สำรวจแหล่งโบราณสถานในเขตจังหวัดนครสวรรค์
ท่ามกลางแสงแดดหน้าร้อนและดอกไม้ข้างทาง
วันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๑
เวลาประมาณ ๘.๐๐ น. พี่จิ๊บ มาพร้อมกับ อาจารย์เอฟและคุณจอม
แวะรับผมแถวๆที่พักย่านบางกะดี พวกเราออกเดินทางมุ่งหน้าสู่วัดจันเสน
จุดนัดพบของเรากับพี่ตั๊วและพี่เอก
เรามาถึงวัดจันเสนเวลา ๑๐.๑๕
น. และได้พบกับพี่ตั๊วกับพี่เอก จึงเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ของวัดด้วยกัน ซึ่งมีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในบริเวณเมืองโบราณแห่งนี้หลายชิ้น
ซึ่งล้วนแต่เป็นร่องรอยการใช้งานของเมืองนี้มายาวนานมากโดยเฉพาะในสมัยทวารวดี เช่น
ฐานดอกบัวหินแกะสลักสันนิษฐานว่าจะเป็นของพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่องค์หนึ่ง
ซึ่งน่าจะมีความสูงกว่า ๓ เมตร เลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุในสมัยเขมรโบราณ
และสืบเนื่องมาเรื่อยๆจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย
ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีภาพวาดที่ถอดลายเส้นในศิลปะทวารวดีมาปรับปรุงใหม่และทำได้อย่างสวยงาม
ภาพพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ โดยอาศัยองค์ประกอบจากภาพสลักบนผนังถ้ำพระโพธิสัตว์ รวมถึงแหล่งอื่น ๆ มาผสมผสาน |
ฐานบัวสำหรับรูปเคารพขนาดใหญ่ แกะสลักจากหินแกรนิต |
พวกเราออกเดินทางต่อและไปแวะรับประทานอาหารเที่ยงที่อำเภอตากฟ้า
ต่อจากนั้นก็ไปที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านไร่ประชาสรรค์
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าพิพิธภัณฑ์ปิดทำให้เราไม่ได้เข้าชม เราจึงเดินทางกันต่อไปที่วัดพระพุทธบาทไพศาลี
วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเก่าเวสาลี
ซึ่งเป็นเขาลูกเตี้ย ๆ ในแนวเทือกเขาที่ทอดตัวอยู่ยาวไล่ลงมาจากทิศเหนือ
กั้นระหว่างที่ราบภาคกลางและแอ่งเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นลุ่มน้ำป่าสัก เมืองไพศาลีจึงควรเป็นเมืองเก่าที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสักมาตั้งแต่สมัยทวารวดี
ตรงตามหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก
แดดในวันนี้ค่อนข้างร้อนแรงและอากาศก็อบอ้าว
โชคดีที่ตั้งของพระมณฑปอยู่บนเนินเขาที่ร่มรื่นและมีทางเดินลัดเลาะขึ้นไปค่อนข้างสบาย
เนินเขาลูกนี้มีการปรับแต่งเอาก้อนหินผามาเรียงเป็นเขื่อนล้อมเอาไว้ให้มั่นคงก่อนจะถมปรับพื้นให้ราบเรียบแล้วก่อสร้างอาคารที่ด้านบน
เราขึ้นไปแล้วจึงได้เห็นบันไดทางขึ้นหลักอยู่ทางทิศตะวันตก
เป็นบันไดนาคตัดตรงขึ้นมาคล้ายกับบันไดสามทางของพระพุทธบาทสระบุรี
มีร่องรอยของบันไดที่เรียงด้วยหินขนาบบันไดทางขึ้นที่ถูกปรับปรุงขึ้นใหม่
ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นเนินที่ยื่นออกไปจากเนินที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทมีอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ตรงนั้นหลังหนึ่ง
ทำให้คิดว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันกับที่ตั้งของพระที่นั่งเย็นของพระพุทธบาทสระบุรี
บนยอดเนินเขาเป็นที่ตั้งของพระมณฑปเก่าก่ออิฐถือปูน มีทางเข้าอยู่ที่ผนังด้านทิศตะวันตกและด้านตะวันออกข้างละสองช่อง
ตัวพระมณฑปยกพื้นสูงประมาณ ๑ เมตร เป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ไม่ตกท้องช้าง
โครงสร้างเป็นระบบผนังรับน้ำหนัก เสาประดับแบ่งผนังออกเป็นด้านละสามห้องมีร่องสำหรับติดคันทวยแสดงว่ามีชายคาปีกนกยื่นออกมาคลุมรอบ
ลานด้านนอกปูพื้นด้วยหินแกรนิตล้อมด้วยกำแพงแก้วก่ออิฐเตี้ย ๆ
เปิดช่องเป็นทางเข้ามาในพระลานสองด้านมีเสาหัวเม็ดประดับทางเข้า จึงควรเป็นอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาปลาย
และเข้าใจได้ว่าพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นการจำลองวัดพระพุทธบาทของสระบุรีมานั่นเอง
ด้านในพระมณฑปมีแท่นประดิษฐานรอยพระพุทธบาทซึ่งถูกปรับปรุงใหม่แล้ว
ทางวัดต่อเติมหลังคาเอาไว้คุ้มแดดคุ้มฝน รอยพระพุทธบาทแกะสลักจากหินแกรนิต
มีลายมงคลตามพระบาทลักษณะ
พวกเราพบจารึกบนรอยพระพุทธบาทเป็นอักษรขอมแต่ไม่สามารถอ่านจับความได้เพราะลบเลือนไปมาก แต่มีการถอดข้อความที่จารึกบนรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ไปแปล โดยพบข้อมูลในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย เว็บไซต์ http://www.sac.or.th โดยมีข้อความเป็นคำสรรเสริญพระศรีอาริยเมตไตรย และอธิษฐานให้ได้พบพระองค์
