วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมืองด่านบนเส้นทางน้ำ 1

 

จากนครสวรรค์ถึงพิษณุโลก

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖

คุณป้าสัมฤทธิ์กับสาแหรกเครื่องคาวหวาน ที่เบื้องหน้าองค์พระประธาน
 พี่จิ พี่แพร และผม เริ่มต้นการเดินทางอย่างเป็นทางการที่ตลาดกลางเมืองตรงเชิงเขากบ เมืองนครสวรรค์ หลังจากเสร็จมื้อเช้าพวกเราก็ข้ามแม่น้ำปิงไปตามถนนสายนครสวรรค์ - พิษณุโลก แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอเก้าเลี้ยวไปยังวัดท่าพระเจริญพรต 

วัดนี้เรียกอีกชื่อว่าวัดบ้านมะเกลือ เป็นวัดเก่าริมแม่น้ำปิงที่มีบานประตูแกะสลักไม้สมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อสองสัดาห์ก่อนผมมาวัดนี้แล้วครั้งหนึ่งกับคณะของพี่อ้อย จันทรทิพย์ คราวนี้เห็นว่าทางผ่านจึงพาพี่ทั้งสองมาชมดูบ้าง 

วัดแห่งนี้มีรูปรอยหลักฐานบ่งชี้ว่าใช้งานมาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย อาคารที่เป็นโบราณสถานสำคัญของวัดคือ พระอุโบสถทรงคฤห์*มีหน้าต่างแบบช่องโค้งปลายแหลมด้านละสามช่อง มีประตูทางด้านหน้าสองช่อง ทางด้านหลังหนึ่งช่องแต่ถูกซ่อมแซมและปิดไปแล้ว หน้าบันกรุไม้เรียบๆไม่มีลวดลายแกะแต่เขียนรูปเอาไว้ 

พระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันตกหาแม่น้ำ ด้านในไม่ใช้เสาร่วมใน มีขื่อท่อนยาววางพาดบนผนังรับโครงสร้างหลังคา ที่ชุกชีพระประธานมีเสาสี่ต้นเพราะขื่อที่อยู่ตรงเศียรพระประธานเป็นขื่อขาดจึงต้องทำเสารับไว้ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยคงสร้างขึ้นมาพร้อมโบสถ์นี้ เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก ช่วงที่เราเข้าไปมีคุณป้าท่านหนึ่งกำลังเก็บสำรับใส่สาแหรก ดูท่าทางมีอัธยาศัยดีพี่จิจึงเข้าใจคุยด้วย

คุณป้าชื่อคุณป้าสัมฤทธิ์ อยู่ที่หมู่บ้านนี้มาตั้งแต่เด็ก ทุกวันพระคุณป้าจะหาบสาแหรกเอาเครื่องคาวหวานมาถวายพระในโบสถ์นี้ด้วยความศรัทธา คูณป้าบอกว่าได้ทำแล้วสบายใจมีความสุขก็ทำมาตลอดสองสามปีที่ผ่านมา ป้าสัมฤทธิ์เล่าถึงเรื่องวัดบนให้เราฟัง ทำให้พี่จิเกิดความอยากรู้อยากเห็น เพราะได้ความว่าเป็นวัดเก่าแก่กว่าที่นี่ คุณป้าจึงแนะนำให้เราไปถามท่านเจ้าอาวาสที่ศาลาทำบุญ 

คุณป้าเล่าอีกว่าแต่ก่อนมีโจรปีนขึ้นหลังทุบกระเบื้องแล้วโดดลงมาในโบสถ์ เข้ามาตัดเศียรพระพุทธรูปองค์หนึ่งทางด้านหลังพระประธานไป แต่โชคดีที่วันนั้นจะมีงานบวชเช้าบ้านจึงมากันแต่เช้ามืด โจรจึงทิ้งเศียรพระไว้แล้วหนีไปทางหน้าต่าง

ภาพถ่ายเก่าพระอุโบสถวัดท่าพระเจริญพรตหรือวัดบ้านมะเกลือ

*อาคารทรงคฤห์นี้ถูกใช้เรียกอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยภายในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีการต่อหรือยื่นมุขออกไป เป็นอาคารในระบบผนังรับน้ำหนักที่มีพัฒนาการมาจากอาคารแบบดั้งเดิม ถูกใช้พูดถึงในวารสารหน้าจั่ว ฉบับปฐมฤกษ์ โดย จุมพล เพิ่มแสงสุวรรณ เรื่อง พระอุโบสถและพระวิหารที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในสมัยอยุธยาตอนปลาย 
ส่วนในหนังสือ อุโบสถ สถาปัตยกรรมไทย โดย รศ.สมใจ นิ่มเล็ก เรียกทรงโรง

เมื่อคุณป้าขอตัวกลับไปแล้วพวกเราจึงไปถ่ายรูปบานประตูไม้แกะสลักของพระอุโบสถหลังนี้ ที่ช่องประตูทางใต้แกะเป็นรูปเซี่ยวกางเหยียบอสูร ท่วงทีเห็นแล้วชวนให้นึกถึงบานประตูหูช้างที่รั้วหน้าพระพุทธชินราช บานประตูคู่ทางทิศเหนือเป็นลายก้านขดออกลายรูปสัตว์และช่อหางโต บานประตูสองคู่นี้อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล และพี่ตั๊ว ปติสร ที่มาด้วยกันเมื่อครั้งก่อนต่างก็ลงความเห็นว่าเป็นงานในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่เดี๋ยวนี้ทาสีน้ำตาลไหม้จึงเรียกกันเอาสนุกว่าประตูช็อคโกแล็ต

พี่จินำพวกเราไปพูดคุยกับท่านเจ้าอาวาส ท่านชราภาพแล้วแต่ก็ดูใจดี ท่านเล่าให้เราฟังถึงตำนานเกี่ยวกับวัดบนและวัดแห่งนี้ว่าเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีและเจ้าสายน้ำผึ้ง แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่อาจเชื่อได้แต่ก็บอกให้เรารู้ว่า เหตุการณ์ที่พระนางจามเทวีเสด็จจากละโว้ไปหริภุญไชย เป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจของคนแถบนี้ คล้ายๆความนิยมชมชอบเส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากสินของผู้คนทางภาคกลางตอนล่าง 

