยวไปเรื่อยๆน้องก็จอดรถให้ผมลงไปดูเขาช้างล้วงในจุดที่มองเห็นโขดหินบนภูเขาได้ชัดเจน (เขาช้างล้วงนี้ผมจำผิดเป็นเขาช้างย้อย) แถวนี้มีเรือนแบบพื้นบ้านเก่าๆน่าดูหลายหลัง แวดล้อมด้วยท้องนาป่าเขาดูเป็นชีวิตที่สงบเรียบง่าย

เขาช้างล้วงทางทิศเหนือของเมืองนครไทย

กลับมาที่วัดหัวร้อง วัดนี้อยู่นอกเขตเมืองโบราณมาทางทิศใต้ มีพระอุโบสถทรงคฤห์หลังเล็กๆใบเสมาหล่อปูนเป็นของทำใหม่แต่ดูเหมือนจะเลียนแบบมาจากของเก่า ภายในวัดมีวิหารใหญ่หลังหนึ่งเป็นคฤห์เหมือนกัน เสียดายไม่มีเวลาไปขอเข้าชม คนในวัดบอกว่าแต่ก่อนเปิดให้คนเข้าไปไหว้พระได้ตลอด แต่หลังๆมาของหายเลยต้องปิดเอาไว้

พระอุโบสถวัดหัวร้อง ถ่ายจากมุมวัดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

พระวิหารวัดหัวร้อง ถ่ายจากข้างศาลาการเปรียญทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ


ห้าโมงเย็นพอดิบพอดีที่ผมมาถึงท่ารถ หลังจากขอบคุณน้องไท้แล้วผมก็ขึ้นรถทัวร์โดยสารกลับมาตามทางเดิม ปิดฉากการเดินทางของวันนี้ที่ทรัพย์ไพรวัลย์ ถึงเวลาสนุกสนานกับเพื่อนๆที่นานๆจะได้รวมตัวกันสักที


งานแต่งงานของเพื่อนที่ภูน้ำเข็ก


.................. .. ..................




วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ 

 

ประมาณ ๑๐ โมงเช้า ผมเดินทางออกจากบ้านงานที่ภูน้ำเข็กมาที่อำเภอวังทอง ที่วัดวังทองวรารามมีวิหารเก่าหลังหนึ่ง เป็นอาคารทรงคฤห์ก่อสร้างแบบโบราณดูเก่ากว่าหลังที่เห็นผ่านๆมาในหลายวันนี้ เป็นอาคารที่ใช้เสารับน้ำหนักโดยก่อผนังเลียนแบบฝาไม้ปะกนของเรือนไทยและใช้ช่องแสงแทนหน้าต่าง เป็นอาคารขนาด ๖ ห้องใช้หลังคาแบบจั่วปิดมีชายคาปีกนกรอบ ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก มีทางเข้าสองทางซ้ายขวาตรงกลางเป็นผนังสกัดมีช่องแสง ทางด้านหลังก็ทำแบบเดียวกัน

เสียดายที่ท่านเจ้าอาวาสไม่อยู่ทำให้ไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ ได้เจอลุงสุวิทย์ที่เป็นคนในพื้นที่ ลุงเล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนอาคารหลังนี้เป็นพระอุโบสถ เคยมีใบเสมาปักอยู่กับพื้นดินไม่มีฐานรองรับแต่ถูกถอนเอาไปใช้ที่พระอุโบสถหลังใหม่ ปัจจุบันทางวัดถมดินให้พื้นสูงขึ้นฐานของวิหารจึงหายไปเกือบๆ ๑ ฟุต ในปี พ.ศ.๒๐๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดวังทองและได้มาทอดพระเนตรวิหารนี้ด้วย ตอนนั้นวิหารหลังนี้ทรุดโทรมจึงทรงมีพระราชดำรัสให้รักษาวิหารหลังนี้เอาไว้ ต่อจากนั้นทางวัดจึงปรับปรุงวิหารหลังนี้ให้คงสภาพอยู่เหมือนเดิมอย่างที่เห็นปัจจุบัน

ผมพยายามมองลอดเข้าไปในช่องแสงเพื่อจะดูลักษณะอาคารด้านในแต่ทำได้ลำบาก เพราะเขาตีไม้แบนๆไว้ระหว่างช่องแสงแต่ละช่องเพื่อให้ช่องนั้นแคบลงป้องกันไม่ให้นกบินเข้าไป ข้างในมีเสาร่วมในชุกชีพระประธานตั้งอยู่บริเวณท้ายอาคารบริเวณห้องที่ ๕ มีผนังสกัดท้ายห้องด้านหลังพระประธานอีกชั้นหนึ่ง 

ด้านหลังวิหารมีฐานเจดีย์ขนาดกลางหักพังไปเมื่อราว ๕๐ ปีมานี้เพราะโดนขุดเจาะจนพรุน ทางวัดเคยจะสร้างขึ้นใหม่แต่ก็ล้มเลิกไปจึงเหลือเห็นเป็นกองอิฐ เลยจากเจดีย์ไปข้างหลังวัดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมเดิมน่าจะเป็นที่ตั้งของหอไตร ที่จริงวัดนี้น่าชมเชยมากทีเดียวเพราะปลูกต้นไม้ร่มรื่นสะอาดสะอ้าน ชอบที่รอบๆวิหารเป็นพื้นทรายไม่เทคอนกรีตปิดหน้าดินเสียหมด เดินไปดูใบเสมาที่พระอุโบสถข้างหน้าวัด ทรงเป็นแบบเสมาหินชนวนใบใหญ่แต่ไม่หนา เขาทำเลียนหลายแผ่นอันที่เป็นหินจริงๆน่าจะมีไม่กี่ใบ


วิหารที่แต่เดิมเป็นพระอุโบสถ วัดวังทองวราราม


ผนังด้านข้างอาคารแบบมีคนยืนเทียบขนาด


ซากเจดีย์เก่าด้านหลังวิหาร


.. ..................................................................... ..



ขอบคุณทุกผู้ทุกนามด้วยใจจริง

โปรดติดตามตอนต่อไป >>


วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมืองด่านบนเส้นทางน้ำ 1

 

จากนครสวรรค์ถึงพิษณุโลก

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖

คุณป้าสัมฤทธิ์กับสาแหรกเครื่องคาวหวาน ที่เบื้องหน้าองค์พระประธาน
 พี่จิ พี่แพร และผม เริ่มต้นการเดินทางอย่างเป็นทางการที่ตลาดกลางเมืองตรงเชิงเขากบ เมืองนครสวรรค์ หลังจากเสร็จมื้อเช้าพวกเราก็ข้ามแม่น้ำปิงไปตามถนนสายนครสวรรค์ - พิษณุโลก แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอเก้าเลี้ยวไปยังวัดท่าพระเจริญพรต 

วัดนี้เรียกอีกชื่อว่าวัดบ้านมะเกลือ เป็นวัดเก่าริมแม่น้ำปิงที่มีบานประตูแกะสลักไม้สมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อสองสัดาห์ก่อนผมมาวัดนี้แล้วครั้งหนึ่งกับคณะของพี่อ้อย จันทรทิพย์ คราวนี้เห็นว่าทางผ่านจึงพาพี่ทั้งสองมาชมดูบ้าง 

วัดแห่งนี้มีรูปรอยหลักฐานบ่งชี้ว่าใช้งานมาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย อาคารที่เป็นโบราณสถานสำคัญของวัดคือ พระอุโบสถทรงคฤห์*มีหน้าต่างแบบช่องโค้งปลายแหลมด้านละสามช่อง มีประตูทางด้านหน้าสองช่อง ทางด้านหลังหนึ่งช่องแต่ถูกซ่อมแซมและปิดไปแล้ว หน้าบันกรุไม้เรียบๆไม่มีลวดลายแกะแต่เขียนรูปเอาไว้ 

พระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันตกหาแม่น้ำ ด้านในไม่ใช้เสาร่วมใน มีขื่อท่อนยาววางพาดบนผนังรับโครงสร้างหลังคา ที่ชุกชีพระประธานมีเสาสี่ต้นเพราะขื่อที่อยู่ตรงเศียรพระประธานเป็นขื่อขาดจึงต้องทำเสารับไว้ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยคงสร้างขึ้นมาพร้อมโบสถ์นี้ เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก ช่วงที่เราเข้าไปมีคุณป้าท่านหนึ่งกำลังเก็บสำรับใส่สาแหรก ดูท่าทางมีอัธยาศัยดีพี่จิจึงเข้าใจคุยด้วย

คุณป้าชื่อคุณป้าสัมฤทธิ์ อยู่ที่หมู่บ้านนี้มาตั้งแต่เด็ก ทุกวันพระคุณป้าจะหาบสาแหรกเอาเครื่องคาวหวานมาถวายพระในโบสถ์นี้ด้วยความศรัทธา คูณป้าบอกว่าได้ทำแล้วสบายใจมีความสุขก็ทำมาตลอดสองสามปีที่ผ่านมา ป้าสัมฤทธิ์เล่าถึงเรื่องวัดบนให้เราฟัง ทำให้พี่จิเกิดความอยากรู้อยากเห็น เพราะได้ความว่าเป็นวัดเก่าแก่กว่าที่นี่ คุณป้าจึงแนะนำให้เราไปถามท่านเจ้าอาวาสที่ศาลาทำบุญ 

คุณป้าเล่าอีกว่าแต่ก่อนมีโจรปีนขึ้นหลังทุบกระเบื้องแล้วโดดลงมาในโบสถ์ เข้ามาตัดเศียรพระพุทธรูปองค์หนึ่งทางด้านหลังพระประธานไป แต่โชคดีที่วันนั้นจะมีงานบวชเช้าบ้านจึงมากันแต่เช้ามืด โจรจึงทิ้งเศียรพระไว้แล้วหนีไปทางหน้าต่าง

ภาพถ่ายเก่าพระอุโบสถวัดท่าพระเจริญพรตหรือวัดบ้านมะเกลือ

*อาคารทรงคฤห์นี้ถูกใช้เรียกอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยภายในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีการต่อหรือยื่นมุขออกไป เป็นอาคารในระบบผนังรับน้ำหนักที่มีพัฒนาการมาจากอาคารแบบดั้งเดิม ถูกใช้พูดถึงในวารสารหน้าจั่ว ฉบับปฐมฤกษ์ โดย จุมพล เพิ่มแสงสุวรรณ เรื่อง พระอุโบสถและพระวิหารที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในสมัยอยุธยาตอนปลาย 
ส่วนในหนังสือ อุโบสถ สถาปัตยกรรมไทย โดย รศ.สมใจ นิ่มเล็ก เรียกทรงโรง

เมื่อคุณป้าขอตัวกลับไปแล้วพวกเราจึงไปถ่ายรูปบานประตูไม้แกะสลักของพระอุโบสถหลังนี้ ที่ช่องประตูทางใต้แกะเป็นรูปเซี่ยวกางเหยียบอสูร ท่วงทีเห็นแล้วชวนให้นึกถึงบานประตูหูช้างที่รั้วหน้าพระพุทธชินราช บานประตูคู่ทางทิศเหนือเป็นลายก้านขดออกลายรูปสัตว์และช่อหางโต บานประตูสองคู่นี้อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล และพี่ตั๊ว ปติสร ที่มาด้วยกันเมื่อครั้งก่อนต่างก็ลงความเห็นว่าเป็นงานในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่เดี๋ยวนี้ทาสีน้ำตาลไหม้จึงเรียกกันเอาสนุกว่าประตูช็อคโกแล็ต

พี่จินำพวกเราไปพูดคุยกับท่านเจ้าอาวาส ท่านชราภาพแล้วแต่ก็ดูใจดี ท่านเล่าให้เราฟังถึงตำนานเกี่ยวกับวัดบนและวัดแห่งนี้ว่าเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีและเจ้าสายน้ำผึ้ง แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่อาจเชื่อได้แต่ก็บอกให้เรารู้ว่า เหตุการณ์ที่พระนางจามเทวีเสด็จจากละโว้ไปหริภุญไชย เป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจของคนแถบนี้ คล้ายๆความนิยมชมชอบเส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากสินของผู้คนทางภาคกลางตอนล่าง 

แต่เรื่องที่น่าสนใจมากก็คือเรื่องวัดบน ท่านเล่าว่าแต่ก่อนมีลำน้ำที่เรือสำเภาผ่านได้อยู่ทางวัดบน เมื่อครั้งเจ้าสายน้ำผึ้งเดินเรือผ่านมาได้บนเอาไว้ว่าจะสร้างวัดให้หากสิ่งที่ขอไว้สมความปรารถนา จึงเรียกกันว่าวัดบน แต่เมื่อผมถามหาเส้นทางน้ำนั้นท่านก็บอกว่าเหลือแต่เป็นลำรางอยู่เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการเอ่ยชื่อเจ้าแม่สาแหรกทอง ซึ่งหมายถึงเทวีผู้หนึ่งมีพระถันใหญ่ใส่กรองอกทำด้วยทองคำ แต่เนื้อหาโดยละเอียดผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว ท่านเล่าถึงวัดโบสถ์บนสมัยก่อนว่ามีเจดีย์และโบสถ์ ตัวโบสถ์นั้นท่านยังทันเห็นช่องประตู แต่ต่อมาชาวบ้านรื้อเอาอิฐบางส่วนมาสร้างวัดศรีมหาโพธิใต้และได้เอาใบเสมามาด้วย นอกจากนี้ละแวกนั้นยังมีวัดเก่าอีกมากแต่ถูกรื้อลงทำไร่เสียหมด นอกจากนี้ท่านได้พูดถึงวัดกลางหรือวัดโพธิ์เอนซึ่งปัจจุบันร้างไป ท่านบอกว่าไม่เหลือหลักฐานอะไรแล้วแต่เณรน้อยที่นั่งอยู่ด้วยบอกวว่ายังมีชื่อซอยแถวๆต้นโพธิ์ใหญ่ริมน้ำ เรียกว่าซอยวัดโพธิ์เอน

คุณป้าสัมฤทธิ์หาบสาแหรกผ่านประตูเซี่ยวกางออกไปนอกพระอุโบสถ

บานประตูพระอุโบสถวัดท่าเจริญพรต แม้ลายแกะจะไม่แนบเนียนเท่างานช่างหลวงแต่ก็นับว่าเป็นงานช่างพื้นบ้านที่น่าชม เพราะออกแบบลวดลายไว้ในขนบและพลิกแพลงได้อย่างมีฝีมือมาก



  เมื่อกราบลาท่านเจ้าอาวาสแล้วพี่จิก็อยากไปดูวัดบนขึ้นมา จึงขับรถเลาะถนนริมแม่น้ำไปดูวัดกลางก่อนเป็นอันดับแรก ที่ตั้งของวัดกลางอยู่ติดแม่น้ำปิงมีต้นโพธิ์ใหญ่และศาลเพียงตาอยู่ จากลักษณะเป็นที่แม่น้ำเซาะตลิ่งเข้ามา ผมคิดว่าตัววัดน่าจะพังลงแม่น้ำไปแล้ว 