ที่ขอบแผ่นหินรอบๆพระบาทมีรอยจารเป็นรูปเทวดายืนประนมมือแต่ก็ลบเลือนมากทีเดียว
ลักษณะของลวดลายมงคลมีแบบแผนของลวดลายที่เก่าอยู่แต่ดูแล้วคล้ายจะเป็นการไปลอกแบบลวดลายพระบาทที่เก่าแก่กว่ามาสร้างใหม่
ร่วมสมัยเดียวกับพระมณฑปคือราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓
พระมณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทแห่งไพศาลี |
รอยพระพุทธบาทแห่งไพศาลี |
พวกเราใช้เวลาพอสมควรในการซับน้ำมันที่ทางวัดเอามาทาไว้เพื่อให้สาธุชนสามารถปิดทองนมัสการ
และนำเหรียญที่ถูกเอามาวางไว้เพื่อทำบุญออกไปชั่วคราว
ซึ่งวิธีปิดทองและถวายสิ่งของบูชานี้เป็นวิธีดั้งเดิมที่ผู้คนนิยมกระทำเพื่อเป็นการนมัสการปูชนียสถาน
– วัตถุสำคัญ
หากแต่การกระทำสัมผัสโดยตรงก็จะส่งผลกระทบทำให้ทำลายเนื้องานศิลปะไปด้วย
ดังนั้นจึงต้องมีการทำความเข้าใจระหว่างนักอนุรักษ์และผู้ศรัทธาให้เจอจุดที่เข้าใจกันได้ทั้งสองฝ่าย
เพราะปูชนียสถาน – วัตถุจะดำรงความศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้ก็เพราะการเป็นที่ยึดเหนี่ยวของผู้คน
และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนผ่านประเพณีอันดีงามของคนในชุมชนนั้นๆเป็นสำคัญ
ในขณะเดียวกันงานศิลปะก็ควรจะถูกรักษาไว้เพื่อแสดงถึงความรุ่งเรืองและเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับท้องถิ่น
รวมถึงเป็นงานศิลปะที่จรรโลงใจผู้มาเยี่ยมชมและนมัสการด้วย
ถัดจากเนินเขาที่ประดิษฐานพระพุทธบาทเป็นทางเชื่อมไปบนไหล่เขาลูกใหญ่ซึ่งเป็นที่ต้องของพระอุโบสถ
แต่ไม่พบหลักฐานของอาคารเก่าบนเนินนี้แต่ก็อาจจะถูกสร้างทับหรือดัดแปลงไปหมดแล้ว
ยังมีทางเดินต่อไปด้านบนซึ่งเป็นที่เขาจัดเอาไว้เป็นที่นั่งวิปัสนา
โดยสร้างเป็นศาลาเล็กๆจำนวนมากมีระยะห่างกันแค่พอร้องเรียกกันได้ถนัด
ด้านบนเขาเป็นมณฑปใหญ่ที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทที่ปรากฏบนหินธรรมชาติ
ซึ่งจะเป็นรอยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแท้ ๆ หรือจะมีการแต่งเติมให้เป็นรอยพระพุทธบาทด้วยหรือไม่ก็ไม่อาจทราบทราบได้
รอยนิ้วพระบาทปรากฏลายดอกบัว |
กอบัวในสระน้ำ น่าจะสื่อความหมายถึงสระสำคัญต่างๆ |
รูปดอกไม้ที่ถูกกรองเป็นอุบะห้อยลงมาลักษณะเหมือนดอกบัวหรือดอกจำปา |
เรือสำเภา มีเสากระโดงและมีเก๋งเรือด้านหลัง |
เราออกมาจากวัดพระพุทธบาทและไปดูโบราณสถานในเขตเมืองเวสาลีหรือเมืองเก่าไพศาลี
ซึ่งเป็นเมืองเก่าที่ตั้งอยู่บนลำน้ำสายเล็ก ๆ ที่เรียกกันในปัจจุบันว่าคลองสำโรงชัย
ปัจจุบันตัวเมืองโบราณตั้งอยู่บริเวณชุมชนบ้านหนองไผ่ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้เล็กน้อย ยังสามารถเห็นร่องรอยของคูน้ำคันดินได้จากแผนที่ทางอากาศ มีลักษณะเป็นเมืองรูปวงรีแบบกลุ่มเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ตัวโบราณสถานที่เราพบควรเป็นกลุ่มโบราณสถานที่อยู่กลางทุ่งโล่งๆ
แม้แดดจะร้อนแต่โบราณสถานแห่งนี้ก็แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ที่ผลัดใบ
ต้นตะแบกออกดอกสีม่วง ต้นลีลาวดีก็ออกดอกเต็มต้นอยู่ท่ามกลางโบราณสถานนั้น
ราวกับจะปลอบประโลมให้เราลืมเรื่องแดดที่ร้อนแรงไปชั่วคราว
สันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นวัดแห่งหนึ่งที่ร้างไปโดยไม่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีก
โดยอาจจะเคยเป็นวัดสำคัญประจำเมืองเวสาลีมาก่อน ทางทิศตะวันออกของกลุ่มโบราณสถานมีพระอุโบสถขนาดเล็กกะทัดรัด
หันหน้าไปทางทิศตะวันออกและมีประตูทางเข้าสองช่องทางทิศนี้
ตัวอาคารเป็นอาคารแบบผนังรับน้ำหนัก มีเก็จเสาติดผนังแบ่งอาคารเป็นห้องสี่ห้อง
ห้องหน้าและหลังแคบจึงสันนิษฐานว่าเป็นอาคารแบบมีมุขลดหน้า – หลัง ที่ผนังแปเป็นช่องย่อมุมไม้สิบสองข้างละสองช่อง เป็นช่องทะลุสำหรับให้แสงเข้าได้บ้างและระบายอากาศ เสมาเป็นหินชนวนปักเป็นกลุ่มๆกลุ่มละสอง - สามก้อนรายรอบพระอุโบสถ
ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่ทำด้วยศิลาแลง ภายในพระอุโบสถมีชุกชีซึ่งถูกทำขึ้นใหม่ในสมัยปัจจุบัน
พวกเราเดินผ่านสระบัวเข้าไปยังกลุ่มโบราณสถาน
ซึ่งเป็นเขตพระวิหารอันเป็นพุทธาวาสหลักของวัด
ประกอบด้วยอาคารหลังสามชุดเรียงกันในแนวเหนือ – ใต้
คือเป็นพระวิหารในที่ตรงกลางหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