แต่เรื่องที่น่าสนใจมากก็คือเรื่องวัดบน ท่านเล่าว่าแต่ก่อนมีลำน้ำที่เรือสำเภาผ่านได้อยู่ทางวัดบน เมื่อครั้งเจ้าสายน้ำผึ้งเดินเรือผ่านมาได้บนเอาไว้ว่าจะสร้างวัดให้หากสิ่งที่ขอไว้สมความปรารถนา จึงเรียกกันว่าวัดบน แต่เมื่อผมถามหาเส้นทางน้ำนั้นท่านก็บอกว่าเหลือแต่เป็นลำรางอยู่เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการเอ่ยชื่อเจ้าแม่สาแหรกทอง ซึ่งหมายถึงเทวีผู้หนึ่งมีพระถันใหญ่ใส่กรองอกทำด้วยทองคำ แต่เนื้อหาโดยละเอียดผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว ท่านเล่าถึงวัดโบสถ์บนสมัยก่อนว่ามีเจดีย์และโบสถ์ ตัวโบสถ์นั้นท่านยังทันเห็นช่องประตู แต่ต่อมาชาวบ้านรื้อเอาอิฐบางส่วนมาสร้างวัดศรีมหาโพธิใต้และได้เอาใบเสมามาด้วย นอกจากนี้ละแวกนั้นยังมีวัดเก่าอีกมากแต่ถูกรื้อลงทำไร่เสียหมด นอกจากนี้ท่านได้พูดถึงวัดกลางหรือวัดโพธิ์เอนซึ่งปัจจุบันร้างไป ท่านบอกว่าไม่เหลือหลักฐานอะไรแล้วแต่เณรน้อยที่นั่งอยู่ด้วยบอกวว่ายังมีชื่อซอยแถวๆต้นโพธิ์ใหญ่ริมน้ำ เรียกว่าซอยวัดโพธิ์เอน

คุณป้าสัมฤทธิ์หาบสาแหรกผ่านประตูเซี่ยวกางออกไปนอกพระอุโบสถ

บานประตูพระอุโบสถวัดท่าเจริญพรต แม้ลายแกะจะไม่แนบเนียนเท่างานช่างหลวงแต่ก็นับว่าเป็นงานช่างพื้นบ้านที่น่าชม เพราะออกแบบลวดลายไว้ในขนบและพลิกแพลงได้อย่างมีฝีมือมาก



  เมื่อกราบลาท่านเจ้าอาวาสแล้วพี่จิก็อยากไปดูวัดบนขึ้นมา จึงขับรถเลาะถนนริมแม่น้ำไปดูวัดกลางก่อนเป็นอันดับแรก ที่ตั้งของวัดกลางอยู่ติดแม่น้ำปิงมีต้นโพธิ์ใหญ่และศาลเพียงตาอยู่ จากลักษณะเป็นที่แม่น้ำเซาะตลิ่งเข้ามา ผมคิดว่าตัววัดน่าจะพังลงแม่น้ำไปแล้ว 

พวกผมกลับออกมาที่เส้นทางหลักที่จะไปอำเภอเก้าเลี้ยวเพื่อจะไปวัดโบสถ์บน แต่เมื่อผ่านวัดมหาโพธิใต้พี่แพรก็ร้องว่าเห็นโบสถ์เก่าเราจึงกลับรถมาแวะดู วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงเช่นเดียวกับวัดท่าพระเจริญพรต มีอุโบสถหลังเก่าอยู่ในสภาพทรุดโทรม เป็นอาคารทรงคฤห์หลังคาซ้อนสองชั้นผนังสกัดหน้าก่ออิฐจรดอกไก่ ซุ้มประตูหน้าต่างทำเป็นปูนปั้นฝีมือบ้านๆเขียนสีโทนน้ำเงินอายุไม่น่าเกิน ๑๐๐ ปีมานี้ ที่น่าสนใจคือรอบๆพระอุโบสถมีใบเสมาหินชนวนใบใหญ่อยู่ครบทั้ง ๘ ตำแหน่ง พบซากอีกหนึ่งใบเป็น ๙ เข้าใจว่าเป็นของที่นำมาจากวัดบน ซึ่งควรจะมี ๑๖ ใบเพราะต้องปักเป็นคู่ ด้านในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นแต่เลอะเทอะมากคงเพราะไม่ได้ใช้งานแล้ว โครงสร้างหลังคาเป็นขื่อใหญ่วางพาดผนังเช่นเดียวกับที่วัดท่าเจริญพรต 

ชาวบ้านที่อยู่ในวัดตอนนั้นเห็นเราเข้ามาดูโบสถ์ จึงบอกให้เราไปดูศาลาเก่าริมแม่น้ำด้วย เพราะเราจึงรีบปรี่ไปดู ศาลาเก่าที่ว่านี้อยู่หลังเมรุเผาศพติดริมแม่น้ำ เป็นศาลาโถงยกพื้นสูงแต่พื้นไม้พังหมดแล้ว เสาเป็นไม้ท่อนใหญ่ๆกลึงกลมอย่างดีด้วย หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดแต่สภาพใกล้พังเต็มทนแต่หากปรับปรุงก็คงยังใช้งานได้ดี

ใบเสมาหินชนวนจำหลักลายแบบอยุธยาตอนกลาง ถ้าเสมานี้นำมาจากวัดบนจริง ก็แสดงว่าวัดบนอย่างน้อยก็มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง

อุโบสถหลังเก่าของวัดบน หันหน้าไปทางทิศตะวันตกหาแม่น้ำปิง
ศาลาการเปรียญหลังเก่าริมแม่น้ำ



  เราไปตามทางที่ชาวบ้านบอกว่าต้องเข้าซอยผ่านไร่ข้าวโพดไปยังวัดบน เมื่อเข้าซอยมาถนนก็เปลี่ยนเป็นทางลูกรัง พวกเราแลเห็นเจดีย์สีทองบนเนินจึงเลี้ยวเข้าไปดูแต่ชาวบ้านที่ทำสวนกุหลาบบอกเราว่าไม่ใช่ ตรงนั้นเป็นสำนักสงฆ์ที่เพิ่งสร้างใหม่ แถวๆนี้ปลูกสวนมะลิสวนกุหลาบกันมาก กุหลาบนั้นเป็นต้นเล็กเอาไว้ตัดดอกตูมขาย แบบที่ใช้ร้อยปลายอุบะพวงมาลัย 

เลยเข้าไปอีกหน่อยก็เห็นดงไม้ใหญ่ทึบอยู่ทางขวา พอเลี้ยวข้ามลำคูที่คิดว่าเป็นคลองชลประทานเข้าไปก็เป็นเขตวัด วัดนี้ปัจจุบันเป็นวัดป่ามีคนมาปฏิบัติธรรมกันเนืองๆ มีอาคารใช้สอยปลูกอยู่ทางทิศตะวันออกของเขตวัด ถัดเข้าไปด้านในเป็นแนวอิฐรู้ได้ว่าเป็นกำแพงแก้ว กะส่วนกว้างแล้วน่าจะถึง ๕๐ เมตรทีเดียว ด้านตะวันออกมีลักษณะเป็นอาคารคล้ายวิหาร ต่อจากนั้นก็ควรจะเป็นเจดีย์อยู่ตรงกลาง ลักษณะเป็นโคกอิฐขนาดใหญ่พอสมควร 