พวกผมกลับออกมาที่เส้นทางหลักที่จะไปอำเภอเก้าเลี้ยวเพื่อจะไปวัดโบสถ์บน แต่เมื่อผ่านวัดมหาโพธิใต้พี่แพรก็ร้องว่าเห็นโบสถ์เก่าเราจึงกลับรถมาแวะดู วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงเช่นเดียวกับวัดท่าพระเจริญพรต มีอุโบสถหลังเก่าอยู่ในสภาพทรุดโทรม เป็นอาคารทรงคฤห์หลังคาซ้อนสองชั้นผนังสกัดหน้าก่ออิฐจรดอกไก่ ซุ้มประตูหน้าต่างทำเป็นปูนปั้นฝีมือบ้านๆเขียนสีโทนน้ำเงินอายุไม่น่าเกิน ๑๐๐ ปีมานี้ ที่น่าสนใจคือรอบๆพระอุโบสถมีใบเสมาหินชนวนใบใหญ่อยู่ครบทั้ง ๘ ตำแหน่ง พบซากอีกหนึ่งใบเป็น ๙ เข้าใจว่าเป็นของที่นำมาจากวัดบน ซึ่งควรจะมี ๑๖ ใบเพราะต้องปักเป็นคู่ ด้านในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นแต่เลอะเทอะมากคงเพราะไม่ได้ใช้งานแล้ว โครงสร้างหลังคาเป็นขื่อใหญ่วางพาดผนังเช่นเดียวกับที่วัดท่าเจริญพรต 

ชาวบ้านที่อยู่ในวัดตอนนั้นเห็นเราเข้ามาดูโบสถ์ จึงบอกให้เราไปดูศาลาเก่าริมแม่น้ำด้วย เพราะเราจึงรีบปรี่ไปดู ศาลาเก่าที่ว่านี้อยู่หลังเมรุเผาศพติดริมแม่น้ำ เป็นศาลาโถงยกพื้นสูงแต่พื้นไม้พังหมดแล้ว เสาเป็นไม้ท่อนใหญ่ๆกลึงกลมอย่างดีด้วย หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดแต่สภาพใกล้พังเต็มทนแต่หากปรับปรุงก็คงยังใช้งานได้ดี

ใบเสมาหินชนวนจำหลักลายแบบอยุธยาตอนกลาง ถ้าเสมานี้นำมาจากวัดบนจริง ก็แสดงว่าวัดบนอย่างน้อยก็มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง

อุโบสถหลังเก่าของวัดบน หันหน้าไปทางทิศตะวันตกหาแม่น้ำปิง
ศาลาการเปรียญหลังเก่าริมแม่น้ำ



  เราไปตามทางที่ชาวบ้านบอกว่าต้องเข้าซอยผ่านไร่ข้าวโพดไปยังวัดบน เมื่อเข้าซอยมาถนนก็เปลี่ยนเป็นทางลูกรัง พวกเราแลเห็นเจดีย์สีทองบนเนินจึงเลี้ยวเข้าไปดูแต่ชาวบ้านที่ทำสวนกุหลาบบอกเราว่าไม่ใช่ ตรงนั้นเป็นสำนักสงฆ์ที่เพิ่งสร้างใหม่ แถวๆนี้ปลูกสวนมะลิสวนกุหลาบกันมาก กุหลาบนั้นเป็นต้นเล็กเอาไว้ตัดดอกตูมขาย แบบที่ใช้ร้อยปลายอุบะพวงมาลัย 

เลยเข้าไปอีกหน่อยก็เห็นดงไม้ใหญ่ทึบอยู่ทางขวา พอเลี้ยวข้ามลำคูที่คิดว่าเป็นคลองชลประทานเข้าไปก็เป็นเขตวัด วัดนี้ปัจจุบันเป็นวัดป่ามีคนมาปฏิบัติธรรมกันเนืองๆ มีอาคารใช้สอยปลูกอยู่ทางทิศตะวันออกของเขตวัด ถัดเข้าไปด้านในเป็นแนวอิฐรู้ได้ว่าเป็นกำแพงแก้ว กะส่วนกว้างแล้วน่าจะถึง ๕๐ เมตรทีเดียว ด้านตะวันออกมีลักษณะเป็นอาคารคล้ายวิหาร ต่อจากนั้นก็ควรจะเป็นเจดีย์อยู่ตรงกลาง ลักษณะเป็นโคกอิฐขนาดใหญ่พอสมควร 

ตำแหน่งที่เป็นเจดีย์นั้นเขาทำเป็นหอพระเอาไว้ มีรูปปั้นช้างอยู่ที่ตีนเนินแล้วมีบันไดขึ้นไป ทางด้านหลังควรจจะเป็นอุโบสถตามผังวัดแบบแนวแกนในสมัยอยุธยาตอนต้น - ตอนกลางนั้น กำลังก่อสร้างอาคารคอนกรีตกันอยู่ พอดีได้พบพระในวัดนั้นจึงได้ความว่าท่านก็ทราบว่าทางนั้นเป็นพระอุโบสถมาแต่เดิม ท่านบอกว่าท่านเป็นพระมาอยู่ใหม่ แต่ก็รู้ว่ามีลำรางอยู่ทางตะวันตกของวัดตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน พี่จินึกอยากเห็นลำรางขึ้นมาแต่เผอิญมีนกมาแย่งความสนใจไปเสียก่อน พวกเราจึงเปลี่ยนจากดูวัดเป็นดูนกแทน เพราะพื้นที่ตรงนี้ร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่นับร้อยต้นทั้วอาณาบริเวณ ทำให้มีนกมีกระรอกให้ดูชมและฟังเสียงกันอย่างเพลิดเพลิน แต่เนื่องจากว่าเราต้องไปอีกไกลจึงรีบออกมา

แนวอิฐของกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ
โคกอิฐในตำแหน่งเจดีย์ประธาน


แผนที่ทางน้ำบริเวณปากน้ำโพ

... หลังกลับจากการเดินทางผมลองตรวจสอบแผนที่ทางอากาศใน Google Earth จึงพบว่ามีร่องรอยของทางน้ำเก่าไหลผ่าบริเวณวัดบนจริง และยังมีลักษณะเป็นทางน้ำสามแพร่งด้วย จากแผนที่ใน Google maps ระบุชื่อคลองทึงและคลองบึงตา ผมสันนิษฐานว่าในอดีตสมัยที่การคมนาคมทางน้ำเป็นทางสัญจรหลักนั้น บริเวณวัดบนคงเป็นชุมชนสำคัญมาก่อน ต่อมาแม่น้ำปิงเกิดเปลี่ยนทางเดินด้วยสาเหตุอะไรสักอย่าง ทำให้แม่น้ำไหลเบี่ยงมาทางตะวันตกตรงอำเภอเก้าเลี้ยวเป็นเส้นทางน้ำในปัจจุบัน จึงเกิดการโยกย้ายของผู้คนจากแถววัดบนมาตั้งหลักแหล่งใหม่ที่ริมแม่น้ำใหม่ อย่างน้อยก็ในสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นต้นมา