มีทางเข้าด้านหน้าและหลังที่กึ่งกลางผนังด้านละ ๑ ประตู อาคารมีขนาดห้าห้องโดยใช้โครงสร้างแบบเสารับน้ำหนัก
ผนังวิหารเป็นแบบก่อประกอบเสาแต่พังทลายไปมากแล้ว
แต่อาจจะเป็นผนังแบบช่องแสงตามที่นิยมสำหรับอาคารลักษณะนี้ น่าจะคล้ายคลึงกับอาคารที่วัดอินทรา
ที่ลพบุรี ตัววิหารสร้างอยู่บนฐานที่ยกพื้นสูงขึ้นมาเล็กน้อยและมีกำแพงแก้วล้อมรอบ
ถัดไปทางทิศใต้เป็นอาคารทรงมณฑปขนาดเล็กที่สร้างยกฐานสูงพอสมควร มีช่องเปิดอยู่ทางทิศใต้เพียงด้านเดียวโดยเรียงอิฐเป็นคูหาโดยการเหลื่อมทับก้อนอิฐกัน
หลังคาก่ออิฐขึ้นไปเป็นทรงลาดแบบกระดองเต่าหรือหีบฝาหลังเจียด
นับเป็นอาคารที่แปลกและอาจเป็นหอไตรหรือไม่ก็ไม่ทราบได้
ทางทิศเหนือเป็นกลุ่มเจดีย์สร้างเรียงกันอยู่อย่างน้อย ๒ องค์
และอาจจะมีอาคารหลังเล็กๆอีกด้วย เจดีย์องค์แรกเป็นเจดีย์ทรงปรางค์อยู่ที่มุมพุทธาวาสทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
เป็นทรงปรางค์ที่ดูสูงชะลูดคล้ายกับที่วัดบรมพุทธาราม
ถัดมาเป็นเจดีย์ทรวดทรงแบบอยุธยาตอนกลาง
คือมีระเบียนเขาสิงห์รุ่นเก่าที่มีบัวค่ำคลุมขาสิงห์ก่อนจะเป็นท้องไม้
เสียดายที่เจดีย์องค์นี้ถูกทุบทำลายไปมากแล้ว
อาคารทรงมณฑปขนาดย่อมภายในวัดโบราณในเมืองเก่าไพศาลี มีต้นลั่นทมออกดอกเป็นฉาก |
กลุ่มอาคารที่เรียงตัวในแนวเหนือ - ใต้ ภาพนี้ถ่ายจาดทอศตะวันตกเฉียงใต้ |
ผนังพระอุโบสถเจาช่องแสงเป็นช่องแบบย่อมุมไม้สิบสอง |
พวกเราเดินทางออกจากวัดในบริเวณเมืองเก่าเวสาลีมุ่งตรงไปยังเมืองนครสวรรค์ตอนเวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง
ผ่านท่าตะโกและไปออกสู่ถนนสายเอเซียแถวๆค่ายจิระประวัติ ผ่านวัดจอมคีรีนาถบรรพตแล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานเดชาติวงศ์แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปย่านตลาดเก่าของเมืองนครสวรรค์
พระบาง
คือชื่อเก่าของเมืองนครสวรรค์ เป็นชื่อเก่าที่พบหลักฐานกล่าวถึงหลายครั้ง ทั้งในศิลาจารึกและในพระราชพงศาวดาร
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐
เมืองพระบางมีสถานะเป็นเมืองที่ปลายด่านแดนระหว่างอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา
เพราะเป็นชุมทางแม่น้ำสายหลักที่สามารถใช้เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ได้สะดวก
ทำให้เมืองนี้ถูกใช้เป็นที่พักหรือจัดสรรขบวนสินค้าที่ขึ้นล่องไปขาย
รวมถึงการจัดสรรกำลังพลในการทำสงความด้วย
พวกเรามาถึงตัวเมืองนครสวรรค์เวลาประมาณห้าโมงเย็น
ตัวเมืองนครสวรรค์เต็มไปด้วยตึกแถวออกร้านกันคึกคัก
ถนนในเมืองตัดกันเป็นแยกมากมายจนทำให้ดูสับสนพอสมควร แต่ในนี้ก็มีร้านอาหารอร่อยหลายร้านรวมถึงร้านขนมขึ้นชื่อด้วย
พวกเราไปนัดเจอกันกับพี่ตั๊วที่วัดวรนาถบรรพตซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขากบ
ตัวเมืองพระบางตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางทิศตะวันตกบริเวณที่ราบแคบๆเชิงเขากบ
มีแม่น้ำน่านที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำแม่น้ำปิงที่หน้าเมืองแล้วจึงไหลผ่านทางตัวเมืองทางทิศใต้ต่อไปเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
บนยอดเขากบเป็นที่ตั้งของวัดวรนาถบรรพตซึ่งในปัจจุบันแบ่งออกเป็นวัดที่อยู่บนเขาและบนพื้นราบ
วัดที่อยู่บนพื้นราบมีพระเจดีย์เก่าเหลือยู่หนึ่งองค์แต่อยู่ในสภาพชำรุดเสียหายมาก่อนจะมีการบูรณะซ่อมแซม
มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังคล้ายคลึงกับที่พบในเมืองเก่าสุโขทัย
หากในภาพถ่ายเก่าพบว่ามีร่องรอยการทำซุ้มจระนำเป็นทางเข้าไปในพระเจดีย์ทั้งสี่ด้าน
รูปทรงของพระเจดีย์องค์นี้จึงอาจจะมีรูปทรงคล้ายกับเจดีย์วัดนางพญา เมืองศรีสัชนาลัย
ก็เป็นได้
รองศาสตราจารย์ศรีศักร
วัลลิโภดม เขียนเกี่ยวกับเมืองพระบางเอาไว้ในหนังสือ เมืองโบราณในอาจักรสุโขทัย
ว่า
...ถึงแม้ตัวเมืองจะไม่มีขนาดใหญ่แต่ก็ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นชัยภูมิคือแม่น้ำปิงทำหน้าที่เป็นคูเมืองชั้นด้านตะวันตก
ส่วนทางด้านเหนือมีเขากบตั้งขวางกั้นเป็นกำแพงด้านนอกในทำนองเดียวกันกับเมืองศรีสัชนาลัย
เมื่อพิจารณารูปแบบทางศิลปกรรมและความสำคัญของโบราณสถานที่พบในเมืองพระบางแล้ว
ก็อาจกล่าวได้ว่าเมืองพระบางได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองสำคัญในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทอย่างไม่ต้องสงสัย...