ตำแหน่งที่เป็นเจดีย์นั้นเขาทำเป็นหอพระเอาไว้ มีรูปปั้นช้างอยู่ที่ตีนเนินแล้วมีบันไดขึ้นไป ทางด้านหลังควรจจะเป็นอุโบสถตามผังวัดแบบแนวแกนในสมัยอยุธยาตอนต้น - ตอนกลางนั้น กำลังก่อสร้างอาคารคอนกรีตกันอยู่ พอดีได้พบพระในวัดนั้นจึงได้ความว่าท่านก็ทราบว่าทางนั้นเป็นพระอุโบสถมาแต่เดิม ท่านบอกว่าท่านเป็นพระมาอยู่ใหม่ แต่ก็รู้ว่ามีลำรางอยู่ทางตะวันตกของวัดตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน พี่จินึกอยากเห็นลำรางขึ้นมาแต่เผอิญมีนกมาแย่งความสนใจไปเสียก่อน พวกเราจึงเปลี่ยนจากดูวัดเป็นดูนกแทน เพราะพื้นที่ตรงนี้ร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่นับร้อยต้นทั้วอาณาบริเวณ ทำให้มีนกมีกระรอกให้ดูชมและฟังเสียงกันอย่างเพลิดเพลิน แต่เนื่องจากว่าเราต้องไปอีกไกลจึงรีบออกมา

แนวอิฐของกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ
โคกอิฐในตำแหน่งเจดีย์ประธาน


แผนที่ทางน้ำบริเวณปากน้ำโพ

... หลังกลับจากการเดินทางผมลองตรวจสอบแผนที่ทางอากาศใน Google Earth จึงพบว่ามีร่องรอยของทางน้ำเก่าไหลผ่าบริเวณวัดบนจริง และยังมีลักษณะเป็นทางน้ำสามแพร่งด้วย จากแผนที่ใน Google maps ระบุชื่อคลองทึงและคลองบึงตา ผมสันนิษฐานว่าในอดีตสมัยที่การคมนาคมทางน้ำเป็นทางสัญจรหลักนั้น บริเวณวัดบนคงเป็นชุมชนสำคัญมาก่อน ต่อมาแม่น้ำปิงเกิดเปลี่ยนทางเดินด้วยสาเหตุอะไรสักอย่าง ทำให้แม่น้ำไหลเบี่ยงมาทางตะวันตกตรงอำเภอเก้าเลี้ยวเป็นเส้นทางน้ำในปัจจุบัน จึงเกิดการโยกย้ายของผู้คนจากแถววัดบนมาตั้งหลักแหล่งใหม่ที่ริมแม่น้ำใหม่ อย่างน้อยก็ในสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นต้นมา

ผมได้หยิบเอาจดหมายระยะทางไปพิษณุโลกมาอ่านตอนที่เขียนแผนที่ สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเรียกแม่น้ำปิงว่าแควน้อยและเรียกแม่น้ำน่านว่าแควใหญ่ ซึ่งชวนให้คิดว่าสภาพแม่น้ำตอนนั้นต่างจากในปัจจุบัน เพราะเดี๋ยวนี้แม่น้ำปิงดูกว้างกว่าสมควรจะเป็นแควใหญ่ แต่แม่น้ำน่านกลับแคบจนดูเป็นแควน้อย เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาตอนที่มาทริปกับพี่อ้อย ผมได้มีโอกาสแวะไปที่วัดเกรียงไกรกลาง สภาพแม่น้ำน่านหน้าวัดเกรียงไกรกลางดูแคบไม่กว้างขวางเท่าไหร่เลย มารู้เอาทีหลังว่าในบันทึกของสมเด็จฯกรมพระยานริศเรียกแถบนี้ว่าปากน้ำเชิงไกร เพราะมีลำน้ำไหลมาออกแม่น้ำน่านบริเวณนี้พอดี ใน Google maps ระบุว่าแม่น้ำ(คลอง)เกรียงไกร

แม่น้ำน่าน จากหน้าวัดเกรียงไกรกลาง



  เราเข้าสู่เส้นทางหลักไปยังจังหวัดพิจิตรแล้วเลี้ยวขวาที่แยกโพธิ์ไทรงามไปสู่อำเภอโพทะเล ผมได้ข้อมูลว่ามีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้โดยกรมศิลปากรที่อำเภอนี้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่ตำบลบางคลานและตำบลท่าบัว และเมื่อตรวจสอบจากแผนที่ทางอากาศประกอบกับข้อมูลการสำรวจของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในหนังสือเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัยแล้ว จึงได้รู้ว่าที่ตำบลบางคลานเป็นจุดที่แม่น้ำยมแตกสาขามาสบกับแม่น้ำน่านสายเก่าหรือแม่น้ำพิจิตร และที่บางคลานนี้เองมีเมืองโบราณที่ชื่อว่า เมืองไชยบวรตั้งอยู่

พวกเรากินมื้อเที่ยงกันที่ร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นในย่านชุมชนตำบลบางคลาน ผมพยายามถามหาวัดเก่าที่มีชื่อในทะเบียนโบราณสถานจากลูกค้าร้านก๋วยเตี๋ยวหลายคน แต่ก็ไม่มีใครรู้จักวัดเหล่านั้นเลยสักคนเดียว ท้ายที่สุดชาวบ้านจึงแนะนำให้เราไปที่บึงไชยบวร ผมอยากเห็นจุดที่มีทางน้ำสบกันเชื่อมระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านจึงขอให้พี่จิขับรถไปที่วัดคงคาราม แต่หลงไปเพราะหาทางไม่เจอเลยกลับมาที่ฝายกั้นแม่น้ำน่านสายเก่าที่ใต้วัดบางคลาน บริเวณนี้มองพอมองเห็นจุดที่มีทางน้ำสบกันได้อยู่ แต่แม่น้ำช่วงนี้ตื้นเขินแห้งเป็นหาดทรายสามารถเดินข้ามได้เป็นช่วงๆ

แม่น้ำน่านสายเก่าถ่ายจากบนฝายกั้นแม่น้ำ มองไปเห็นหลังคาวัดคงคารามอยู่ตรงจุดที่แม่น้ำยมมาสบกัน



  เราเข้าไปในวัดบางคลานแล้วย้อนกลับไปตามทางที่เข้ามา เพื่อจะเข้าไปในคุ้งน้ำประหลาดที่เห็นได้จากในแผนที่ ผมสงสัยว่าตรงนี้อาจจะเป็นคูเมืองแต่ก็ไม่แน่ใจเพราะอาจจะเป็นแค่คุ้งน้ำแล้วมีการขุดคลองลัดทำนองอย่างเกาะเกร็ดที่นนทบุรี พี่จิจอดรถให้ผมลงไปถามจากชาวบ้านอีกครั้งแถวๆตำบลบ้านน้อย ชาวบ้านบอกว่าแถวนี้ไม่มีวัดเก่าหรอก ร่องรอยเดียวที่สืบความได้ก็คือบึงไชยบวร แต่ต้องย้อนกลับลงไปทางวัดบางคลานแล้วเลี้ยวซ้ายตรงอบต. 