ผมได้หยิบเอาจดหมายระยะทางไปพิษณุโลกมาอ่านตอนที่เขียนแผนที่ สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเรียกแม่น้ำปิงว่าแควน้อยและเรียกแม่น้ำน่านว่าแควใหญ่ ซึ่งชวนให้คิดว่าสภาพแม่น้ำตอนนั้นต่างจากในปัจจุบัน เพราะเดี๋ยวนี้แม่น้ำปิงดูกว้างกว่าสมควรจะเป็นแควใหญ่ แต่แม่น้ำน่านกลับแคบจนดูเป็นแควน้อย เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาตอนที่มาทริปกับพี่อ้อย ผมได้มีโอกาสแวะไปที่วัดเกรียงไกรกลาง สภาพแม่น้ำน่านหน้าวัดเกรียงไกรกลางดูแคบไม่กว้างขวางเท่าไหร่เลย มารู้เอาทีหลังว่าในบันทึกของสมเด็จฯกรมพระยานริศเรียกแถบนี้ว่าปากน้ำเชิงไกร เพราะมีลำน้ำไหลมาออกแม่น้ำน่านบริเวณนี้พอดี ใน Google maps ระบุว่าแม่น้ำ(คลอง)เกรียงไกร

แม่น้ำน่าน จากหน้าวัดเกรียงไกรกลาง



  เราเข้าสู่เส้นทางหลักไปยังจังหวัดพิจิตรแล้วเลี้ยวขวาที่แยกโพธิ์ไทรงามไปสู่อำเภอโพทะเล ผมได้ข้อมูลว่ามีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้โดยกรมศิลปากรที่อำเภอนี้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่ตำบลบางคลานและตำบลท่าบัว และเมื่อตรวจสอบจากแผนที่ทางอากาศประกอบกับข้อมูลการสำรวจของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในหนังสือเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัยแล้ว จึงได้รู้ว่าที่ตำบลบางคลานเป็นจุดที่แม่น้ำยมแตกสาขามาสบกับแม่น้ำน่านสายเก่าหรือแม่น้ำพิจิตร และที่บางคลานนี้เองมีเมืองโบราณที่ชื่อว่า เมืองไชยบวรตั้งอยู่

พวกเรากินมื้อเที่ยงกันที่ร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นในย่านชุมชนตำบลบางคลาน ผมพยายามถามหาวัดเก่าที่มีชื่อในทะเบียนโบราณสถานจากลูกค้าร้านก๋วยเตี๋ยวหลายคน แต่ก็ไม่มีใครรู้จักวัดเหล่านั้นเลยสักคนเดียว ท้ายที่สุดชาวบ้านจึงแนะนำให้เราไปที่บึงไชยบวร ผมอยากเห็นจุดที่มีทางน้ำสบกันเชื่อมระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านจึงขอให้พี่จิขับรถไปที่วัดคงคาราม แต่หลงไปเพราะหาทางไม่เจอเลยกลับมาที่ฝายกั้นแม่น้ำน่านสายเก่าที่ใต้วัดบางคลาน บริเวณนี้มองพอมองเห็นจุดที่มีทางน้ำสบกันได้อยู่ แต่แม่น้ำช่วงนี้ตื้นเขินแห้งเป็นหาดทรายสามารถเดินข้ามได้เป็นช่วงๆ

แม่น้ำน่านสายเก่าถ่ายจากบนฝายกั้นแม่น้ำ มองไปเห็นหลังคาวัดคงคารามอยู่ตรงจุดที่แม่น้ำยมมาสบกัน



  เราเข้าไปในวัดบางคลานแล้วย้อนกลับไปตามทางที่เข้ามา เพื่อจะเข้าไปในคุ้งน้ำประหลาดที่เห็นได้จากในแผนที่ ผมสงสัยว่าตรงนี้อาจจะเป็นคูเมืองแต่ก็ไม่แน่ใจเพราะอาจจะเป็นแค่คุ้งน้ำแล้วมีการขุดคลองลัดทำนองอย่างเกาะเกร็ดที่นนทบุรี พี่จิจอดรถให้ผมลงไปถามจากชาวบ้านอีกครั้งแถวๆตำบลบ้านน้อย ชาวบ้านบอกว่าแถวนี้ไม่มีวัดเก่าหรอก ร่องรอยเดียวที่สืบความได้ก็คือบึงไชยบวร แต่ต้องย้อนกลับลงไปทางวัดบางคลานแล้วเลี้ยวซ้ายตรงอบต. 

ผมและคณะตัดสินใจกลับไปตามเส้นทางนั้นและจอดถามทางชาวบ้านอีกทีตรงถนนเลียบคลองชลประทาน ข้ามคลองชลประทานตรงไปอีกก็เจอทางลูกรัง ชาวบ้านบอกว่ามีวัดเล็กๆอยู่ตรงริมบึงชัยบวรนั้น เมื่อมาถึงวัดแล้วตรวจดูพิกัดใน GPS ปรากฏว่าเราได้มาอยู่บริเวณอีกฝากของคุ้งน้ำที่ผมสงสัยว่าเป็นคูเมืองนั่นเอง 

ในวัดเงียบเชียบมีพระอยู่รูปหนึ่งพอถามข้อมูลท่านก็ชี้ให้ไปถามจากชาวบ้านที่ปลูกเรือนอยู่ถัดจากวัดเข้าไป เราได้พูดคุยกับคุณป้าและคุณลุงทีนั่งถักแหอยู่หน้าบ้าน ทั่งสองท่านเล่าเรื่องเกี่ยวกับเมืองไชยบวรให้ฟังว่า แต่ก่อนชาวบ้านเข้าไปหาปลาในบึงตกกลางคืนมักจะได้ยินเสียงดนตรีประโคมดังแว่วออกมา เรื่องนี้ฟังแล้วนึกอยากให้คนที่ชอบดนตรีไทยไปได้ยิน ไม่ได้มองอย่างลบหลู่แต่คงจะได้ประโยชน์มากทีเดียว นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าว่าแต่ก่อนเวลามีงานบุญชาวบ้านสามารถไปยืมเอาจานชามจากกลุ่มคนลึกลับในเมืองนี้ได้ แต่พอหลังๆมาชาวบ้านไม่ยอมคืนจานชามที่ยืมมา กลุ่มคนลึกลับนั้นจึงปิดเมืองเสียไม่ให้มีใครเข้าไปในเมืองได้อีก ผมว่ามันดูเป็นตำนานที่ไม่เก่ามากนักเพราะคุณป้าเล่าให้ฟังอีกว่าเมื่อก่อนเคยขุดได้กาน้ำดินเผาโบราณอันหนึ่งเลยเอาไปไว้ที่วัดบางคลาน ชาวบ้านแถบนี้บางคนก็ขุดได้ชามใบโตๆ ปัจจุบันทางวัดได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว ตำนานเรื่องยืมจานชามคงเอามาเล่าประกอบกับการขุดหรืองมได้ของพวกนี้

 พวกเราสอบถามถึงวัดเก่าในย่านนี้ ก็ได้ความว่าถูกรื้อไปหมดแล้วจะเหลือแต่ก็ตำแหน่งที่พอจำได้เป็นบางที่เท่านั้น มีทางฝั่งด้านนอกคูนี้ก็หลายแห่ง ทางด้านในคูเมืองนั้นก็พอมี แต่พอถามหาเอาสภาพเขาก็บอกว่าดูอะไรไม่ได้แล้ว มีแต่วัดที่มีคนข้างนอกจะมาสร้างใหม่ข้างในเมืองเก่า จะดูอิฐดูอะไรก็คงไม่มีเหลือ