ส่วนเขตวัดที่อยู่บนเขานั้นตั้งอยู่บนยอดเขาสูง
นับเป็นยอดเขายอดแรกที่ทอดตัวเป็นกลุ่มอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมือง
ยอดเขาลูกนี้มีบันไดตัดตรงขึ้นไปจากด้านล่างและยังมีถนนให้รถยนต์สามารถขับขึ้นไปได้ด้วย
ด้านบนไม่เหลือสิ่งก่อสร้างที่เป็นหลักฐานเชิงโบราณคดีให้เห็นชัดเจนอีกแล้ว
หากแต่มีพระเจดีย์ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นของเก่าอยู่องค์หนึ่ง
มีวิหารประดิษฐานพระรอยพระพุทธบาทสำคัญที่ตรงตามจารึกนครชุมว่าสถาปนาขึ้นโดยพระยาลิไทย
กษัตริย์พระองค์สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย
รอยพระพุทธบาทนี้มีลวดลายและแบบแผนคล้ายคลึงกับรอยพระพุทธบาทที่วัดตระพังทองและรอยพระพุทธบาทที่วัดท่าทอง
จึงสามารถกำหนดอายุได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยพระยาลิไทยจริง ๆ จารึกเขากบ
ซึ่งเป็นจากรึกหลักสำคัญกล่าวถึงสิ่งก่อสร้างหลายอย่างที่ถูกสร้างขึ้นไว้บนยอดเขานี้
อาทิ พระเจดีย์ และการปลูกพระศรีมหาโพธิ์ และเขาลูกนี้ก็ถูกเรียกว่าสุมนกูฏเช่นเดียวกับภูเขาที่พระดิษฐานรอยพระพุทธบาททางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย
ลวดลายสลักบนรอยพระพุทธบาทเป็นรูปภูเขาและต้นไม้ของวัดวรนาถบรรพต (ช่องด้านหน้าโคที่มุมล่างซ้ายมือ) และภูเขาและต้นไม้ของรอยพระพุทธบาทแห่งไพศาลี (ภาพขวามือ) |
ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองบริเวณเขากบเป็นที่ตั้องของวัดจอมคีรีนาถบรรพตซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาเช่นเดียวกับเขากบ
อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ตั้งข้อสังเกตว่าเมืองพระบางในสมัยอยุธยาน่าจะมีการสร้างขึ้นอีกแห่งหนึ่งบริเวณด้านนี้
เพราะเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมกับการรับศึกสงครามที่มาจากทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก
ด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมาจากทางหน้าเขากบผ่านมาทางทิศเหนือของวัดจอมคีรีฯก่อนจะเลี้ยวลงไปทางทิศใต้กลายเป็นปราการด้านทิศตะวันตกไปโดยปริยาย
ผมมีโอกาสขึ้นไปที่วัดจอมคีรีฯเมื่อหลายปีก่อน
ด้านบนมีวิหารโถงประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วลักษณะเดียวกับพระประธานในวิหารวัดพิชัยปุณาราม
และวัดไลย์ สันนิษฐานว่าควรสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ด้านหลังพระพุทธรูปดังกล่าวยังพบรอยพระพุทธบาทองค์หนึ่งแต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีอายุร่วมสมัยกันหรือไม่
พวกเราชมทิวทัศน์เมืองนครสวรรค์จากด้านบนนี้ขณะที่พระอาทิตย์กำลังอ่อนแสงลงเรื่อย ๆ
มองเห็นบึงบอระเพ็ดเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ถัดจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านออกไปไกลจนสุดตา
บึงแห่งนี้เคยมีสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่กว้างใหญ่กว่านี้
หากแต่การเติบโตของชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมที่แผ่ขยายเติบโตขึ้น
ก็ต้องยอมรับว่ามีส่วนในการเบียดเบียนระบบนิเวศน์ของบึงน้ำแห่งนี้
หากไม่มีการควบคุมไม่ใช้ถนนหนทางไปจนถึงชุมและพื้นที่การเกษตร
ไปขวางกั้นการถ่ายเทเข้าออกของน้ำในบึงก็จะยิ่งทำให้บึงน้ำแห่งนี้ค่อย ๆ เกิดความเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสภาพลงไปในที่สุด
รอยพระพุทธบาทบนยอดเขากบ ซึ่งในศิลาจารึกนครชุมเรียกว่า
“พระบาทลักษณะ ณ ที่ปากยมพระบาง” |
เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม
๒๕๖๑
พวกเรานัดเจอกันที่ล็อบบี้ตอนตีห้าตรงเพื่อเตรียมเดินทางขึ้นเขาหน่อแต่เช้าตรู่ ก่อนที่ฟ้าจะสว่างพวกเราผ่านเขาแก้วที่ปรากฏทะมึนอยู่เบื้องหน้าเรา
ยอดเขายอดหนึ่งของเขาหน่อมีดวงไฟสีขาวสว่างเป็นจุดสังเกตเล็ก ๆ ให้เห็นว่านั่นคือจุดหมายของเราในวันนี้
ไปแวะทานกาแฟกันที่สลกบาตรแต่เกิดเหตุขัดข้องนิดหน่อยทำให้การเดินทางล่าช้า
นั่นก็คือรถสตาร์ทไม่ติดเนื่องด้วยแบตเตอรี่รถยนต์ โชคดีที่มีคนแถวนั้นขับรถมาร้านสะดวกซื้อและขับกลับไปเอาสายพ่วงที่บ้านและมาช่วยเหลือเราได้ในเวลาไม่นานนัก
เป็นสิ่งดีๆที่ทำให้เราได้พบเห็นน้ำใจของคนอื่นในเช้าวันนี้
เพื่อความปลอดภัยพวกเราจึงตัดสินใจขับรถไปเปลี่ยนแบตเตอรี้กันก่อนที่ตัวอำเภอสลกบาตร
เมื่อจัดการกับเรื่องรถเสร็จสรรพพวกเราก็ย้อนกลับมาที่เขาหน่อ เขาแก้วกันตอนราวๆ
๗.๓๐ น.