ผมและคณะตัดสินใจกลับไปตามเส้นทางนั้นและจอดถามทางชาวบ้านอีกทีตรงถนนเลียบคลองชลประทาน ข้ามคลองชลประทานตรงไปอีกก็เจอทางลูกรัง ชาวบ้านบอกว่ามีวัดเล็กๆอยู่ตรงริมบึงชัยบวรนั้น เมื่อมาถึงวัดแล้วตรวจดูพิกัดใน GPS ปรากฏว่าเราได้มาอยู่บริเวณอีกฝากของคุ้งน้ำที่ผมสงสัยว่าเป็นคูเมืองนั่นเอง 

ในวัดเงียบเชียบมีพระอยู่รูปหนึ่งพอถามข้อมูลท่านก็ชี้ให้ไปถามจากชาวบ้านที่ปลูกเรือนอยู่ถัดจากวัดเข้าไป เราได้พูดคุยกับคุณป้าและคุณลุงทีนั่งถักแหอยู่หน้าบ้าน ทั่งสองท่านเล่าเรื่องเกี่ยวกับเมืองไชยบวรให้ฟังว่า แต่ก่อนชาวบ้านเข้าไปหาปลาในบึงตกกลางคืนมักจะได้ยินเสียงดนตรีประโคมดังแว่วออกมา เรื่องนี้ฟังแล้วนึกอยากให้คนที่ชอบดนตรีไทยไปได้ยิน ไม่ได้มองอย่างลบหลู่แต่คงจะได้ประโยชน์มากทีเดียว นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าว่าแต่ก่อนเวลามีงานบุญชาวบ้านสามารถไปยืมเอาจานชามจากกลุ่มคนลึกลับในเมืองนี้ได้ แต่พอหลังๆมาชาวบ้านไม่ยอมคืนจานชามที่ยืมมา กลุ่มคนลึกลับนั้นจึงปิดเมืองเสียไม่ให้มีใครเข้าไปในเมืองได้อีก ผมว่ามันดูเป็นตำนานที่ไม่เก่ามากนักเพราะคุณป้าเล่าให้ฟังอีกว่าเมื่อก่อนเคยขุดได้กาน้ำดินเผาโบราณอันหนึ่งเลยเอาไปไว้ที่วัดบางคลาน ชาวบ้านแถบนี้บางคนก็ขุดได้ชามใบโตๆ ปัจจุบันทางวัดได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว ตำนานเรื่องยืมจานชามคงเอามาเล่าประกอบกับการขุดหรืองมได้ของพวกนี้

 พวกเราสอบถามถึงวัดเก่าในย่านนี้ ก็ได้ความว่าถูกรื้อไปหมดแล้วจะเหลือแต่ก็ตำแหน่งที่พอจำได้เป็นบางที่เท่านั้น มีทางฝั่งด้านนอกคูนี้ก็หลายแห่ง ทางด้านในคูเมืองนั้นก็พอมี แต่พอถามหาเอาสภาพเขาก็บอกว่าดูอะไรไม่ได้แล้ว มีแต่วัดที่มีคนข้างนอกจะมาสร้างใหม่ข้างในเมืองเก่า จะดูอิฐดูอะไรก็คงไม่มีเหลือ

พวกเราขอเดินเข้าไปดูที่ริมบึงไชยบวรซึ่งอยู่เลยบ้านของคุณลุงคุณป้าเข้าไปไม่ไกล มีสภาพเป็นคูน้ำเป็นคุ้งเข้ามาพอดี จากแผนที่ทางอากาศมีลักษณะเป็นคูรูปเกือกม้า แต่ก่อนคงเป็นลำคูรอบแต่น่าจะโดนถนนตัดทับทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือไปซะด้านหนึ่ง เมื่อกลับออกมาพวกเราตั้งใจจะไปดูพิพธภัณฑ์ที่วัดบางคลาน แต่ปรากฏว่าพิพิธภัณฑ์ปิด เปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ วัดนี้เป็นวัดดังของหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญของจังหวัดพิจิตร จึงมีผู้คนแวะเวียนกันมากราบสักการะกันอยู่เสมอ

บึงไชยบวร ถ่ายจากด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้


  เราอยู่ที่บางคลานจนบ่ายสองโมง แต่มีที่ต้องไปอีกหลายแห่งจึงต้องข้ามที่จะไปดูตำบลท่าบัว พวกเรามุ่งไปทางอำเภอบางมูลนาก แล้วเลี้ยวซ้ายเลาะแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกขึ้นเหนือไปยังเขารูปช้าง ตอนแรกผมคิดว่าเขาลูกช้างนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่านสายเก่าและแม่น้ำน่านสายใหม่เข้ามาประชิดใกล้กัน จึงอยากจะมาดูเพราะน่าจะเป็นแลนด์มาร์คสำคัญบนเส้นทางแม่น้ำน่าน 

ผมมาถึงเขาลูกช้างตอนบ่ายสามโมงอากาศนอกรถยนต์นั้นร้อนอบอ้าวแดดก็แรงมาก ที่ตีนเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขารูปช้างพระอุโบสถอยู่บนไหล่เขาสูงขึ้นมาหน่อยนึงสามารถเอารถขึ้นมาได้ บนนี้มีมณฑปพระบาทสี่รอยแต่เก่าไม่เกินร้อยกว่าปีมานี้ มีเจดีย์องค์ใหญ่สร้างใหม่อยู่ใกล้เคียงกัน เลยขึ้นไปเป็นบันไดให้เดินขึ้นไปบนยอดเขา พวกเราเดินขึ้นไปบนนั้นท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว ข้างทางมีหินทรายก้อนใหญ่ๆสังเกตได้ว่าเป็นเขาหินทรายทั้งลูก บนยอดมีอาคารอยู่หลังหนึ่งเป็นวิหารแต่ปิดไว้เข้าไม่ได้ ข้างวิหารมีเจดีย์องค์หนึ่งเป็นทรงปราสาทองค์ระฆังเป็นริ้วคล้ายอย่างที่เจดีย์บนเขาพระบาทน้อย เมืองสุโขทัย แต่องค์นี้ผมเข้าใจว่าซ่อมใหม่สมัยเดียวกับมณฑปพระบาทด้านล่าง แต่ก็โดนทุบทำลายจนหักพังไปหลายส่วนโดยฝีมือพวกหาของเก่า หลังวิหารมีทางบันไดให้ขึ้นไปบนยอดโขดหินใหญ่ โขดนี้มีลักษณะคล้ายๆหัวช้างที่มาของชื่อเขา บนโขดนั้นมีเจดีย์องค์หนึ่งมองเห็นได้ตั้งแต่ไม่ทันเหยียบตีนเขา 