พวกเราขอเดินเข้าไปดูที่ริมบึงไชยบวรซึ่งอยู่เลยบ้านของคุณลุงคุณป้าเข้าไปไม่ไกล มีสภาพเป็นคูน้ำเป็นคุ้งเข้ามาพอดี จากแผนที่ทางอากาศมีลักษณะเป็นคูรูปเกือกม้า แต่ก่อนคงเป็นลำคูรอบแต่น่าจะโดนถนนตัดทับทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือไปซะด้านหนึ่ง เมื่อกลับออกมาพวกเราตั้งใจจะไปดูพิพธภัณฑ์ที่วัดบางคลาน แต่ปรากฏว่าพิพิธภัณฑ์ปิด เปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ วัดนี้เป็นวัดดังของหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญของจังหวัดพิจิตร จึงมีผู้คนแวะเวียนกันมากราบสักการะกันอยู่เสมอ

บึงไชยบวร ถ่ายจากด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้


  เราอยู่ที่บางคลานจนบ่ายสองโมง แต่มีที่ต้องไปอีกหลายแห่งจึงต้องข้ามที่จะไปดูตำบลท่าบัว พวกเรามุ่งไปทางอำเภอบางมูลนาก แล้วเลี้ยวซ้ายเลาะแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกขึ้นเหนือไปยังเขารูปช้าง ตอนแรกผมคิดว่าเขาลูกช้างนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่านสายเก่าและแม่น้ำน่านสายใหม่เข้ามาประชิดใกล้กัน จึงอยากจะมาดูเพราะน่าจะเป็นแลนด์มาร์คสำคัญบนเส้นทางแม่น้ำน่าน 

ผมมาถึงเขาลูกช้างตอนบ่ายสามโมงอากาศนอกรถยนต์นั้นร้อนอบอ้าวแดดก็แรงมาก ที่ตีนเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขารูปช้างพระอุโบสถอยู่บนไหล่เขาสูงขึ้นมาหน่อยนึงสามารถเอารถขึ้นมาได้ บนนี้มีมณฑปพระบาทสี่รอยแต่เก่าไม่เกินร้อยกว่าปีมานี้ มีเจดีย์องค์ใหญ่สร้างใหม่อยู่ใกล้เคียงกัน เลยขึ้นไปเป็นบันไดให้เดินขึ้นไปบนยอดเขา พวกเราเดินขึ้นไปบนนั้นท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว ข้างทางมีหินทรายก้อนใหญ่ๆสังเกตได้ว่าเป็นเขาหินทรายทั้งลูก บนยอดมีอาคารอยู่หลังหนึ่งเป็นวิหารแต่ปิดไว้เข้าไม่ได้ ข้างวิหารมีเจดีย์องค์หนึ่งเป็นทรงปราสาทองค์ระฆังเป็นริ้วคล้ายอย่างที่เจดีย์บนเขาพระบาทน้อย เมืองสุโขทัย แต่องค์นี้ผมเข้าใจว่าซ่อมใหม่สมัยเดียวกับมณฑปพระบาทด้านล่าง แต่ก็โดนทุบทำลายจนหักพังไปหลายส่วนโดยฝีมือพวกหาของเก่า หลังวิหารมีทางบันไดให้ขึ้นไปบนยอดโขดหินใหญ่ โขดนี้มีลักษณะคล้ายๆหัวช้างที่มาของชื่อเขา บนโขดนั้นมีเจดีย์องค์หนึ่งมองเห็นได้ตั้งแต่ไม่ทันเหยียบตีนเขา 

พี่แพรปีนขึ้นไปช้าๆเพราะกลัวความสูงแต่ก็ไม่ละความพยายาม บนยอดนั้นมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบทิศ เห็นแม่น้ำน่านทางตะวันออก และทิวเขาอยู่ไกลออกไป เขาลูกนี้มีบริวารอีกใกล้ๆกันแต่เล็กกว่า เห็นมีวัดอยู่บนเขาด้วยเหมือนกัน เจดีย์ด้านบนนี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดย่อมถูกซ่อมเติมใหม่แต่ทรงก็สวยน่าจะเป็นของเก่า มีกำแพงแก้วรอบแต่ก็ทำใหม่ไม่รู้ว่าสมัยก่อนมีด้วยหรือเปล่า แดดแรงมากอยู่นานไม่ไหวจึงต้องรีบลงไปด้านล่าง น้ำที่พกมาดื่มแล้วเหมือนเป็นน้ำอุ่น

เจดีย์บนโขดหินยอดเขารูปช้าง

เจดีย์ทรงปราสาทบนเขารูปช้าง


แผนที่ของแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านที่ผ่านเมืองพิจิตร ดูแล้วเหมือนเป็นเมืองสามแควมีทางน้ำตัดเชื่อมกันเป็นระยะ

....ในหนังสือเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย อาจารย์ศรีศักร ได้พูดถึงเส้นทางของแม่น้ำน่านที่ไหลเพี้ยนไปจากเดิมว่า "ได้มีผู้ขุดคลองลัดจากลำน้ำน่านไปเชื่อมกับลำน้ำคลองแม่ระกาที่บ้านท่าฬ่อ.. ทำให้ลำน้ำนี้กลายเป็นทางเดินของลำน้ำน่านในปัจจุบัน" การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้น่าจะเกิดหลังอยุธยาตอนปลาย เพราะในสมัยพระเจ้าเสือแม่น้ำน่านสายเก่าน่าจะเป็นเส้นทางหลักอยู่ ดังที่มีวัดโพธิ์ประทับช้างขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านสายเก่านั้น 

สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ก็ทรงทราบความนี้อยู่เช่นกัน จึงทรงบันทึกเอาไว้ว่า "ระยะทางเดินเรือวันนี้ตั้งแต่ที่ว่าการเมืองพิจิตรถึงวัดสนามคลี ทาง ๖๔๐ เส้น ที่นี่ยุงไม่มี ด้วยฝั่งตลิ่งเป็นทิวไม้ใหญ่ไม่มีพง เพราะเป็นแม่น้ำเก่า ที่พิจิตรยุงชุม ด้วยริมตลิ่งเป็นพงสูง เพราะเป็นคลองขุดใหม่ เรียกคลองเรียง พ้นแม่น้ำพิจิตร (แควกลาง) มาแล้ว จึงค่อยมีทิวไม้ พงนี้มาชุมแสงจนเกือบสิ้นแดนพิจิตร"

การเปลี่ยนแปลงทางเดินของลำน้ำเหล่านี้ ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนตามไปด้วย โดยเฉพาะเส้นทางแม่น้ำน่านซึ่งเป็นทางคมนาคมมาแต่โบราณ เมื่อแม่น้ำน่านเปลี่ยนทางเดินมาเป็นทางน้ำในปัจจุบันแล้ว ชุมชนใหญ่ๆจึงย้ายมากระจุกตัวเกาะกลุ่มอยู่ริมแม่น้ำใหญ่แทน ไล่ตั้งแต่เมืองพิจิตร ตะพานหิน และบางมูลนาก เป็นต้น สมเด็จฯกรมพระยานริศเองก็ทรงใช้เส้นทางน้ำใหม่นี้ในการขึ้นไปพิษณุโลกด้วย และทรงกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำไว้ด้วยว่า "ตลิ่งแถวเมืองเหนือนี้หัวงไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร บางทีพังน้อย บางทีพังมากปีละวาสองวาก็มี เรือนพังลงน้ำไม่รู้ตัวเหมือนธรณีสูบ ที่อย่างเก่งตำบลดงชะพลู แขวงนครสวรรค์ ในฤดูน้ำพังวันละวาก็ได้ ที่งอกก็งอกมากเหมือนกัน ปีละ ๒ วา ๓ วาก็มี ไม่ใช่งอกเป็นเลนอย่างบ้านเรา งอกสูงต่ำกว่าแผ่นดินเก่าสักศอกเดียวเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอำนาจน้ำนั้นไหลแรง แลดินมีทรายร่วนปนหน่อย ไม่เหนียวเหมือนดินบางกอก"