ความงามของเขาหน่อและเขาแก้วที่ทอดตัวโดดเด่นอยู่ริมถนนสายนครสวรรค์
- ตาก สร้างความสนใจใคร่รู้ให้กับผู้คนที่เดินทางผ่านไปมายาวนาน
เช่นเดียวกับคนสมัยโบราณที่ใช้แม่น้ำปิงในการเดินทางขึ้นล่องกันมานับพันปี
ภูเขาสูงสองลูกนี้ทอดตัวยาวต่อกันดุจกำแพงที่ทะงันตระหง่าน พวกเราผ่านเข้าไปยังช่องที่แบ่งระหว่างเขาสองลูกนี้ออกจากกันเปรียบเสมือนประตูที่นำเราเข้าไปสู่อีกด้าน
ทันทีที่ข้ามเข้ามาเราก็พบกับลิงจำนวนมากที่มาเล่นกันเกลื่อนกลาดถนน
ทำให้เราต้องไปกันด้วยความระมัดระวังจนถึงวัดเขาหน่อที่ปลายเขาด้านทิศเหนือ ทางวัดจัดพื้นที่เป็นลานจอดรถที่มีกำแพงที่ปิดล้อมด้วยตาข่ายและแผ่นเหล็กต่อกันไปจนสูงเพื่อไม่ให้ลิงปีนเข้าไปได้
มีคุณอาท่านหนึ่งเป็นอาสานำทางพวกเราขึ้นไปบนภูเขา ซึ่งมีความสูงเหนือพื้นดินขึ้นไปราว
๒๘๐ เมตร จากตรงนี้เราเห็นยอดเขาที่สูงที่มีสันฐานคล้ายกับอาคารทรงศิขระของอินเดียที่บนนั้นผมเห็นมีแถวระฆังแขวนอยู่ลิบ ๆ
และมันจะเป็นจุดหมายของการเดินขึ้นไปของเรานั่นเอง
ทางขึ้นเขาอยู่ด้านหลังโรงเรียนเก่าซึ่งต้องเลิกไปเพราะลิงที่มีจำนวนมากจนมารบกวนการเรียนการสอน
ลานด้านหน้าทางขึ้นเกลื่อนไปด้วยแตงโมที่ถูกนำมาเลี้ยงลิงผู้หิวโหย ทางเดินคอนกรีตพาเราเลาะไปทางทิศใต้ในช่วงเริ่มต้นสั้นๆก่อนจะเห็นบันไดทอดยาวตรงดิ่งขึ้นไปด้านบนกว่า
๖๐๐ ขั้นโดยมียอดภูผาหินตระหง่านอยู่เป็นฉากหลัง ทางขึ้นที่เป็นบันไดคอนกรีตมีราวทำด้วยเหล็กให้เรายึดประคองขึ้นไปตลอดทาง
มีที่นั่งพักเป็นระยะท่ามกลางแสดงแดดอ่อน ๆ
ฟ้าสีสันสดใสเรามองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างผ่านแมกไม้ที่อวดกิ่งก้านสวยงาม
มีดอกงิ้วและดอกไม้อื่น ๆ ประดับประดาภูเขาให้เราได้ชื่นชมไปเป็นระยะ
พวกเราพยายามเดินตามกันขึ้นไปช้าๆแบบไม่เร่งรีบและในที่สุดก็ขึ้นมาถึงชั้นที่จะต้องไต่บันไดเหล็ก
บันไดเหล็กนั้นค่อนข้างดีเพราะทำแผ่นสำหรับกันลื่นเอาไว้ให้ด้วย
และมีราวให้จับไปตลอดทำให้การไต่ขึ้นไปของเราไปเป็นด้วยความมั่นใจขึ้น
ในจังหวะที่ปีนนั้นทำให้ผมนึกถึงจิตรกรรมและภาพปูนปั้นเรื่องพระพุทธบาทบนยอดสุมนกูฏขึ้นมาอย่างจับใจ
มองเห็นภาพของแรงศรัทธาของผู้คนที่จะขึ้นไปสักการะพุทธเจดีย์สถานเพื่อประโลมจิตใจ
เพื่อฟื้นฟูศรัทธา เพื่อบุญกุศลเจตนา
บันไดเหล็กมีจุดหักเหและทำให้เราพักเป็นช่วง ๆ
และในที่สุดผมก็ผ่านช่วงที่ดูโหดที่สุดและอันตรายที่สุดมาได้
ผมแวะเข้าไปดูถ้ำทะลุที่สามารถใช้เป็นที่พักหลบฝนได้สำหรับคนที่ขึ้นมาแล้วเจอสถาพอากาศที่ไม่ดี
แต่นึกๆไปหากเจอฝนบันไดเหล็กคงลื่นและเสี่ยงอันตรายมากกว่านี้
บนยอดหินผาเหนือถ้ำนี้เป็นจุดถ่ายรูปที่งดงามเพราะมองเห็นเขาแก้วทอดตัวยาวออกไปทางทิศใต้
กลุ่มสาว ๆ ที่ขึ้นมาพร้อมกันด้วยความเหนื่อยอ่อนนั้น
ต่างสลัดความเหนื่อยอ่อนและตื่นตาตื่นใจกับวิวทิวทัศน์ที่เห็นบนนี้
ผมเดินผ่านจุดนี้ขึ้นไปบนยอดบนสุด
พลันก็ได้พบกับมณฑปก่ออิฐถือปูนขนาดย่อมตั้งอยู่บนลานทางทิศใต้ พี่เอฟและพี่ตั๊วพูดคุยกันด้วยความตื่นเต้นถึงความชัดเจนของหลักฐานชิ้นนี้
ที่นี่มีพี่ชายสองคนขึ้นมาทำงานถอดพิมพ์รอยพระพุทธบาทเพื่อนำไปประดิษฐานที่วัดในชายแดนภาคใต้
ต่างก็เข้ามาพูดคุยและขอคำอธิบายจากอาจารย์ทั้งสอง
พี่ที่ขึ้นมาทำงานนั้นได้อาศัยกินนอนอยู่บนยอดเขานี้มากว่าสองวันแล้ว