พี่แพรปีนขึ้นไปช้าๆเพราะกลัวความสูงแต่ก็ไม่ละความพยายาม บนยอดนั้นมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบทิศ เห็นแม่น้ำน่านทางตะวันออก และทิวเขาอยู่ไกลออกไป เขาลูกนี้มีบริวารอีกใกล้ๆกันแต่เล็กกว่า เห็นมีวัดอยู่บนเขาด้วยเหมือนกัน เจดีย์ด้านบนนี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดย่อมถูกซ่อมเติมใหม่แต่ทรงก็สวยน่าจะเป็นของเก่า มีกำแพงแก้วรอบแต่ก็ทำใหม่ไม่รู้ว่าสมัยก่อนมีด้วยหรือเปล่า แดดแรงมากอยู่นานไม่ไหวจึงต้องรีบลงไปด้านล่าง น้ำที่พกมาดื่มแล้วเหมือนเป็นน้ำอุ่น

เจดีย์บนโขดหินยอดเขารูปช้าง

เจดีย์ทรงปราสาทบนเขารูปช้าง


แผนที่ของแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านที่ผ่านเมืองพิจิตร ดูแล้วเหมือนเป็นเมืองสามแควมีทางน้ำตัดเชื่อมกันเป็นระยะ

....ในหนังสือเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย อาจารย์ศรีศักร ได้พูดถึงเส้นทางของแม่น้ำน่านที่ไหลเพี้ยนไปจากเดิมว่า "ได้มีผู้ขุดคลองลัดจากลำน้ำน่านไปเชื่อมกับลำน้ำคลองแม่ระกาที่บ้านท่าฬ่อ.. ทำให้ลำน้ำนี้กลายเป็นทางเดินของลำน้ำน่านในปัจจุบัน" การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้น่าจะเกิดหลังอยุธยาตอนปลาย เพราะในสมัยพระเจ้าเสือแม่น้ำน่านสายเก่าน่าจะเป็นเส้นทางหลักอยู่ ดังที่มีวัดโพธิ์ประทับช้างขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านสายเก่านั้น 

สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ก็ทรงทราบความนี้อยู่เช่นกัน จึงทรงบันทึกเอาไว้ว่า "ระยะทางเดินเรือวันนี้ตั้งแต่ที่ว่าการเมืองพิจิตรถึงวัดสนามคลี ทาง ๖๔๐ เส้น ที่นี่ยุงไม่มี ด้วยฝั่งตลิ่งเป็นทิวไม้ใหญ่ไม่มีพง เพราะเป็นแม่น้ำเก่า ที่พิจิตรยุงชุม ด้วยริมตลิ่งเป็นพงสูง เพราะเป็นคลองขุดใหม่ เรียกคลองเรียง พ้นแม่น้ำพิจิตร (แควกลาง) มาแล้ว จึงค่อยมีทิวไม้ พงนี้มาชุมแสงจนเกือบสิ้นแดนพิจิตร"

การเปลี่ยนแปลงทางเดินของลำน้ำเหล่านี้ ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนตามไปด้วย โดยเฉพาะเส้นทางแม่น้ำน่านซึ่งเป็นทางคมนาคมมาแต่โบราณ เมื่อแม่น้ำน่านเปลี่ยนทางเดินมาเป็นทางน้ำในปัจจุบันแล้ว ชุมชนใหญ่ๆจึงย้ายมากระจุกตัวเกาะกลุ่มอยู่ริมแม่น้ำใหญ่แทน ไล่ตั้งแต่เมืองพิจิตร ตะพานหิน และบางมูลนาก เป็นต้น สมเด็จฯกรมพระยานริศเองก็ทรงใช้เส้นทางน้ำใหม่นี้ในการขึ้นไปพิษณุโลกด้วย และทรงกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำไว้ด้วยว่า "ตลิ่งแถวเมืองเหนือนี้หัวงไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร บางทีพังน้อย บางทีพังมากปีละวาสองวาก็มี เรือนพังลงน้ำไม่รู้ตัวเหมือนธรณีสูบ ที่อย่างเก่งตำบลดงชะพลู แขวงนครสวรรค์ ในฤดูน้ำพังวันละวาก็ได้ ที่งอกก็งอกมากเหมือนกัน ปีละ ๒ วา ๓ วาก็มี ไม่ใช่งอกเป็นเลนอย่างบ้านเรา งอกสูงต่ำกว่าแผ่นดินเก่าสักศอกเดียวเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอำนาจน้ำนั้นไหลแรง แลดินมีทรายร่วนปนหน่อย ไม่เหนียวเหมือนดินบางกอก"

   
   เราแวะดูบึงสีไฟแถวชานเมืองพิจิตรกันแป๊บหนึ่ง รอบๆทำเป็นสวนสาธารณะของเมืองดูร่มรื่นดี บึงสีไฟเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ มีอาณาเขตกว้างแต่ไม่ได้มีน้ำเต็มเป็นเกาะเป็นพงหญ้าอะไรไปก็เยอะ ดูเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านนิยมมาหาปลากัน ผมเห็นมีอยู่เป็นกลุ่มๆตามริมบึงเมื่อเราขับรถมาทางฟากตะวันตก มีถนนและคูน้ำตัดรอบบึงสามารถขับวนดูได้รอบแล้ววกกลับเข้าไปในเมือง แต่การทำแบบนี้เป็นการกระทำที่ไม่ดีนัก ผมเคยอ่านเจอในงานเขียนของอาจารย์ศรีศักรอีกเหมือนกันว่า การตัดถนนรอบบึงน้ำอย่างนี้จะเป็นการปิดกั้นการถ่ายเทของน้ำโดยธรรมชาติ เป็นส่วนให้บึงเป็นตมตื้นเขินและจะหมดสภาพไปในที่สุด บึงน้ำอย่างนี้เป็นทำเลเหมาะแก่การตั้งชุมชนเป็นที่อาศัยของมนุษย์ เพราะสามารถใช้น้ำในบึงทำการเกษตรได้ในฤดูแล้ง ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ด้วย ผมจึงเชื่อว่าบึงแห่งนึ้เป็นประโยชน์ให้กับการเกิดขึ้นของชุมชนเมืองพิจิตรเดิมริมฝั่งแม่น้ำน่านส่ายเก่าที่เรากำลังจะไป