   
   เราแวะดูบึงสีไฟแถวชานเมืองพิจิตรกันแป๊บหนึ่ง รอบๆทำเป็นสวนสาธารณะของเมืองดูร่มรื่นดี บึงสีไฟเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ มีอาณาเขตกว้างแต่ไม่ได้มีน้ำเต็มเป็นเกาะเป็นพงหญ้าอะไรไปก็เยอะ ดูเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านนิยมมาหาปลากัน ผมเห็นมีอยู่เป็นกลุ่มๆตามริมบึงเมื่อเราขับรถมาทางฟากตะวันตก มีถนนและคูน้ำตัดรอบบึงสามารถขับวนดูได้รอบแล้ววกกลับเข้าไปในเมือง แต่การทำแบบนี้เป็นการกระทำที่ไม่ดีนัก ผมเคยอ่านเจอในงานเขียนของอาจารย์ศรีศักรอีกเหมือนกันว่า การตัดถนนรอบบึงน้ำอย่างนี้จะเป็นการปิดกั้นการถ่ายเทของน้ำโดยธรรมชาติ เป็นส่วนให้บึงเป็นตมตื้นเขินและจะหมดสภาพไปในที่สุด บึงน้ำอย่างนี้เป็นทำเลเหมาะแก่การตั้งชุมชนเป็นที่อาศัยของมนุษย์ เพราะสามารถใช้น้ำในบึงทำการเกษตรได้ในฤดูแล้ง ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ด้วย ผมจึงเชื่อว่าบึงแห่งนึ้เป็นประโยชน์ให้กับการเกิดขึ้นของชุมชนเมืองพิจิตรเดิมริมฝั่งแม่น้ำน่านส่ายเก่าที่เรากำลังจะไป

บึงสีไฟจากถนนทางทิศตะวันตก

ผมอ่านข้อมูลพิจิตรมาคร่าวๆมีผู้สันนิษฐานว่าคือเมืองโอฆะบุรี หรือหมายถึงเมืองสระหลวง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านสายเก่า มีลักษณะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยังมีคูเมืองให้เห็นได้บางส่วน ดังนั้นที่ที่เราจะไปเป็นที่แรกก็คือคูเมืองพิจิตร จากแผนที่ทางอากาศสามารถมองเห็นทางที่จะลัดเลาะเข้าไปดูคูเมืองพิจิตรจากทางด้านนอกได้ ผมจึงขอให้พี่จิเลี้ยวรถไปตามถนนลูกรังเลียบคลองชลประทาน ขับเลยเข้าไปดูคูป้อมปืนจาทางด้านนอก แต่เพราะไม่มีทางรถจะเข้าไปถึงจึงต้องกลับมาอีกทาง ผ่านสำนักสงฆ์ที่กำลังจัดใหม่มีงานฉลองจึงพากันจอดรถลงไปดู เพราะเห็นคันดินสูงเท่าหัวเป็นแนวยาว เข้าใจว่าเป็นเนินกำแพงเมืองทางด้านนี้ แต่คูน้ำคงเปลี่ยนสภาพไปแล้ว

เกาะศรีมาลา เป็นชื่อเรียกเกาะกลางคูเมืองพิจิตรเก่า เล่าตามนิทานพื้นบ้านเรื่องขุนช้าง - ขุนแผนอันโด่งดัง แต่ที่จริงคือป้อมปราการริมกำแพงเมือง ลักษณะการสร้างคล้ายอย่างกำแพงเมืองสุพรรณบุรี กำแพงเพชร และพิษณุโลก เป็นต้น เข้าใจว่าเป็นลักษณะการสร้างเมืองในช่วงอยุธยาตอนต้นต่อช่วงอยุธยาตอนกลาง บนเกาะนั้นมีร่องรอยของเศษอิฐแตกหัก มีศาลที่ชาวบ้านเคารพบูชากัน

แผนที่เมืองเก่าพิจิตร คัดลอกจากภาพถ่ายทางอากาศเพิ่มเติมจากข้อมูลบนแผ่นป้ายหน้าวัด ในแผนที่เมื่อเลยจากวัดสมาบาปไปมีทางน้ำแยกไปทางตะวันออก Google maps เรียกคลองคูณ เป็นสาขาแม่น้ำน่านสายเก่าแยกไปผ่านเขารูปช้างและบรรจบกับแม่น้ำน่านสายปัจจุบันที่ตำบลบางไผ่
เขตอุทยานเมืองเก่าพิจิตร ปัจจุบันเป็นสวนรุกชาติที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมป่าไม้ มีสภาพร่มรื่นโดยตลอด วัดมหาธาตุเป็นโบราณสถานหลักใจกลางเมือง ปัจจุบันเป็นวัดร้างแต่ได้รับการขุดแต่งเรียบร้อย อาจารย์ศรีศักร กล่าวถึงวัดมหาธาตุของเมืองพิจิตรเอาไว้ว่า "เป็นวัดที่มีบริเวณซากวิหารและพระสถูปทรงกลมขนาดใหญ่ เหนือเหนือบริเวณฐานก่อนถึงองค์ระฆังมีเรือนธาตุและซุ้มทิศ" ปัจจุบันตัววิหารหลังการขุดแต่งเห็นป็นฐานอาคารแบบใช้โครงสร้าเสารับน้ำหนัก ผังพื้นเป็นอาคารรุ่นเก่าประมาณช่วงอยุธยาตอนกลางขึ้นไป มีเสาร่วมในเป็นแนวคู่ใน เสาคู่นอกก่อผนังประกอบ ด้านนอกสุดมีเสาพาไล ฐานวิหารยกพื้นไม่สูงนัก ด้านหลังชุกชีที่ประดิษฐานพระประธานมีทางเชื่อมไประเบียงคดที่สร้างรอบองค์เจดีย์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูง ซุ้มทิศและเรือนธาตุปัจจุบันไม่มีแล้ว ส่วนยอดหักหายไป 

การพังทลายของเจดีย์นี้เป็นเรื่องที่ต้องจดจำไว้ในประวัติศาสตร์บ้านเมืองเรา ว่าที่พังส่วนใหญ่ก็เพราะโจรมาขุดหาของกัน เมื่อขุดเข้าไปแล้วปล่อยเป็นโพรงไว้นานไปก็ทรุดทลายลง พอเมื่อพังลงหมดแล้วเกิดเป็นโคกเป็นเนิน ต่อมาก็ถูกไถปรับทำไร่ทำสวนกันไปตามเรื่อง หรือเอาอิฐไปทำประโยชน์อย่างอื่นอีกก็ได้ วัดใหญ่โตขนาดไหนก็มีสิทธิ์จะสาบสูญไปได้ โบราณสถานที่มีเหลืออยู่ก็มักโดนขุดค้นทำลายกันไปมากแล้ว อยู่มาได้ก็เพราะบูรณะรักษาเอาไว้เวลาซ่อมก็ต้องปิดรูโจรเหล่านี้ซะเพื่อรักษาโครงสร้างเอาไว้ให้มั่นคง แต่ยังไงก็เสี่ยงต่อการพังทลายอยู่ดี เพราะอิฐที่ก่อแล้วไม่สามารถฉาบปูนแต่งให้เสร็จเหมือนใหม่ได้ น้ำฝนจึงสามารถแทรกเข้าไปได้ง่าย ความชื้นสะสมนานเข้าเนื้ออิฐก็ร่อนไปต้นไม้บางพวกก็ขึ้นชอนไช จึงต้องคอยซ่อมแซมบำรุงอยู่เรื่อยๆ การจะรักษาร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไว้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ด้านหลังวัดคือทางทิศตะวันออก มีพระอุโบสถที่ขุดคูน้ำล้อมไว้ ตัวพระอุโบสถยกฐานสูงคล้ายจะเป็นอาคารโถง รอบๆมีใบเสมาหินชนวน น่าแปลกอยู่เหมือนกันที่หน้าวัดหันไปทางทิศตะวันตกอย่างนี้ ดูเป็นระเบียบที่ไม่นิยมในช่วงอยุธยาตอนต้น - ตอนกลาง น่าจะมีการซ่อมแซมกันมาเรื่อยๆ หรืออย่างไรก็เดาไม่ถูกต้องศึกษากันอย่างละเอียดต่อไป ทางด้านหลังนี้มองเห็นเจดีย์มีโพรงเข้าไปในองค์ระฆัง แต่คงปีนขึ้นไปไม่ได้เพราะสูงทีเดียว ข้างๆวัดมีสระน้ำไม่ได้เดินไปดูเพราะเย็นมากแล้ว ยังต้องไปอีกไกล
เดินมาทางหน้าวัดพี่จิชี้ให้ดูแผนที่เมืองเก่า ระบุตำแหน่งวัดร้างอีกหลายวัด