ซึ่งเป็นที่น่านับถือในความอุตสาหะด้วยอย่างหนึ่ง
จากพื้นที่ลานด้านล่างจะเห็นยอกเขาคือยอดที่สูงที่สุดตรงกึ่งกลางภาพนั้น |
ยอดเขาหน่อ ที่ตั้งของสักการะสถานอันศักดิ์สิทธิ์ |
ภาพจากระหว่างทางเดินมองลงไปยังวัดเขาหน่อที่เราเดินจากมา |
พี่จิ๊บถ่ายภาพให้ตอนไต่บันไดเหล็กตามขึ้นไปด้านบน |
ผมสังเกตดูยอดเขาด้านบนนี้ซึ่งมีอาณาบริเวณเป็นลานที่ถูกปรับขึ้นด้วยการล้อมเขื่อนด้วยก้อนหินผาเฉกเช่นเดียวกับที่วัดพระพุทธบาทของเมืองเวสาลี
หรือแม้กระทั่งวัดบนเขาใหญ่ที่เมืองศรีสัชชนาลัย มื่อปรับพื้นดินเป็นลานขนาดประมาณ
๕ – ๖ เมตรในแนวเหนือ – ใต้ และประมาณ ๔ เมตร ในแนวตะวันออก – ตะวันตก แล้วก็ทำการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บนยอดสุดนี้มีพระเจดีย์องค์หนึ่งเป็นประธานทางทิศตะวันออกก่อศิลาแลงเป็นช่องซุ้มจระนำ
ด้านในเห็นแกนเป็นก้อนหินซึ่งควรจะเป็นยอดสูงสุดของเขาลูกนี้
เสียดายที่เจดีย์นี้ถูกทำลายลงย่อยยับแต่ก็พอจะจับได้ว่ามีฐานเป็นทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงล้อมแท่งหินผา
พบเศษภาชนะเล็กน้อยเป็นเศษลายเครื่องเคลือบเบญจรงค์ชิ้นหนึ่งเป็นเครื่องถ้วยจีน (หมิงสี) อีกชิ้นหนึ่งเป็นเครื่องเบญจรงค์ต้นรัตนโกสินทร์
ต่อเนื่องกับพระเจดีย์ไปทางทิศใต้เป็นพระมณฑปขนาดย่อมประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่แกะสลักจากหินชนวน
ลักษณะเป็นพระมณฑปก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามความยาวของรอยพระพุทธบาท
มีช่องกุฏิให้แทรกตัวเข้าไปนมัสการรอยพระพุทธบาทได้สามด้าน เว้นทางด้านทิศเหนือที่ติดกับพระเจดีย์ที่ทำเป็นช่องทะลุแบบย่อมุมไม้สิบสองให้แสงผ่านเข้ามา
เป็นการก่อช่องเปิดแบบเหลือมอิฐซ้อนทับกัน
ด้านในมองเห็นฝ้าเพดานทำด้วยไม้พาดรับน้ำหนักโครงของเครื่องก่อที่เป็ยยอดมีไส้เป็นศิลาแลง
ยอดของอาคารนั้นก่อเป็นชั้นลดประดับด้วยบันแถลงและกลีบขนุน
เป็นการประยุกต์หลังคามณฑปแบบหลังคาลาดเป็นชั้นลดที่เอาเครื่องของพระปรางค์มาใช้
ด้านบนเป็นปลียอดดอกบัวตูม
ลายปูนปั้นนั้นเป็นการปั้นโดยสังเขปไม่ประณีตมากคงเป็นเพราะข้อจำกัดของที่ตั้งที่อยู่สูงมากเกินกว่าที่จะทำงานได้สบายนัก
ที่ช่องกุฏิทางทิศใต้หลงเหลือลายปูนปั้นประดับเป็นลายกระหนกเลข ๑ ไทย มีครีบประดับ
และลายดอกไม้สี่กลีบสองดอกขนาบที่ด้านข้างช่องเปิดนี้
ช่องเปิดด้านทิศใต้อยู่ที่สุดแนวเขื่อนที่ปรับยอดเขานี้ขึ้นเป็นลาน ทำให้มองเห็นรอยพระพุทธบาทจากส้นพระบาทขึ้นไปยังนิ้วพระบาท
ที่ส้นนี้มีการแกะสลักให้เหลื่อมกันทำนองว่าเป็นพระพุทธบาทสี่รอยของพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นแล้วในภัทรกัลป์
กราบนมัสการพระบาทลักษณะ |
ลวดลายบนรอยพระพุทธบาท
อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑
เทียบกับรอยพระพุทธบาทที่วัดเชิงคีรีที่มีจารึกระบุปีพุทธศักราช ๒๐๕๓
สอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
คุณอาที่นำทางพวกเราขึ้นมาเอาพวงมาลัยดอกไม้ที่เขาช่วยผมถือมาให้
เป็นพวงมาลัยที่ผมเรียกซื้อตอนติดไฟแดงในเมืองนครสวรรค์เมื่อตอนเช้ามืด
เขาพาผมไปจุดธูปบูชารอยพระพุทธบาทซึ่งมีบทบาลีพร้อมคำแปลบนป้ายไว้ให้สวดตาม