บึงสีไฟจากถนนทางทิศตะวันตก

ผมอ่านข้อมูลพิจิตรมาคร่าวๆมีผู้สันนิษฐานว่าคือเมืองโอฆะบุรี หรือหมายถึงเมืองสระหลวง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านสายเก่า มีลักษณะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยังมีคูเมืองให้เห็นได้บางส่วน ดังนั้นที่ที่เราจะไปเป็นที่แรกก็คือคูเมืองพิจิตร จากแผนที่ทางอากาศสามารถมองเห็นทางที่จะลัดเลาะเข้าไปดูคูเมืองพิจิตรจากทางด้านนอกได้ ผมจึงขอให้พี่จิเลี้ยวรถไปตามถนนลูกรังเลียบคลองชลประทาน ขับเลยเข้าไปดูคูป้อมปืนจาทางด้านนอก แต่เพราะไม่มีทางรถจะเข้าไปถึงจึงต้องกลับมาอีกทาง ผ่านสำนักสงฆ์ที่กำลังจัดใหม่มีงานฉลองจึงพากันจอดรถลงไปดู เพราะเห็นคันดินสูงเท่าหัวเป็นแนวยาว เข้าใจว่าเป็นเนินกำแพงเมืองทางด้านนี้ แต่คูน้ำคงเปลี่ยนสภาพไปแล้ว

เกาะศรีมาลา เป็นชื่อเรียกเกาะกลางคูเมืองพิจิตรเก่า เล่าตามนิทานพื้นบ้านเรื่องขุนช้าง - ขุนแผนอันโด่งดัง แต่ที่จริงคือป้อมปราการริมกำแพงเมือง ลักษณะการสร้างคล้ายอย่างกำแพงเมืองสุพรรณบุรี กำแพงเพชร และพิษณุโลก เป็นต้น เข้าใจว่าเป็นลักษณะการสร้างเมืองในช่วงอยุธยาตอนต้นต่อช่วงอยุธยาตอนกลาง บนเกาะนั้นมีร่องรอยของเศษอิฐแตกหัก มีศาลที่ชาวบ้านเคารพบูชากัน

แผนที่เมืองเก่าพิจิตร คัดลอกจากภาพถ่ายทางอากาศเพิ่มเติมจากข้อมูลบนแผ่นป้ายหน้าวัด ในแผนที่เมื่อเลยจากวัดสมาบาปไปมีทางน้ำแยกไปทางตะวันออก Google maps เรียกคลองคูณ เป็นสาขาแม่น้ำน่านสายเก่าแยกไปผ่านเขารูปช้างและบรรจบกับแม่น้ำน่านสายปัจจุบันที่ตำบลบางไผ่
เขตอุทยานเมืองเก่าพิจิตร ปัจจุบันเป็นสวนรุกชาติที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมป่าไม้ มีสภาพร่มรื่นโดยตลอด วัดมหาธาตุเป็นโบราณสถานหลักใจกลางเมือง ปัจจุบันเป็นวัดร้างแต่ได้รับการขุดแต่งเรียบร้อย อาจารย์ศรีศักร กล่าวถึงวัดมหาธาตุของเมืองพิจิตรเอาไว้ว่า "เป็นวัดที่มีบริเวณซากวิหารและพระสถูปทรงกลมขนาดใหญ่ เหนือเหนือบริเวณฐานก่อนถึงองค์ระฆังมีเรือนธาตุและซุ้มทิศ" ปัจจุบันตัววิหารหลังการขุดแต่งเห็นป็นฐานอาคารแบบใช้โครงสร้าเสารับน้ำหนัก ผังพื้นเป็นอาคารรุ่นเก่าประมาณช่วงอยุธยาตอนกลางขึ้นไป มีเสาร่วมในเป็นแนวคู่ใน เสาคู่นอกก่อผนังประกอบ ด้านนอกสุดมีเสาพาไล ฐานวิหารยกพื้นไม่สูงนัก ด้านหลังชุกชีที่ประดิษฐานพระประธานมีทางเชื่อมไประเบียงคดที่สร้างรอบองค์เจดีย์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูง ซุ้มทิศและเรือนธาตุปัจจุบันไม่มีแล้ว ส่วนยอดหักหายไป 

การพังทลายของเจดีย์นี้เป็นเรื่องที่ต้องจดจำไว้ในประวัติศาสตร์บ้านเมืองเรา ว่าที่พังส่วนใหญ่ก็เพราะโจรมาขุดหาของกัน เมื่อขุดเข้าไปแล้วปล่อยเป็นโพรงไว้นานไปก็ทรุดทลายลง พอเมื่อพังลงหมดแล้วเกิดเป็นโคกเป็นเนิน ต่อมาก็ถูกไถปรับทำไร่ทำสวนกันไปตามเรื่อง หรือเอาอิฐไปทำประโยชน์อย่างอื่นอีกก็ได้ วัดใหญ่โตขนาดไหนก็มีสิทธิ์จะสาบสูญไปได้ โบราณสถานที่มีเหลืออยู่ก็มักโดนขุดค้นทำลายกันไปมากแล้ว อยู่มาได้ก็เพราะบูรณะรักษาเอาไว้เวลาซ่อมก็ต้องปิดรูโจรเหล่านี้ซะเพื่อรักษาโครงสร้างเอาไว้ให้มั่นคง แต่ยังไงก็เสี่ยงต่อการพังทลายอยู่ดี เพราะอิฐที่ก่อแล้วไม่สามารถฉาบปูนแต่งให้เสร็จเหมือนใหม่ได้ น้ำฝนจึงสามารถแทรกเข้าไปได้ง่าย ความชื้นสะสมนานเข้าเนื้ออิฐก็ร่อนไปต้นไม้บางพวกก็ขึ้นชอนไช จึงต้องคอยซ่อมแซมบำรุงอยู่เรื่อยๆ การจะรักษาร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไว้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ด้านหลังวัดคือทางทิศตะวันออก มีพระอุโบสถที่ขุดคูน้ำล้อมไว้ ตัวพระอุโบสถยกฐานสูงคล้ายจะเป็นอาคารโถง รอบๆมีใบเสมาหินชนวน น่าแปลกอยู่เหมือนกันที่หน้าวัดหันไปทางทิศตะวันตกอย่างนี้ ดูเป็นระเบียบที่ไม่นิยมในช่วงอยุธยาตอนต้น - ตอนกลาง น่าจะมีการซ่อมแซมกันมาเรื่อยๆ หรืออย่างไรก็เดาไม่ถูกต้องศึกษากันอย่างละเอียดต่อไป ทางด้านหลังนี้มองเห็นเจดีย์มีโพรงเข้าไปในองค์ระฆัง แต่คงปีนขึ้นไปไม่ได้เพราะสูงทีเดียว ข้างๆวัดมีสระน้ำไม่ได้เดินไปดูเพราะเย็นมากแล้ว ยังต้องไปอีกไกล
เดินมาทางหน้าวัดพี่จิชี้ให้ดูแผนที่เมืองเก่า ระบุตำแหน่งวัดร้างอีกหลายวัด

สภาพวิหารหลวงของวัดมหาธาตุเมืองพิจิตร มีลักษณะของเสาสี่เหลี่ยม และเสาแปดเหลี่ยมปะปนกัน
เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุเมืองพิจิตร เดิมคงมีลักษณะคล้ายเจดีย์วัดนางพญาที่ศรีสัชฯ หรือวัดพระศรีสรรเพชญ์