สภาพวิหารหลวงของวัดมหาธาตุเมืองพิจิตร มีลักษณะของเสาสี่เหลี่ยม และเสาแปดเหลี่ยมปะปนกัน
เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุเมืองพิจิตร เดิมคงมีลักษณะคล้ายเจดีย์วัดนางพญาที่ศรีสัชฯ หรือวัดพระศรีสรรเพชญ์

พี่ จิและพี่แพร ที่หน้าวัดมหาธาตุ ที่จริงถ้าเรียกวัดมหาธาตุแบบนี้ก็จะทำให้นึกถึงพระปรางค์ อย่างวัดมหาธาตุพิษณุโลก ถ้าเรียกว่าวัดหน้าพระธาตุน่าจะเหมาะกว่า


  เรามาถึงวัดนครชุมตอนห้าโมงเย็น โชคดีที่พระกำลังลงอุโบสถทำวัตรเย็น เราจึงได้เข้าไปชมด้านในได้ วัดนี้มีพระอุโบสถเก่าขนาดเล็กทรงคฤห์แบบจั่วปิดคือมีชายคารอบ ที่ผนังด้านข้างใช้ช่องแสงแบบโบราณ จัดเป็นอาคารแบบไทยในสายท้องถิ่นที่น่าสนใจ ผมเองก็แม่นเรื่องสถาปัตย์เพียงแต่เห็นโครงสร้างด้านในดูไม่เป็นผนังรับน้ำหนักอย่างที่เคยพบ แต่พาดไม้เฉียงตามแนวสันตะเฆ่ลงมาที่ผนังเลย ไม่มีเต้าและชายคาแต่อย่างใด เพราะโดยปกติอาคารที่ใช้ช่องแสงมักจะต้องมีพาไลหรืออย่างน้อยก็ต้องมีชายคาลงมาปิดกันฝนสาด ไม่อย่างนั้นฝนตกหนักๆน้ำก็จะสาดเข้าไปทางช่องแสงนั้นได้

ด้านหน้าอุโบสถหลังเก่านี้มีหอไตรหลังหนึ่ง ถูกย้ายมาปลูกใหม่ตรงนี้ ด้านบนมีตู้พระธรรมแต่ไม่เก่าถึงอยุธยา หลวงพ่อท่านเจ้าอาวาสท่านใจดี ท่านเห็นเรามาเดินดูวัดก็เข้ามาทักทายอย่างมีอัธยาศัย ท่านได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากับพี่จิหลายอย่างทีเดียว ผมได้ยินมาบ้างบางช่วงบางตอนที่เขาสนทนากันเพราะมัวเดินไปถ่ายรูป ท่านเล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนตัววัดนครชุมจริงๆอยู่ใกล้ถนนทางหน้าวัด ตรงที่เป็นโบสถ์ใหม่ในปัจจุบันเดิมเป็นวิหารโถงเครื่องไม้ ถ้าอยากดูตัวอย่างให้ไปดูที่วัดสมาบาป ส่วนตัวโบสถ์เก่าหลังนี้เป็นของอีกวัดหนึ่งต่างหาก ท่านบอกชื่อวัดมาแต่ก็จำไม่ได้แล้ว แต่ก่อนก็มีวัดเล็กวัดน้อยอยู่อีกมากแต่ก็รกร้างทิ้งไปหลายแห่ง ฟังท่านแล้วก็นึกอยากจะสำรวจพิจิตร เริ่มจากบางคลานไล่ตามฝั่งน้ำน่านสายเก่านี้ขึ้นไปเรื่อยๆ คงจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจหลากหลาย แต่ไม่รู้จะไปหาเวลาและงบประมาณจากไหนให้ทำได้ขนาดนั้น เพราะทำแล้วก็คงเลยเถิดอยากดูไปทั่ว

เราไปแวะที่วัดสมาบาปเพื่อดูวิหารโถง ซึ่งเป็นอาคารเครื่องไม้ไม่ยกพื้นสูง รูปทรงเหมือนศาลาดิน มีหลังคาคลุมโดยรอบ ด้านหน้ามีเจดีย์น่าจะซ่อมเติมหรือไม่ก็ทำใหม่เลย เห็นเสามาหินชนวนเกลี้ยงตกอยู่แผ่นหนึ่งด้วย ข้างในมีพระพี่แพรว่าไม่เก่านักแต่ไม่มีเวลาให้ดูเพราะต้องไปต่อ

ด้านในพระอุโบสถเก่าวัดนครชุม
พระอุโบสถหลังเก่าวัดนครชุม ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
วิหารโถงวัดสมาบาป
 .... วิหารโถงหรือโบสถ์โถง คงเป็นที่นิยมสืบมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมเด็จฯกรมพระยานริศทรงได้พบเห็นที่วัดธรรมามูลหลังหนึ่งเช่นกัน ทรงบันทึกว่า "วัดนี้อยู่ที่ไหล่เขา แปลนวัดมีกำแพงแก้วรอบ หน้ามีโบสถ์ เปนโบสถ์โถง เสาอิฐหลังคาเครื่องประดุ มุงกระเบื้องกูบ.. เสมาหินทรายแดง ดอกไม้กนก"