ผมนมัสการพระบาทแล้วก็ถ่ายรูปบริเวณรอบๆอย่างสนุกสนาน
พี่ที่ขึ้นไปทำงานก่อนหน้าก็มาช่วยจัดสถานที่ให้อย่างเต็มจนผมรู้สึกผิดที่ก่อนลงมาลืมกลับไปช่วยเขาเก็บของกลับ
ทั้งยังแบ่งแตงโมให้พวกผมรับประทาน ที่บนนี้มีดอกลั่นทมชูช่อออกดอกเบ่งบานเป็นพุทธบูชา
ดอกงิ้วบนยอดเขาถัดไปออกดอกสีแดงเพลิงเบ่งบาน ถนนด้านล่างมีต้นราชพฤกษ์ กัลปพฤกษ์
เหลืองปรีดียาธร ออกดอกเต็มต้นอยู่ไกล ๆ
ที่นาบางผืนแห้งเป็นสีเหลืองสลับกับเขียวไล่สีสันกันไปสลับกับทิวไม้ดูสวยงามรายล้อมเรา
ลมเย็นที่พักโชยอยู่ตลอดพัดพาความร้อนแรงของแสงแดดให้ทุเลาลงไปมาก
ยอดเขานี้ทำหน้าที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญให้กับนักเดินทางในสมัยโบราณและยังคงเป็นที่สะดุดตาให้กับคนที่เดินทางผ่านไปมาในปัจจุบัน
ซึ่งในอดีตก็อาจจะมีการกัลปนาผู้คนให้ดูแลตามไฟในคืนเพ็ญหรือทุก ๆ คืนก็เป็นได้ พระเจดีย์และมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมีหน้าที่เป็นจุดหมายตาที่มีความหมายต่อใจให้กับนักเดินทาง
จากหนังสือ
เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย ของรศ. ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวถึงเขาหน่อเอาไว้ว่า ...วัดเขาหน่อ
อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์
เป็นบริเวณที่มีโคกเนินและวัดเก่าอยู่ทางด้านตะวันออกของภูเขา
แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณ แต่ไม่มีแนวคูน้ำคันดินล้อมรอบ
พบซากฐานวิหารและสถูปที่ก่อด้วยศิลาแลง
พบพระพุทธรูปที่ทำโกลนด้วยศิลาแลงแล้วพอกปูน ลักษณะเป็นแบบพระพุทธรูปที่พบในเขตเมืองกำแพงเพชร
ตามพื้นพบเศษภาชนะดินเผาแบบธรรมดา แบบเผาแกร่ง
และแบบเคลือบของสุโขทัยและจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง
บนยอดเขาหน่อมีรอยพระพุทธบาทและบริเวณรอบๆเขาหน่อนี้
เคยมีผู้พบพระสถูปสมัยทวารวดีและพระพิมพ์..
พวกเราทยอยลงจากภูเขาตอนเวลา
๙.๓๐ น . แดดก็ร้อนขึ้นโดยลำดับ
ราวเหล็กตอนขาลงเริ่มร้อนเพราะดูดความร้อนจากแสงแดดที่แผดแรงขึ้นมา
ขาลงของพวกเราค่อนข้างลำบากเพราะบันไดที่ทอดดิ่งลงด้านล่างกว่า ๖๐๐ ขั้น
สร้างความร้าวระบมให้กับขาที่รับน้ำหนักต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ดีพวกเราต่างก็กลับลงมาโดยสวัสดิภาพ
คุณจอมที่เป็นคนกลัวความสูงก็ยังรู้สึกสุขใจกับการได้ขึ้นไปนมัสการพระบาทบนยอดเขานั้นในครั้งนี้
คุณอาพาเราไปดูถ้ำพระนอนซึ่งอยู่บนเขาลูกย่อม ๆ หลังวัด
ถ้ำพระนอนนี้เป็นที่พบพระพุทธรูปปางไสยาสน์แกะสลักด้วยไม้ที่ปัจจุบันถูกนำไปเก็บรักษาเอาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ภายในถ้ำมีพระนอนขนาดใหญ่คาดว่าคงเป็นพระพุทธรูปโบราณแต่ถูกปรับแต่งซ่อมแซมแล้ว
ด้านหลังพระนอนเป็นโพรงถ้ำเข้าไปอีกแต่มืดมาก
ข้าง ๆ พระนอนมีพระพุทธรูปโบราณอีกหลายองค์แต่ก็ถูกซ่อมแซมแล้ว
มีพระพุทธรูปยืนที่ถูกซ่อมแต่งด้วยศิลปะอยุธยาตอนปลาย
มีพระพุทธรูปนั่งแกะด้วยหินทรายศิลปะอยุธยาตอนกลาง
มีเศียรพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลายถูกนำมาต่อไว้กับพระยืนองค์หนึ่ง
พี่ตั๊วร้องเรียกให้ผมไปดูผนังอิฐเก่าแผ่นหนึ่งมีลวดลายปูนปั้นชำรุดตั้งอยู่ริมปากถ้ำทางทิศเหนือ
ผมปีนป่ายเข้าไปดูก็พบว่าเป็นผนังอาคารที่ก่อประกอบกับตัวถ้ำ