พี่ จิและพี่แพร ที่หน้าวัดมหาธาตุ ที่จริงถ้าเรียกวัดมหาธาตุแบบนี้ก็จะทำให้นึกถึงพระปรางค์ อย่างวัดมหาธาตุพิษณุโลก ถ้าเรียกว่าวัดหน้าพระธาตุน่าจะเหมาะกว่า


  เรามาถึงวัดนครชุมตอนห้าโมงเย็น โชคดีที่พระกำลังลงอุโบสถทำวัตรเย็น เราจึงได้เข้าไปชมด้านในได้ วัดนี้มีพระอุโบสถเก่าขนาดเล็กทรงคฤห์แบบจั่วปิดคือมีชายคารอบ ที่ผนังด้านข้างใช้ช่องแสงแบบโบราณ จัดเป็นอาคารแบบไทยในสายท้องถิ่นที่น่าสนใจ ผมเองก็แม่นเรื่องสถาปัตย์เพียงแต่เห็นโครงสร้างด้านในดูไม่เป็นผนังรับน้ำหนักอย่างที่เคยพบ แต่พาดไม้เฉียงตามแนวสันตะเฆ่ลงมาที่ผนังเลย ไม่มีเต้าและชายคาแต่อย่างใด เพราะโดยปกติอาคารที่ใช้ช่องแสงมักจะต้องมีพาไลหรืออย่างน้อยก็ต้องมีชายคาลงมาปิดกันฝนสาด ไม่อย่างนั้นฝนตกหนักๆน้ำก็จะสาดเข้าไปทางช่องแสงนั้นได้

ด้านหน้าอุโบสถหลังเก่านี้มีหอไตรหลังหนึ่ง ถูกย้ายมาปลูกใหม่ตรงนี้ ด้านบนมีตู้พระธรรมแต่ไม่เก่าถึงอยุธยา หลวงพ่อท่านเจ้าอาวาสท่านใจดี ท่านเห็นเรามาเดินดูวัดก็เข้ามาทักทายอย่างมีอัธยาศัย ท่านได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากับพี่จิหลายอย่างทีเดียว ผมได้ยินมาบ้างบางช่วงบางตอนที่เขาสนทนากันเพราะมัวเดินไปถ่ายรูป ท่านเล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนตัววัดนครชุมจริงๆอยู่ใกล้ถนนทางหน้าวัด ตรงที่เป็นโบสถ์ใหม่ในปัจจุบันเดิมเป็นวิหารโถงเครื่องไม้ ถ้าอยากดูตัวอย่างให้ไปดูที่วัดสมาบาป ส่วนตัวโบสถ์เก่าหลังนี้เป็นของอีกวัดหนึ่งต่างหาก ท่านบอกชื่อวัดมาแต่ก็จำไม่ได้แล้ว แต่ก่อนก็มีวัดเล็กวัดน้อยอยู่อีกมากแต่ก็รกร้างทิ้งไปหลายแห่ง ฟังท่านแล้วก็นึกอยากจะสำรวจพิจิตร เริ่มจากบางคลานไล่ตามฝั่งน้ำน่านสายเก่านี้ขึ้นไปเรื่อยๆ คงจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจหลากหลาย แต่ไม่รู้จะไปหาเวลาและงบประมาณจากไหนให้ทำได้ขนาดนั้น เพราะทำแล้วก็คงเลยเถิดอยากดูไปทั่ว

เราไปแวะที่วัดสมาบาปเพื่อดูวิหารโถง ซึ่งเป็นอาคารเครื่องไม้ไม่ยกพื้นสูง รูปทรงเหมือนศาลาดิน มีหลังคาคลุมโดยรอบ ด้านหน้ามีเจดีย์น่าจะซ่อมเติมหรือไม่ก็ทำใหม่เลย เห็นเสามาหินชนวนเกลี้ยงตกอยู่แผ่นหนึ่งด้วย ข้างในมีพระพี่แพรว่าไม่เก่านักแต่ไม่มีเวลาให้ดูเพราะต้องไปต่อ

ด้านในพระอุโบสถเก่าวัดนครชุม
พระอุโบสถหลังเก่าวัดนครชุม ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
วิหารโถงวัดสมาบาป
 .... วิหารโถงหรือโบสถ์โถง คงเป็นที่นิยมสืบมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมเด็จฯกรมพระยานริศทรงได้พบเห็นที่วัดธรรมามูลหลังหนึ่งเช่นกัน ทรงบันทึกว่า "วัดนี้อยู่ที่ไหล่เขา แปลนวัดมีกำแพงแก้วรอบ หน้ามีโบสถ์ เปนโบสถ์โถง เสาอิฐหลังคาเครื่องประดุ มุงกระเบื้องกูบ.. เสมาหินทรายแดง ดอกไม้กนก"



เรามาถึงวัดโพธิ์ประทับช้างเกือบหกโมงเย็น แสงพระอาทิตย์ตอนนี้กำลังสวยถ้าถ่ายภาพอาร์ตๆคงจะออกมาดีมาก แต่สำหรับการเก็บข้อมูลตรงไหนที่ไม่โดนแดดจะดูมืดไปหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะถ้ามาตอนบ่ายคงจะร้อนมากจนไม่อยากดูอะไร เพราะวัดเป็นที่โล่งๆไม่มีต้นไม้คลุม เปิดเผยให้เห็นสถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าของราชสำนักอยุธยา ความสวยงามของวัดนี้ยิ่งมากขึ้นเพราะมีป่ายางเป็นฉากหลัง ต้นยางเหล่านี้เวลาที่ต้องแสงอาทิตย์แล้วดูสวยมาก
ภายในเขตพุทธาวาส วัดโพธิ์ประทับช้าง
วัดโพธิ์ประทับช้างมีเหตุการณ์ระบุพ้องกับหลักฐานทางโบราณคดีว่า
"สมเด็จ พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระราชดำริถึงภูมิชาติแห่งพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระพันปีหลวงตรัสบอกไว้แต่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้นว่า เมื่อศักราช ๑๐๒๔ ปีขาล จัตวาศก แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จบรมบพิตรพระนารายณ์เป็นเจ้า เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธประติมากรพระชินราช พระชินศรี ณ เมืองพิษณุโลก ทรงพระกรุณาให้มีการมหรสพถวายพุทธสมโภชคำรบ ๓ วัน ครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ พาเอาสมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระครรภ์แก่ จึ่งประสูติพระองค์ที่ตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร ในเดือนอ้าย ปีขาลศกนั้น แล้วจึ่งเอารกที่สหชาตินั้นใส่ลงในผอบเงิน เอาไปฝังไว้ที่หว่างต้นโพธิ์ประทับช้างและต้นอุทุมพรต่อกันนั้น เหตุดังนั้นจึ่งได้พระนามกรชื่อมะเดื่อ และสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริระลึกถึงที่ภูมิชาติ อันพระองค์ประสูติ ณ แขวงหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นมหามงคลสถานอันประเสริฐ สมควรจะสร้างขึ้นเป็นพระอาราม จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งสมุหนายก ให้กะเกณฑ์กันขึ้นไปสร้างพระอาราม ตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง มีพระอุโบสถ วิหาร มหาธาตุเจดีย์ ศาลาการเปรียญ และกุฎี สงฆ์พร้อมเสร็จ และการสร้างพระอารามนั้น ๒ ปีเศษ จึ่งสำเร็จ ในปีมะเส็ง ตรีศก จึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วย พระชลวิมานโดยกระบวนนาวาพยุหะขึ้นไป ณ พระอารามตำบลโพธิ์ประทับช้างนั้น และท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งขึ้นไปคอยรับเสด็จโดยสถลมารถนั้นก็เป็นอันมาก แล้วทรงพระรุณาให้มีการฉลอง และมีการมหรสพคำรบ ๓ วัน ทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก และทรงพระราชอุทิศถวายเลกข้าพระไว้สำหรับอุปัฎฐากพระอาราม ๒๐๐ ครัว และถวายพระ กัลปนาขึ้นแก่พระอารามตามธรรมเนียม แล้วทรงพระกรุณาตั้งเจ้าอธิการชื่อพระครูธรรมรูจีราชมุนีอยู่ครองพระอาราม ถวายเครื่องสมณบริขารตามศักดิ์พระราชาคณะแล้วเสร็จ ก็เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร จำเดิมแต่นั้นมาพระอารามนั้นก็เรียกว่าวัดโพธิ์ประทับช้างมาตราบเท่าทุก วันนี้"