เรามาถึงวัดโพธิ์ประทับช้างเกือบหกโมงเย็น แสงพระอาทิตย์ตอนนี้กำลังสวยถ้าถ่ายภาพอาร์ตๆคงจะออกมาดีมาก แต่สำหรับการเก็บข้อมูลตรงไหนที่ไม่โดนแดดจะดูมืดไปหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะถ้ามาตอนบ่ายคงจะร้อนมากจนไม่อยากดูอะไร เพราะวัดเป็นที่โล่งๆไม่มีต้นไม้คลุม เปิดเผยให้เห็นสถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าของราชสำนักอยุธยา ความสวยงามของวัดนี้ยิ่งมากขึ้นเพราะมีป่ายางเป็นฉากหลัง ต้นยางเหล่านี้เวลาที่ต้องแสงอาทิตย์แล้วดูสวยมาก
ภายในเขตพุทธาวาส วัดโพธิ์ประทับช้าง
วัดโพธิ์ประทับช้างมีเหตุการณ์ระบุพ้องกับหลักฐานทางโบราณคดีว่า
"สมเด็จ พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระราชดำริถึงภูมิชาติแห่งพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระพันปีหลวงตรัสบอกไว้แต่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้นว่า เมื่อศักราช ๑๐๒๔ ปีขาล จัตวาศก แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จบรมบพิตรพระนารายณ์เป็นเจ้า เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธประติมากรพระชินราช พระชินศรี ณ เมืองพิษณุโลก ทรงพระกรุณาให้มีการมหรสพถวายพุทธสมโภชคำรบ ๓ วัน ครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ พาเอาสมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระครรภ์แก่ จึ่งประสูติพระองค์ที่ตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร ในเดือนอ้าย ปีขาลศกนั้น แล้วจึ่งเอารกที่สหชาตินั้นใส่ลงในผอบเงิน เอาไปฝังไว้ที่หว่างต้นโพธิ์ประทับช้างและต้นอุทุมพรต่อกันนั้น เหตุดังนั้นจึ่งได้พระนามกรชื่อมะเดื่อ และสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริระลึกถึงที่ภูมิชาติ อันพระองค์ประสูติ ณ แขวงหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นมหามงคลสถานอันประเสริฐ สมควรจะสร้างขึ้นเป็นพระอาราม จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งสมุหนายก ให้กะเกณฑ์กันขึ้นไปสร้างพระอาราม ตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง มีพระอุโบสถ วิหาร มหาธาตุเจดีย์ ศาลาการเปรียญ และกุฎี สงฆ์พร้อมเสร็จ และการสร้างพระอารามนั้น ๒ ปีเศษ จึ่งสำเร็จ ในปีมะเส็ง ตรีศก จึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วย พระชลวิมานโดยกระบวนนาวาพยุหะขึ้นไป ณ พระอารามตำบลโพธิ์ประทับช้างนั้น และท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งขึ้นไปคอยรับเสด็จโดยสถลมารถนั้นก็เป็นอันมาก แล้วทรงพระรุณาให้มีการฉลอง และมีการมหรสพคำรบ ๓ วัน ทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก และทรงพระราชอุทิศถวายเลกข้าพระไว้สำหรับอุปัฎฐากพระอาราม ๒๐๐ ครัว และถวายพระ กัลปนาขึ้นแก่พระอารามตามธรรมเนียม แล้วทรงพระกรุณาตั้งเจ้าอธิการชื่อพระครูธรรมรูจีราชมุนีอยู่ครองพระอาราม ถวายเครื่องสมณบริขารตามศักดิ์พระราชาคณะแล้วเสร็จ ก็เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร จำเดิมแต่นั้นมาพระอารามนั้นก็เรียกว่าวัดโพธิ์ประทับช้างมาตราบเท่าทุก วันนี้"

คัดลอกจาก : http://th.wikisource.org/wiki/พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม_หน้าที่_๓๗๑-๗๔๓

วัดแห่งนี้เป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ สามารถใช้เป็นตัวกำหนดรูปแบบทางศิลปะและสถาปัตยกรรมอยุธยาได้สมัยหนึ่ง อีกทั้งข้อมูลนี้ยังบอกถึงการใช้เส้นทางแม่น้ำน่านสายเก่า เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปยังเมืองพิษณุโลก 

ด้วยความที่วัดนี้เป็นพระอารามหลวงจึงสร้างอย่างภูมิฐานใหญ่โต มีพระอุโบสถเป็นประธานอยู่ในเขตพุทธาวาสตามความนิยมสมัยอยุธยาตอนปลาย ตัวพระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานทักษิณยกพื้นสูง มีระเบียงล้อม ผนังสกัดก่ออิฐเป็นหน้าบันไปจรดปลายแหลมรับอกไก่ มีมุขเด็จหน้า - หลัง กำแพงผนังสูงยืดขึ้นให้โดดเด่น ผนังช่วงหลังคาซ้อนชั้นที่สองหน้า - หลังนั้นทำเป็นมุขเชิดด้วย แต่ก่อนคงมีการตกแต่งมากแต่ใช้วัสดุบอบบางจึงพังเสียหายไปหมด ด้านในมีเสาร่วมในหกคู่ เป็นชุกชีไปสามคู่แต่สามารถเดินได้รอบเพราะไม่ได้ทำชุกชีติดผนัง พระพุทธรูปประธานตั้งอยู่บนฐานสูง แต่พังไปมากแล้วจึงปั้นซ่อมกันใหม่ องค์พระดูน่ากลัว มีหลังคาสังกะสีแดงๆมามุงคลุมด้านในนี้ไว้ มาเสียเอาก็ตรงนี้เพราะเขาอยากจะใช้งานโบราณสถานแต่ก็ทำได้ไม่ดี 

ข้างพระอุโบสถมีเจดีย์บริวารสร้างเป็นชุดๆซ้ายขวา มีปรางค์ด้วยแต่องค์ด้านใต้พังลงมากองอยู่บนลานประทักษิณ ต่อจากนั้นมีเจดีย์ย่อมุมและอาคารบางอย่าง เข้าใจว่าบางทีจะทำให้สมมาตรทั้งซ้ายขวา แต่ที่ด้านเหนือมีอาคารคล้ายเป็นฆณฑปเลยทำให้ไม่สมมาตรเสียทีเดียว ออกนอกกำแพงเขตพุทธาวาสไปทางทิศเหนือมีคูน้ำเข้าใจว่าเป็นคูน้ำล้อมรอบพระอาราม เลยคูน้ำออกไปเป็นขอบเขตของกลุ่มอาคารที่มีกำแพงล้อมและตอเสาอิฐของอาคารด้านใน อาจจะเป็นพระตำหนักหลวง เดินไปทางด้านใต้ริมเขตนอกกำแพงริมพุทธาวาสมีตึกการเปรียญหลังหนึ่ง ทำนองอย่างที่วัดกุฏีดาว ด้านหน้ามีซากฐานอิฐเข้าใจว่าเป็นหอระฆัง ถัดไปเป็นคูน้ำด้านใต้ เถิบออกไปเป็นขอบเขตกับอาคารบางอย่าง อาจจะเป็นสังฆาวาสหรือพระไตรปิฎก รีบถ่ายรูปเอาไว้ดูเพราะฟ้ามืดลงแล้ว กลับไปเจอพี่จิกับพี่แพรที่หน้าประตูกำแพงแก้ว ตรงนั้นมีต้นตะเคียนใหญ่อยู่เป็นคู่ ลำต้นสูงมาก มีนกแขกเต้าอยู่เต็มไปหมด พี่จิยืนดูอยู่นานว่าจะถ่ายรูปมันก็ไม่ทันเพราะฟ้าเริ่มหมดแสง จะว่าไปวัดนี้ก็ดูน่ากลัวชวนให้ขนหัวลุกอย่างไรก็ไม่รู้ ต้องไหว้สาขอขมาเพราะปีนป่ายดูนั่นนี่ด้วยอาการไม่สมควร 

ด้านข้างพระอุโบสถ ผนังแปรทางด้านทิศเหนือ

ภาพจากบริเวณด้านหลังพระอุโบสถ



ตึกการเปรียญทางด้านทิศใต้นอกเขตพุทธาวาส


  พวกเราออกมาจากวัดโพธิ์ประช้างตอนเกือบๆหกโมงครึ่ง พี่จิขับรถไปออกที่ตำบลวังจิกพอข้ามแม่น้ำพากันเหลือบเห็นบ้านไม้หลังใหญ่อย่างเรือนแถว อยากแวะดูก็จวนมืดแล้วต้องไปต่อให้ถึงพิษณุโลก

ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/oldcity/pichit2.htm


..................................................................

 โปรดติดตามตอนต่อไป >>