บริเวณผนังดังกล่าวเป็นแผ่นหินใหญ่ซึ่งอาจเป็นสักการะสถานอีกแห่งหนึ่งมาก่อนเพราะมีการปั้นกลีบดอกบัวเป็นงานใหม่ล้อมแผ่นหินธรรมชาตินี้เอาไว้ด้วย
ลวดลายปูนปั้นที่เหลืออยู่นั้นมีลายเฟื่ง
ด้านหน้าเป็นรูปบุคคลยืนท่าหยั่งในมือถือดอกบัว ศีรษระถูกสกัดทำลายหายไป
ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่และเป็นสักการะสถานสำคัญมาตั้งแต่โบราณ
และน่าจะมีการกัลปนาข้าทาสไว้ดูแลวัดและรอยพระพุทธบาทที่บนยอดเขานั้นด้วย
ภาพพระมณฑปน้อยบนยอดเขาหน่อ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ถ่ายจากทางทิศใต้ ถัดไปทางด้านหลังจะเป็นพระเจดีย์ที่ถูกทำลายไปแล้ว |
รอยพระพุทธบาทแกะสลักด้วยหินชนวน |
จักรที่กลางพระบาท มุมซ้ายมือมีรูปพระจันทร์ ไล่มาทางด้านขวาเป็นตุง อาคารทรงต่างๆ ช้าง และสระทั้งหลาย แถวถัดมาเป็นพระอาทิตย์ (ไม่ปรากฏนกยูง) บัลลังก์ นาค ไล่ลงมามีจระเข้ พญาครุฑ เป็นต้น |
ที่ส้นพระบาทปรากฏรอยพระบาทที่กดทับลงไปซ้อนกัน แสดงถึงการอุบัติขึ้นแล้วของพระพุทธเจ้าทั้งสี่องค์ในภัทรกัลป์ |
ภาพพระมณฑปน้อยจากบริเวณด้านหน้าของพระเจดีย์ |
อาคารพระมณฑปจากด้านทิศตะวันออก |
คณะผู้มีศรัทธา |
คุณอาที่เป็นคนนำทางยังบอกอีกว่าบนยอดเขาเหนือถ้ำแห่งนี้มีฐานเจดีย์เก่า
แต่อย่างไรก็ดีสภาพอากาศและเหนื่อยล้าพวกเราในตอนนี้ไม่พร้อมจะเดินขึ้นไปดูอีกแล้ว
จึงพากันกลับออกมาหลังจากขอบคุณคุณอาที่นำทางและทำบุญกับทางวัดเรียบร้อย
ในอนาคตทางวัดจะมีการปรับปรุงลานบนยอดเขาหน่อใหม่เพื่อให้สะดวกกับคนที่ขึ้นไปไหว้รอยพระพุทธบาท
โดยมีโครงการจะปรับปรุงพื้นลานและทำรั้วกันตก
ผมก็ได้แต่หวังในใจว่าการปรับปรุงครั้งนี้จะไม่กระทบกับภูมิทัศน์ที่สวยงาม
และทำได้อย่างเรียบง่ายสวยงาม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือตัวพระมณฑปที่ทรุดโทรมลงทุกวัน
ถึงแม้รอยพระพุทธบาทจะปลอดภัยจากการขึ้นไปแตะต้องให้บอบช้ำมานานปี
แม้พระมณฑปจะคุ้มกันลมฝนให้พระพุทธบาทไม่สึกกร่อนไป แต่วันหนึ่งหากพระมณฑปถล่มลงมาทับก็จะสร้างความเสียหายใหญ่ได้
ตลอดทางที่เดินไปผมเห็นคนมือบอนเขียนข้อความฝากเอาไว้ตามราวบันได ก้อนหิน ต้นไม้
และที่น่าเสียใจคือการไปขีดเขียนในพระมณฑปซึ่งคงจะต้องมุดเข้าไปเหยียบบนรอยพระพุทธบาทด้วย
ย้อนกลับไปนึกถึงรอยพระพุทธบาทบนเขากบก็น่าสังเวชใจ
ที่เสียหายจากรอยขีดข่วนเขียนเป็นข้อความของคนที่ไม่รู้คุณค่าอย่างสนุกมือ
ผมฝันว่าเมืองไทยจะมีปูชนียสถานเก่าแก่ที่ภูมิฐานและดูเรียบง่าย
ที่แม้จะมีการซ่อมแซมหรือปรับปรุงให้ใช้งานได้อยู่เสมอก็จะทำโดยที่คงความงามอย่างเดิมและกลมกลืนกับภูมิทัศน์ดั้งเดิมเอาไว้
รวมถึงกีดกันวัตถุแปลกปลอมออกไปอย่างแนบเนียน
เพราะนั่นคือจุดเด่นที่ทรนงองอาจในจุดยืนที่แสดงความเป็นตัวเอง และในขณะเดียวกันก็จะเติบโตต่อไปกับกระแสโลกใหม่ ๆ ด้วยความกลมกลืน
แสงแดดร้อนแรงในฤดูร้อนของเมืองไทยสร้างความเหนื่อยอ่อนให้กับนักเดินทางอย่างสาหัส
แต่ขณะเดียวกันสีสันในหน้าร้อนที่เกิดจากหมู่ไม้ดอกที่ประชันกันออกดอกอวดสีสันตัดกับท้องฟ้าสดใจ
ก็ดูไม่ต่างกับการกินอาหารอาหารเผ็ดร้อนที่เลิศรส
หรืออันตรายของภูผาที่สูงชันที่เราต้องผ่านขึ้นไปเพื่อไปชมความงามของความสำเร็จครั่งหนึ่งในชีวิต