คัดลอกจาก : http://th.wikisource.org/wiki/พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม_หน้าที่_๓๗๑-๗๔๓

วัดแห่งนี้เป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ สามารถใช้เป็นตัวกำหนดรูปแบบทางศิลปะและสถาปัตยกรรมอยุธยาได้สมัยหนึ่ง อีกทั้งข้อมูลนี้ยังบอกถึงการใช้เส้นทางแม่น้ำน่านสายเก่า เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปยังเมืองพิษณุโลก 

ด้วยความที่วัดนี้เป็นพระอารามหลวงจึงสร้างอย่างภูมิฐานใหญ่โต มีพระอุโบสถเป็นประธานอยู่ในเขตพุทธาวาสตามความนิยมสมัยอยุธยาตอนปลาย ตัวพระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานทักษิณยกพื้นสูง มีระเบียงล้อม ผนังสกัดก่ออิฐเป็นหน้าบันไปจรดปลายแหลมรับอกไก่ มีมุขเด็จหน้า - หลัง กำแพงผนังสูงยืดขึ้นให้โดดเด่น ผนังช่วงหลังคาซ้อนชั้นที่สองหน้า - หลังนั้นทำเป็นมุขเชิดด้วย แต่ก่อนคงมีการตกแต่งมากแต่ใช้วัสดุบอบบางจึงพังเสียหายไปหมด ด้านในมีเสาร่วมในหกคู่ เป็นชุกชีไปสามคู่แต่สามารถเดินได้รอบเพราะไม่ได้ทำชุกชีติดผนัง พระพุทธรูปประธานตั้งอยู่บนฐานสูง แต่พังไปมากแล้วจึงปั้นซ่อมกันใหม่ องค์พระดูน่ากลัว มีหลังคาสังกะสีแดงๆมามุงคลุมด้านในนี้ไว้ มาเสียเอาก็ตรงนี้เพราะเขาอยากจะใช้งานโบราณสถานแต่ก็ทำได้ไม่ดี 

ข้างพระอุโบสถมีเจดีย์บริวารสร้างเป็นชุดๆซ้ายขวา มีปรางค์ด้วยแต่องค์ด้านใต้พังลงมากองอยู่บนลานประทักษิณ ต่อจากนั้นมีเจดีย์ย่อมุมและอาคารบางอย่าง เข้าใจว่าบางทีจะทำให้สมมาตรทั้งซ้ายขวา แต่ที่ด้านเหนือมีอาคารคล้ายเป็นฆณฑปเลยทำให้ไม่สมมาตรเสียทีเดียว ออกนอกกำแพงเขตพุทธาวาสไปทางทิศเหนือมีคูน้ำเข้าใจว่าเป็นคูน้ำล้อมรอบพระอาราม เลยคูน้ำออกไปเป็นขอบเขตของกลุ่มอาคารที่มีกำแพงล้อมและตอเสาอิฐของอาคารด้านใน อาจจะเป็นพระตำหนักหลวง เดินไปทางด้านใต้ริมเขตนอกกำแพงริมพุทธาวาสมีตึกการเปรียญหลังหนึ่ง ทำนองอย่างที่วัดกุฏีดาว ด้านหน้ามีซากฐานอิฐเข้าใจว่าเป็นหอระฆัง ถัดไปเป็นคูน้ำด้านใต้ เถิบออกไปเป็นขอบเขตกับอาคารบางอย่าง อาจจะเป็นสังฆาวาสหรือพระไตรปิฎก รีบถ่ายรูปเอาไว้ดูเพราะฟ้ามืดลงแล้ว กลับไปเจอพี่จิกับพี่แพรที่หน้าประตูกำแพงแก้ว ตรงนั้นมีต้นตะเคียนใหญ่อยู่เป็นคู่ ลำต้นสูงมาก มีนกแขกเต้าอยู่เต็มไปหมด พี่จิยืนดูอยู่นานว่าจะถ่ายรูปมันก็ไม่ทันเพราะฟ้าเริ่มหมดแสง จะว่าไปวัดนี้ก็ดูน่ากลัวชวนให้ขนหัวลุกอย่างไรก็ไม่รู้ ต้องไหว้สาขอขมาเพราะปีนป่ายดูนั่นนี่ด้วยอาการไม่สมควร 

ด้านข้างพระอุโบสถ ผนังแปรทางด้านทิศเหนือ

ภาพจากบริเวณด้านหลังพระอุโบสถ



ตึกการเปรียญทางด้านทิศใต้นอกเขตพุทธาวาส


  พวกเราออกมาจากวัดโพธิ์ประช้างตอนเกือบๆหกโมงครึ่ง พี่จิขับรถไปออกที่ตำบลวังจิกพอข้ามแม่น้ำพากันเหลือบเห็นบ้านไม้หลังใหญ่อย่างเรือนแถว อยากแวะดูก็จวนมืดแล้วต้องไปต่อให้ถึงพิษณุโลก

ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/oldcity/pichit2.htm


..................................................................

 โปรดติดตามตอนต่อไป >>